TESCO กำลังพิจารณาขายกิจการ ในประเทศไทย

TESCO กำลังพิจารณาขายกิจการ ในประเทศไทย

TESCO กำลังพิจารณาขายกิจการ ในประเทศไทย / โดย ลงทุนแมน
ข่าวใหญ่ของวันนี้ ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงจะเป็นดีลประวัติศาสตร์ที่มีมูลค่ามากสุดดีลหนึ่งของประเทศไทย เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมามีข่าวจากทางสำนักข่าวต่างประเทศว่า TESCO เจ้าของห้างเทสโก้ โลตัส กำลังพิจารณาขายกิจการในประเทศไทย
เรื่องนี้จะน่าสนใจมากๆ อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
┏━━━━━━━━━━━━┓
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
Blockdit.com/download
┗━━━━━━━━━━━━┛
ในข่าวบอกว่า TESCO บริษัทค้าปลีกจากสหราชอาณาจักร กำลังทบทวนกลยุทธ์ของบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจในประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะขายกิจการใน 2 ประเทศนี้
อย่างไรก็ตามบริษัท ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของแผนการขาย และยังไม่มีการทำธุรกรรมใดๆ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะ เทสโก้ โลตัส ถือเป็นแบรนด์ค้าปลีกอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
เรามาดูรายได้ ปี 2561 ของบริษัทค้าปลีกไทยทั้งหมด
- ซีพีออลล์ เจ้าของ 7-11 (ซีพีเอฟ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่)
รายได้ 335,533 ล้านบาท
กำไร 19,944 ล้านบาท
- เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม เจ้าของ เทสโก้ โลตัส (TESCO อังกฤษ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่)
รายได้ 198,316 ล้านบาท
กำไร 9,628 ล้านบาท
- สยามแม็คโคร (ซีพีออล์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แม็คโคร)
รายได้ 192,930 ล้านบาท
กำไร 5,942 ล้านบาท
- บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BJC ของไทยเบฟ เป็นเจ้าของบิ๊กซี)
รายได้ 126,408 ล้านบาท
กำไร 6,375 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า เทสโก้ โลตัส เป็นแบรนด์ค้าปลีกที่มีรายได้อันดับ 2 เป็นรองแค่ 7-11 ซึ่งในวงการค้าปลีก ผู้ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมาก จะมีความได้เปรียบเรื่อง Economies of Scale
และถ้า TESCO ขายกิจการในเอเชีย จะถือเป็นการเลิกทำธุรกิจในเอเชียทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้ TESCO ได้ขายกิจการในเกาหลีใต้มาแล้วในราคา 4 พันล้านปอนด์ หรือราว 160,000 ล้านบาท และหลังจากขาย TESCO จะคงเหลือการดำเนินงานในสหราชอาณาจักร และในยุโรปบางประเทศเท่านั้น
ปัจจุบัน TESCO มีสาขาในประเทศไทย 1,967 สาขา และมาเลเซีย 74 สาขา
ซึ่งจะเห็นได้ว่ากิจการในเอเชียทั้งหมด ก็มีประเทศไทยนี่แหละที่ทำรายได้ให้กับ TESCO มากที่สุด
ซึ่งถ้าดูสัดส่วนของกำไรจากการดำเนินงาน ในรายงานประจำปีของ TESCO จะมาจาก
สหราชอาณาจักร 77%
เอเชีย 12%
ยุโรป 6%
และธุรกิจแบงก์ 6%
หมายความว่าธุรกิจ เทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยมีความสำคัญ และมีมูลค่าสำหรับ TESCO มากที่สุดรองจากกิจการในสหราชอาณาจักร
แล้วราคาขายกิจการควรเป็นเท่าไร?
เรื่องนี้คือไฮไลต์ของบทความนี้
จริงๆ แล้ว เทสโก้ โลตัส เดิมไม่ได้มีชื่อนี้
ในอดีต เครือซีพีเป็นผู้ก่อตั้งห้างนี้ชื่อ โลตัส
ก่อนจะขายกิจการออกไปให้ทางเทสโก้ และห้างนี้จึงเปลี่ยนชื่อเป็น เทสโก้ โลตัส
คุณธนินท์ให้สัมภาษณ์ทีไรก็รู้สึกเสียดายกับโลตัส
ที่ตอนนั้นจำเป็นต้องขายเพราะเนื่องจากปัญหาด้านสภาพคล่องในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
ถึงแม้ว่าในอนาคต คุณธนินท์รู้ว่ากิจการจะเติบโต แต่ก็ต้องยอมตัดแขนขาเพื่อรักษาชีวิต
ซึ่งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุด คุณธนินท์ยังตอกย้ำว่าอยากซื้อเทสโก้ โลตัสกลับคืนมา โดยคุณธนินท์พูดในงาน ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว เมื่อเร็วๆ นี้ว่า
“โลตัสนี่ถ้าเราจะซื้อกลับ ทางอังกฤษเขาบอกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ”
นั่นก็ตีความหมายได้ว่า ธุรกิจเทสโก้ โลตัสในไทยจะมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท
ด้วยมูลค่าเท่านี้จะเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าทั้งหมดของบริษัท TESCO ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศอังกฤษเลยทีเดียว
และถ้าประเมินจากกำไรของบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม เจ้าของ เทสโก้ โลตัส ที่ 9,628 ล้านบาท
จับหารกันแล้วก็ได้ P/E 31 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับบริษัท ซีพีออลล์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
แต่คำถามคือ ใครจะมีเงิน 300,000 ล้านบาท มาซื้อ?
ถ้าให้ไล่รายชื่อ บุคคล หรือ บริษัทในประเทศไทยทั้งหมดที่จะมีเงินสดมากพอมาซื้อกิจการมูลค่า 300,000 ล้านบาทได้ทันที คำตอบคือ ไม่มี..
ด้วยระดับดีลมูลค่า 300,000 ล้านบาท จะถือว่าเป็นดีลซื้อขายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
ทวนดีลประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา
ซีพีออลล์ ซื้อ แม็คโคร 180,000 ล้านบาท ด้วยเงินจำนวนนี้ ซีพีออล์ไม่มีเงินสด ต้องไปกู้เงินมาซื้อ
BJC ซื้อ บิ๊กซี 200,000 ล้านบาท ด้วยเงินจำนวนนี้ BJC ก็ต้องไปกู้มาซื้อเช่นกัน
ทำให้สถานะการเงินของทั้ง 2 บริษัทตอนนี้มีหนี้ระดับแสนล้านติดอยู่กับบริษัททั้ง ซีพีออลล์ และ BJC จึงบอกเลยว่าถ้าจะให้ 2 บริษัทกู้อีก 300,000 ล้านบาท เพื่อมาซื้อกิจการ เทสโก้ โลตัส แทบจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีการเพิ่มทุน..
แต่ด้วยความที่เป็นเสี่ยธนินท์ และ เสี่ยเจริญ คำว่าเป็นไปไม่ได้ น่าจะไม่อยู่ในพจนานุกรมของ 2 คนนี้
ถ้าพวกเขาอยากได้จริง พวกเขาก็คงจะหาช่องทาง หาพันธมิตร มาร่วมกันประมูลซื้อกิจการนี้
และเท่าที่คิดได้ตอนนี้ สำหรับผู้ที่มีเครดิตมากพอ พอที่กู้เงินในระดับนี้ได้ นอกจากเสี่ยธนินท์แห่งซีพี และ เสี่ยเจริญแห่งไทยเบฟ แล้ว ก็น่าจะเป็นอีก 3 ราย นั่นก็คือ
1.กลุ่มปตท.
2.กลุ่มคิงเพาเวอร์
3.กลุ่มเซ็นทรัล
และคนที่พลอยได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ไปด้วย ก็คือธนาคารที่ปล่อยกู้นั่นเอง..
แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร พวกเขาจะยอมเสี่ยงหรือไม่ เพราะขนาดประมูลดิวตี้ฟรีจ่ายเงินให้ AOT ปีละ 15,000 ล้านบาท ยังมีแค่คิงเพาเวอร์รายเดียวที่ยอมจ่าย ส่วนเซ็นทรัลยังไม่กล้าสู้ราคา
จากเหตุการณ์ทั้งหมดจึงเป็นที่น่าติดตามว่า ใครจะได้กิจการ เทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยไป ซึ่งคนที่ได้ เทสโก้ โลตัส ไปก็น่าจะทำธุรกิจต่อไม่ง่ายในโลกยุคนี้
พฤติกรรมคนที่กำลังเปลี่ยน เราไม่จำเป็นต้องขับรถไปหาที่จอด แล้วก็เดินไปหาของตามชั้นวางสินค้า แต่ตอนนี้เราสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้เพียงไม่กี่นาที แถมของเหล่านั้นยังส่งตรงมาถึงหน้าบ้านเรา
แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัสได้เริ่มปรับตัวตั้งแต่การลดพื้นที่ค้าปลีก เพื่อเพิ่มพื้นที่เช่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูภาพในอนาคต กับราคาตอนนี้
ก็ดูเหมือนว่าผู้ซื้อกิจการ เทสโก้ โลตัส น่าจะลังเลว่า
สิ่งที่กำลังจ่ายไป จะคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับหรือไม่..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
นักลงทุนชื่อดัง วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยซื้อหุ้นของ TESCO ในปี 2006 ถึง 2012 แต่ภายหลังบริษัทนี้ได้มีเรื่องอื้อฉาวเรื่องการตกแต่งบัญชี ต่อมาวอร์เรน บัฟเฟตต์ จึงได้ขายหุ้น TESCO ออกไปทั้งหมดในปี 2014 และยอมรับว่าการลงทุนใน TESCO เป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ของเขา
┏━━━━━━━━━━━━┓
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
Blockdit.com/download
┗━━━━━━━━━━━━┛

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon