อียิปต์ ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย

อียิปต์ ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย

อียิปต์ ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย / โดย ลงทุนแมน
ดินแดนแห่งนี้คืออู่อารยธรรมที่สำคัญของโลก
อารยธรรมกว่า 5,000 ปีทำให้อียิปต์เต็มไปด้วยโบราณสถาน
และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์นับไม่ถ้วน
เมื่อ 60 ปีที่แล้ว คนอียิปต์มีรายได้ต่อหัวมากกว่าคนไทย 1.5 เท่า
ปี 1960 คนอียิปต์ มีรายได้ต่อหัวต่อปี 3,160 บาท
ในขณะที่คนไทยมีรายได้ต่อหัวต่อปีเพียง 2,140 บาท
นอกจากการท่องเที่ยว
ภาคการขนส่งก็เป็นส่วนสำคัญที่สร้างรายได้ให้ประเทศนี้ถึงปีละ 180,000 ล้านบาท
ด้วยทำเลที่ตั้งของอียิปต์ ที่เป็นจุดเชื่อมระหว่าง 3 ทวีป
คือยุโรป เอเชีย และแอฟริกา
จึงเป็นที่ตั้งของ “คลองสุเอซ” ที่ช่วยลัดเส้นทางเดินเรือระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย
อียิปต์ยังมีแหล่งทรัพยากรสำคัญ คือ “น้ำมันดิบ”
บริเวณอ่าวสุเอซ และคาบสมุทรไซนายทางตะวันออกของประเทศ
ดูเหมือนว่า ประเทศนี้จะมีทุกอย่างที่ช่วยส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
ทั้งทรัพยากร และภาคบริการ
แต่เศรษฐกิจของอียิปต์กลับไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร
จนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าคนไทยถึง 3 เท่า
ปี 2018 คนไทยมีรายได้ต่อหัวต่อปี 216,900 บาท
ส่วนคนอียิปต์มีรายได้ต่อหัวต่อปีเพียง 77,650 บาท
เกิดอะไรขึ้นกับอู่อารยธรรมของโลกแห่งนี้..
ยินดีต้อนรับเข้าสู่ ซีรีส์บทความ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย ตอน อียิปต์
┏━━━━━━━━━━━━┓
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
┗━━━━━━━━━━━━┛
คำตอบสำหรับคำถามนี้ อาจประกอบไปด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน
ประการแรก คือเหตุผลที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด ก็คือ จำนวนประชากร
ในปี 1960 ไทยมีประชากร 27.4 ล้านคน พอๆ กับประชากรอียิปต์ที่มีอยู่ 27 ล้านคน
แต่เมื่อถึงปี 2018 ไทยมีประชากร 69 ล้านคน
ในขณะที่ประชากรอียิปต์พุ่งสูงถึง 98 ล้านคน
แม้อียิปต์จะมีพื้นที่กว่า 1,010,000 ตารางกิโลเมตร
แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ 96% คือทะเลทรายอันแห้งแล้ง
พื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำการเกษตร มีเพียง 38,000 ตารางกิโลเมตร
อยู่บริเวณริม 2 ฝั่งแม่น้ำ และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์
ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ
ผลผลิตจากการเพาะปลูกภายในประเทศไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูประชากร..
อียิปต์จำเป็นต้องนำเข้าอาหารหลักโดยเฉพาะข้าวสาลีจากต่างประเทศ
คิดเป็นมูลค่าถึง 80,000 ล้านบาท ในปี ค.ศ. 2017
ยังไม่รวมสินค้านำเข้าประเภทอื่นๆ ทั้งอาหาร สินค้าอุตสาหกรรม ยา และยานยนต์
แม้อียิปต์จะมีแหล่งน้ำมันดิบ ซึ่งสามารถผลิตได้วันละ 666,000 บาร์เรลต่อวัน
แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มาก ชาวอียิปต์บริโภคน้ำมันถึงวันละ 800,000 บาร์เรล
จนกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานในที่สุด
ประการที่ 2 การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ หรือ Fixed Exchange Rate
เมื่อมีสินค้านำเข้ามาก
แต่ภาคการส่งออกของอียิปต์กลับไม่แข็งแกร่งเท่าที่ควร โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 - ค.ศ. 1989 เป็นช่วงที่รัฐบาลอียิปต์ได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่
ค่าเงินถูกตรึงไว้ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 0.4 ปอนด์อียิปต์
การที่ค่าเงินถูกตรึงให้คงที่เป็นระยะเวลานาน ทำให้มีค่าสูงกว่าความเป็นจริง
ส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกกว่าความเป็นจริง
ในขณะที่ภาคการส่งออกกลับดูแพงในสายตาต่างประเทศ
เมื่อผู้ส่งออกขาดความสามารถในการแข่งขันเรื่องค่าเงิน
ประกอบกับรัฐบาลมุ่งเน้นแต่การแปรรูปกิจการเอกชนให้เป็นรัฐวิสาหกิจ
และไม่สนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน
อียิปต์จึงขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นระยะเวลาติดต่อกันกว่า 58 ปี
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 จนถึงปี ค.ศ. 2018
ธนาคารกลางพยายามควบคุมค่าเงินปอนด์อียิปต์ให้คงที่
โดยทำการปรับอัตราแลกเปลี่ยนหลายครั้ง
จนทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างหนัก
ท้ายที่สุด รัฐบาลก็ต้องไปขอกู้เงินจาก IMF ในปี 2016
แต่ IMF ไม่ให้กู้ง่ายๆ IMF ย่อมต้องอยากได้เงินต้นคืน ซึ่งต้องมีเงื่อนไขให้รัฐบาลที่กู้ปฏิบัติตาม
ดังนั้น รัฐบาลอียิปต์จึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจ
คือการควบคุมค่าใช้จ่าย และปล่อยให้ค่าเงินลอยตัวเพื่อสะท้อนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
จากเดือนตุลาคมปี 2016 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 8.8 ปอนด์อียิปต์
เดือนพฤศจิกายนปี 2016 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 18.4 ปอนด์อียิปต์
การทำให้ค่าเงินลอยตัวในตอนนั้น ทำให้ค่าเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่าลงทันที
ด้วยความที่อียิปต์เป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าเป็นหลัก
เมื่อค่าเงินอ่อนลง สินค้าจึงมีราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ “ภาวะเงินเฟ้อ”
อัตราเงินเฟ้อปี 2016 อยู่ที่ระดับ 10.2%
อัตราเงินเฟ้อปี 2017 อยู่ที่ระดับ 23.5%
อัตราเงินเฟ้อทำให้ประชาชนระดับล่างประสบความลำบากมาก
มีผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนถึง 32.5% ของประชากรทั้งประเทศ
ประการที่ 3 ทำเลที่ตั้ง
อียิปต์ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ระหว่าง 3 ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา
แม้จะเป็นผลดีต่อภาคการขนส่ง
แต่กลับทำให้อียิปต์ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอล กับชาติอาหรับ
ประชากรส่วนใหญ่ของอียิปต์มีเชื้อสายอาหรับ
และอียิปต์เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มสันนิบาตอาหรับ หรือ Arab League
ซึ่งมีสมาชิก 22 ประเทศ
ด้วยปัญหาความขัดแย้งในเรื่องพรมแดนกับอิสราเอล
อียิปต์จึงเป็นผู้นำชาติอาหรับในการทำสงครามกับอิสราเอล ทำให้ต้องนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาลในช่วงสงคราม
ในช่วงปี ค.ศ. 1968 - ค.ศ. 1978 ซึ่งความขัดแย้งปะทุหนัก
งบประมาณการทหารของอียิปต์ มีสัดส่วนมากกว่า 10% ของ GDP
โดยในปี 1974 ช่วงหลังสงครามยมคิปปูร์ งบประมาณการทหารของอียิปต์มีสัดส่วนถึง 16.7% ของ GDP
ถึงแม้สงครามจะจบลงด้วยการเจรจาสันติภาพในปี ค.ศ. 1978
แต่รายจ่ายเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลอียิปต์ขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก
หนี้สาธารณะของประเทศจึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา
เมื่อรวมกับการที่ต้องกู้เงินจาก IMF เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินปอนด์อียิปต์
หนี้สาธารณะของอียิปต์จึงค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นจนมีระดับ 90% ของ GDP ในปี ค.ศ. 2017
นอกจากในเรื่องความขัดแย้ง ทำเลที่ตั้งยังทำให้อียิปต์ต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อาหรับสปริง
ซึ่งเป็นการเดินขบวนประท้วงในโลกอาหรับ เพื่อโค่นล้มอำนาจของผู้นำเผด็จการ
อาหรับสปริงมีจุดเริ่มต้นในประเทศตูนิเซีย ซึ่งเป็นประเทศในแอฟริกาเหนือ
ไล่มาจนถึงการปฏิวัติอียิปต์ในปี 2011
การปฏิวัติอียิปต์โค่นล้มอำนาจของ ฮุสนี มุบาร็อก
ให้ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีที่ครองมายาวนานเกือบ 30 ปี
ความวุ่นวายจากการประท้วงและการปฏิวัติ
ทำให้การท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญกว่า 16.7% ของ GDP อียิปต์ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนอียิปต์ มีจำนวน 14.7 ล้านคน ในปี 2010 ก่อนการปฏิวัติ สร้างรายได้ให้อียิปต์ 375,000 ล้านบาท
ก่อนที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงกว่า 37 % ในปีถัดมา
ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ไม่เคยกลับไปถึงจุดสูงสุดอีกเลย จนถึงปี 2018..
การท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศติดลบอย่างหนัก
พ่วงด้วยการขาดดุลการค้า หนี้สาธารณะที่สูง
และเสถียรภาพของค่าเงินปอนด์อียิปต์ที่ย่ำแย่
ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้การพัฒนาประเทศของอียิปต์ประสบปัญหา
จนกลายเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าไทยถึง 3 เท่าในท้ายที่สุด..
ไม่ไกลจากอียิปต์
เหตุการณ์อาหรับสปริงส่งผลกระทบต่ออีกประเทศหนึ่งเช่นเดียวกัน
แต่ผลที่ประเทศนั้นได้รับ รุนแรงและโหดร้ายกว่าอียิปต์หลายเท่า
ทำให้ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยรวยกว่าไทย 2 เท่า ต้องอยู่ในสถานะรัฐล้มเหลวในปัจจุบัน
ประเทศนั้นคือ “สาธารณรัฐอาหรับซีเรีย”..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon