สรุปเศรษฐกิจไทย ย้อนหลัง 35 ปี

สรุปเศรษฐกิจไทย ย้อนหลัง 35 ปี

สรุปเศรษฐกิจไทย ย้อนหลัง 35 ปี /โดย ลงทุนแมน
จริงๆ แล้ว ช่วงก่อนเกิด Covid-19 เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตที่ชะลอตัวอยู่แล้ว
ซึ่งแน่นอนว่า การระบาดของ Covid-19 ก็ทำให้เศรษฐกิจของเรายิ่งย่ำแย่ลงไปอีก
ตอนนี้สงคราม Covid-19 ในประเทศไทยดูเหมือนจะใกล้จบลง
แต่สงครามเศรษฐกิจที่เรากำลังเจอนั้นดูเหมือนจะไม่ยอมจบลงง่ายๆ
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
----------------------
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
----------------------
หนึ่งในจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตในอดีต เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1985
เมื่อสหรัฐอเมริกาที่ตอนนั้นขาดดุลการค้ามหาศาลต้องการลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก เช่น เงินเยนของญี่ปุ่นและเงินมาร์คของเยอรมนีตะวันตก ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นนำไปสู่การทำข้อตกลง Plaza Accord
แม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีส่วนกับเรื่องดังกล่าวโดยตรง แต่การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก
เนื่องจากช่วงเวลานั้น ประเทศไทยมีการตรึงค่าเงินบาทไว้กับตะกร้าเงินสกุลหลักของโลก 10 สกุล แต่กว่า 80% นั้นผูกไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ภาคการส่งออกของไทยนั้นได้รับอานิสงส์ไปด้วย
นอกจากนี้ การที่เงินเยนของญี่ปุ่นนั้นแข็งค่าขึ้นกว่าเท่าตัว ก็ได้กระทบกับภาคการส่งออกของประเทศอย่างหนัก
เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลและภาคเอกชนของญี่ปุ่น จำเป็นต้องมองหาฐานการผลิตที่มีศักยภาพเพื่อทำการส่งออก โดยเฉพาะในประเทศที่มีความพร้อมและต้นทุนค่าแรงไม่สูงมาก
ขณะที่ความไม่สงบเรียบร้อยเนื่องจากสงครามระหว่างเวียดนามและกัมพูชา ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่น และหลายประเทศ
เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้ามาประเทศไทย จนสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ทศวรรษแห่งการเติบโตของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development) สำหรับเป็นพื้นที่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยในระยะยาว
เรื่องนี้จึงทำให้ในช่วงระหว่างปี 1987-1996 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.3% โดยเฉพาะในปี 1988 ที่เคยขึ้นไปถึงระดับ 13.3%
เรื่องนี้จึงทำให้หลายคนถึงกับบอกว่า ไทยจะกลายเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย หรือประเทศที่เศรษฐกิจมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเหมือนอย่าง ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่ง 4 ประเทศหลังนี้ได้กลายมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน
แต่ภาพแบบนี้ที่หลายคนหวังจะให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยอีกครั้ง ดูเหมือนว่า เลือนรางไปเรื่อยๆ
เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ปี 2010-2014 GDP ประเทศไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.9%
ปี 2015-2019 GDP ประเทศไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.4%
ล่าสุดในไตรมาส 1 ปี 2020 เศรษฐกิจไทยติดลบไป 1.8% และค่อนข้างจะแน่นอนว่าไตรมาสที่ 2 ที่กำลังจะจบลงนั้น เศรษฐกิจไทยก็คงจะติดลบหนัก เพราะสูญเสียนักท่องเที่ยว และมีการเว้นระยะห่างทางสังคม
ปี 2019 ภาคการส่งออกมีมูลค่าถึง 7.6 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 45% ของมูลค่า GDP
รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมูลค่าถึง 1.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 11% ของ GDP
ซึ่งขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้ง 2 ภาคอุตสาหกรรมนี้ ยังขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทด้วย
ตอนนี้ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นมาอีกครั้ง จนทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลว่าจะกระทบกับรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวในอนาคต แม้สถานการณ์ Covid-19 ในประเทศไทยจะดูดีขึ้น
แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามเข้ามาดูแลป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งมากเกินไป ด้วยการขายเงินบาทและซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ
หลักฐานก็คือ ทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐที่เพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมปีนี้ แต่ดูเหมือนว่าค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็มีทั้งผลดีและผลเสีย
แต่สำหรับประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่มาก ดูเหมือนว่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมไม่น้อย
ช่วงที่ผ่านมา เรามักได้ยินข่าวหลายบริษัททยอยปิดกิจการ หลายบริษัทลดการลงทุน เนื่องจากไม่สามารถทนกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เราจึงเห็นจำนวนผู้ว่างงานในประเทศเพิ่มขึ้น
สิ้นไตรมาส 1/2019 มีจำนวนผู้ว่างงานในประเทศไทย 346,480 คน
สิ้นไตรมาส 1/2020 มีจำนวนผู้ว่างงานในประเทศไทย 391,770 คน
เมื่อรวมกับนักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปีละประมาณ 400,000 คน อาจทำให้จำนวนผู้ว่างงานนั้นเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ซึ่งข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า จำนวนโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการนั้นมีแนวโน้มลดลง
4 เดือนแรกของปี 2019 จำนวนโรงงาน 1,054 แห่ง
4 เดือนแรกของปี 2020 จำนวนโรงงาน 876 แห่ง
นอกจากนี้ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศซึ่งเป็นการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง ผ่านการนำเอาทรัพยากรการผลิต แรงงาน และเทคโนโลยี เข้าไปยังประเทศปลายทางซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในระยะยาวนั้น สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มชะลอตัวนับตั้งแต่ ปี 2018
ปี 2018 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเท่ากับ 426,749 ล้านบาท
ปี 2019 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเท่ากับ 196,350 ล้านบาท
โดยเฉพาะเงินลงทุนจากญี่ปุ่น ในปี 2019 ลดลงเหลือเพียง 79,264 ล้านบาท ต่ำกว่าระดับแสนล้านบาท เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2015
ดูเหมือนว่า แม้สถานการณ์ของ Covid-19 ของไทยจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่กำลังท้าทายเศรษฐกิจของประเทศ
เราจะทำอย่างไรให้ประเทศกลับไปเติบโต
เราจะทำอย่างไรให้ประเทศเราก้าวพ้นจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว
เพื่อทำให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ซึ่งคำถามพวกนี้
เป็นคำถามที่อยู่ในใจของคนไทยหลายคนมานาน
และก็น่าจะยังคงเป็นคำถามต่อไปในรุ่นลูกหลานของเรา..
----------------------
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.KD.ZG?locations=TH
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Thailand
-https://en.wikipedia.org/wiki/Map_Ta_Phut_Industrial_Estate
-https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10212&filename=QGDP_report
-http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=TradeBalanceMonthly&Lang=Th
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=80&language=TH
-https://www.diw.go.th/hawk/content.php?mode=spss63
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=653&language=th
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon