สรุประบบรางในอนาคต ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย

สรุประบบรางในอนาคต ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย

สรุประบบรางในอนาคต ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย / โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่า ประเทศไทย มีข้อได้เปรียบในเรื่องใดมากที่สุด
“ทำเล” จะเป็นหนึ่งในคำตอบนั้น
ด้วยการที่ตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ล้อมรอบด้วยกลุ่มประเทศ CLMV
ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 170 ล้านคน
เมื่อรวมกับประชากรไทยอีก 69 ล้านคน จะทำให้มีประชากรบนผืนแผ่นดินบริเวณนี้มากถึง 239 ล้านคน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากบนโลกนี้
การพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะการพัฒนาระบบขนส่งทางราง
แล้วระบบราง จะเปลี่ยนอนาคตประเทศไทย อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
รู้หรือไม่ว่า การขนส่งสินค้าทางราง มีต้นทุนถูกกว่าการขนส่งสินค้าทางถนนถึง 2 เท่า
จากข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ในปี 2560
ต้นทุนการขนส่งทางถนน อยู่ที่ 2.12 บาท/ตัน/กิโลเมตร
ต้นทุนการขนส่งทางราง อยู่ที่ 0.95 บาท/ตัน/กิโลเมตร
แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การขนส่งสินค้าทางรางกลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
สาเหตุหลักคือ รางรถไฟไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด
และรางรถไฟที่มีกว่าร้อยละ 90 ล้วนเป็น “ทางเดี่ยว”
คำว่าทางเดี่ยวหมายความว่า หากมีรถไฟ 2 ขบวน วิ่งมาคนละทิศทางกัน
ทั้ง 2 ขบวน จะสวนทางกันไม่ได้ ต้องจอดรอให้อีกขบวนไปก่อน
และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การขนส่งสินค้าทางรางใช้ระยะเวลานานกว่าการขนส่งทางถนน และทำให้ได้รับความนิยมน้อยกว่า
การขนส่งผู้โดยสารทางรางก็ใช้เวลานานเช่นกัน และทำให้ผู้โดยสารเลือกเดินทางด้วยเส้นทางอื่น
ทั้งทางถนน และอากาศ
แต่หลังจากนี้ การขนส่งระบบรางมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ซึ่งประกอบไปด้วย
รถไฟทางคู่
หากมีเส้นทางรถไฟ 2 ทางคู่ขนานกัน ก็จะทำให้รถไฟสามารถสวนทางกันได้
และการขนส่งทั้งคนและสินค้าจะลดระยะเวลาลงไปมาก
ขณะนี้มีโครงการรถไฟทางคู่เฟสแรก ซึ่งจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2565
โดยมีการสร้างสถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นศูนย์กลางขนส่งทางรางของประเทศไทย
สายเหนือ จากบางซื่อ ถึงสถานีปากน้ำโพ นครสวรรค์
สายอีสาน จากบางซื่อ ถึงสถานีขอนแก่น
สายใต้ จากบางซื่อ ถึงสถานีชุมพร
ส่วนโครงการรถไฟทางคู่เฟสที่ 2 จะแล้วเสร็จภายในปี 2570
สายเหนือ ต่อไปจนถึงสถานีเชียงใหม่
และมีสายใหม่ แยกจากสถานีเด่นชัย จ.แพร่ ถึงสถานีเชียงของ จ.เชียงราย
ซึ่งรองรับการขนส่งทั้งคนและสินค้า เชื่อมต่อกับจีน พม่า และลาว
สายอีสาน ถึงสถานีหนองคาย เชื่อมต่อกับทางรถไฟจากลาว
สายใต้ ถึงสถานีปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ซึ่งรองรับการขนส่งเชื่อมกับมาเลเซีย
หากทั้ง 2 เฟสแล้วเสร็จ จะส่งผลให้การขนส่งทั้งคนและสินค้ามีการพัฒนามากขึ้น
ภายในประเทศ โรงงานสามารถส่งสินค้าผ่านทางรถไฟให้ลูกค้าในภูมิภาคต่างๆ ด้วยต้นทุนการขนส่งที่ถูกกว่า
และระหว่างประเทศ สินค้าจากจีน สามารถขนส่งมาให้ลูกค้าในไทยผ่านทางรถไฟ ซึ่งจะทำให้ใช้ระยะเวลาน้อยกว่าการขนส่งทางรถ หรือทางเรือ
เช่นเดียวกับที่สินค้าในไทย สามารถขนส่งออกไปขายที่ลาว พม่า หรือมาเลเซียได้
นอกจากรถไฟทางคู่ ยังมีอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือ “รถไฟความเร็วสูง”
ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง
ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2566
เส้นทางที่ 1 บางซื่อ - นครราชสีมา (โคราช)
ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะช่วยเรื่องการเดินทางของคนในภาคอีสานมายังกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นทั้งการค้า และการท่องเที่ยว ระหว่าง 2 ภูมิภาคได้
โดยแผนระยะยาวของเส้นทางนี้ จะเชื่อมไปถึง จ.หนองคาย เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟจากจีนที่เชื่อมผ่านมายังประเทศลาว
เส้นทางที่ 2 รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนกรุงเทพฯ มีปริมาณมากจนทำให้สนามบินหลักทั้ง 2 แห่ง
คือ ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มีจำนวนผู้ใช้บริการเกินขีดจำกัดมานานแล้ว
สนามบินอู่ตะเภาจึงช่วยรองรับปริมาณการใช้งานนี้ และแบ่งเบาผู้โดยสารบางส่วนที่ต้องการเดินทางไปยังเมืองท่องเที่ยวชายทะเล เช่น พัทยา ระยอง
ประเทศไทยมีชื่อเสียงในเรื่องการท่องเที่ยวมานาน
ททท. คาดว่าในปี 2562 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวไทยถึง 40 ล้านคน
และคาดว่าจะเพิ่มถึง 79 ล้านคนในอีก 11 ปีข้างหน้า
นอกจากการท่องเที่ยว
เส้นทางนี้ยังเป็นที่ตั้งของแหล่งนิคมอุตสาหกรรม
รวมถึงโครงการ EEC ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการใหม่
การมีรถไฟความเร็วสูง จะทำให้การเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดในเขต EEC กับกรุงเทพฯ และภูมิภาคอื่นๆ สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาและต้นทุนในการเดินทางเมื่อเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่น
มาถึงจุดนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า รายได้จากค่าโดยสาร ค่าขนส่ง จะคุ้มกับที่ลงทุนไปหรือไม่?
สำหรับโครงการพัฒนาระบบราง การจะคิดกำไรจากค่าตั๋วโดยสาร และค่าขนส่งเพียงอย่างเดียว โดยคาดหวังให้คุ้มทุนนั้นเป็นไปได้ยาก
แต่เราก็ต้องอย่าลืมว่า เมื่อมีเส้นทางขนส่งที่ดี ย่อมดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ เกิดการจ้างงาน เกิดโรงงานอุตสาหกรรม เกิดเมืองใหม่ เกิดภาคบริการท่องเที่ยว และนำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในท้ายที่สุด ซึ่งผลดีทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะสะท้อนออกมาทางอ้อม ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในรายได้ค่าโดยสาร
คงต้องดูกันต่อไปว่า หากโครงการรถไฟทั้งหมดแล้วเสร็จ จะช่วยพลิกโฉมการขนส่งสินค้า การเดินทาง และการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด
“ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง”
ทุกคนล้วนคุ้นเคยกันดีว่าหมายถึงอะไร
ไม่แน่ว่า เราอาจจะไม่ได้ใช้ประโยคนี้อีกต่อไปแล้ว ก็เป็นได้..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-http://www.tradelogistics.go.th/บทความ/บทสัมภาษณ์/“ระบบราง”-โครงสร้างพื้นฐานสำคัญสู่การ-“ลดต้นทุนโลจิสติกส์”-ของประเทศไทย
-https://www.eeco.or.th/โครงการ/การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน/โครงการรถไฟความเร็วสูง-เชื่อม-3-สนามบิน-แบบไร้รอยต่อ
-https://www.weforum.org/agenda/2018/11/china-will-be-the-world-s-top-tourist-destination-by-2030/
-http://www.realist.co.th/blog/updateรถไฟ-2562
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon