ปัญหาตอนนี้ ของภาคเกษตรกรรมไทย

ปัญหาตอนนี้ ของภาคเกษตรกรรมไทย

ปัญหาตอนนี้ ของภาคเกษตรกรรมไทย /โดย ลงทุนแมน
ตอนนี้หลายอุตสาหกรรมมีปัญหา จากโรคโควิด-19 ระบาด
แต่ภาคเกษตรกรรมของไทยก็กำลังเจอปัญหาไม่แพ้กัน
ตอนนี้ภาคเกษตกรรมต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานอยู่ที่ 38.2 ล้านคน
ซึ่งในจำนวนดังกล่าวนั้น เป็นแรงงานในภาคเกษตรมากถึง 13.5 ล้านคน
หรือ คิดเป็นถึง 35% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด
ปี 2010 ภาคเกษตรกรรมของไทยมีสัดส่วนประมาณ 7.3% ของ GDP ประเทศไทย
ปี 2019 ภาคเกษตรกรรมของไทยมีสัดส่วนประมาณ 5.7% ของ GDP ประเทศไทย
ดูแบบนี้ต้องบอกว่า ความสำคัญของภาคเกษตรกรรมไทยกำลังลดลง
ซึ่งเรื่องนี้หลายคนคงรู้มานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรกรรมยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งจากจำนวนประชากรที่ทำงานในส่วนนี้
รวมทั้งการที่ภาคเกษตรกรรมยังมีความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมของประเทศหลายอย่าง
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร
ปัจจุบัน สินค้าเกษตรที่ประเทศไทยเราปลูกกันมาก เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน
มองอีกมุมหมายความว่า เกษตรกรไทยมีการปลูกพืชที่กระจุกตัวไม่กี่ชนิด ทำให้เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ราคาจึงตกต่ำ
ขณะที่บางปีพอสินค้าเกษตรชนิดไหนมีราคาดี เกษตรกรจำนวนมากก็จะหันมาปลูกสินค้านั้น จึงทำให้ปีต่อมาราคาสินค้านั้นลดลง เกษตรกรจำนวนมากจึงขาดทุน วนเวียนกันไปอย่างนี้เสมอ
นอกจากนี้ การที่ภาคเกษตรกรรมต้องอาศัยภูมิอากาศและน้ำ จึงทำให้ภาคเกษตรกรรมของไทย มักได้รับผลกระทบเมื่อสภาพอากาศแปรปรวน เหมือนเช่นปัจจุบัน
และตอนนี้ประเทศไทยกำลังเจอวิกฤตภัยแล้ง ซึ่งรุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี
โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกนั้นจะต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1979 และมี 43 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก
จนทำให้ชาวไร่ ชาวนาหลายคนถูกขอร้องให้เลื่อนการเพาะปลูกพืชหรือสินค้าเกษตรออกไปก่อน แน่นอนว่าการเลื่อนการเพาะปลูกหมายถึงรายได้ของเกษตรกรที่ลดลง
ในปี 2018 ประเทศไทยมีจำนวนเนื้อที่ที่ถือครองเพื่อการเกษตร 149 ล้านไร่ โดยเนื้อที่ดังกล่าวเป็นของเกษตรกรเอง 72 ล้านไร่ หรือ 48% จากจำนวนทั้งหมด
พูดง่ายๆ ว่า กว่าครึ่งของเกษตรกรในประเทศไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ทำให้ต้องเช่าที่ดินทำกิน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกของเกษตรกรนั้นสูงขึ้นกว่าการมีที่ดินเป็นของตนเอง เพราะยังมีค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้เจ้าของที่ดิน
ที่สำคัญคือ เกษตรกรไทยนั้นมีรายได้กันค่อนข้างน้อย แต่กลับมีหนี้สินที่กู้ยืมมา
ในปี 2018 รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรต่อคนอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนนอกภาคเกษตรอยู่ที่เดือนละ 16,000 บาท
ขณะที่ปัจจุบัน หนิ้สินเฉลี่ยต่อหัวของคนไทยสูงถึง 195,000 บาท หมายความว่า สำหรับเกษตรกรนั้น พวกเขาต้องทำงาน 39 เดือนถึงจะมีรายได้มาจ่ายเท่ากับหนี้สินเฉลี่ยต่อหัวของคนไทย ซึ่งนี่ยังไม่รวมดอกเบี้ย
สำหรับสินค้าเกษตรกรรมที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพืชประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว มันสำปะหลัง หรือแม้แต่อ้อยที่นำไปผลิตเป็นน้ำตาล
ปัจจุบัน พื้นที่เพาะปลูกในประเทศไทยประมาณ 71 ล้านไร่ เป็นการใช้ปลูกข้าว หรือเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่สำหรับการถือครองเพื่อการทำเกษตร
การแก่ตัวลงของประชากรไทย ทำให้ภาคเกษตรกรรมของไทยอาจต้องมีการปรับตัว และหันไปปลูกพืชเน้นไปในการดูแลสุขภาพ เช่น พืชประเภทผักและผลไม้ มากขึ้น
เพราะเมื่อคนแก่ตัวลง จึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพ และหนึ่งในนั้นคือ ลดการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมความพร้อมให้แก่ภาคเกษตรกรรมของไทย
เพราะไม่เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
แต่เกษตรกรไทยกลับยังเจอ ปัญหาเดิมซ้ำๆ เหมือนหลายสิบปีที่แล้ว..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
-https://www.bot.or.th
-https://thethaiger.com/hot-news/weather/worst-drought-in-40-years-means-tough-times-for-thais
-https://www.pier.or.th
-https://businesstoday.co
-https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649476
-http://statbbi.nso.go.th
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon