ป่าแอมะซอน มีมูลค่าเท่าไหร่?

ป่าแอมะซอน มีมูลค่าเท่าไหร่?

ป่าแอมะซอน มีมูลค่าเท่าไหร่? / โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงชื่อของ “แอมะซอน” คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงร้านกาแฟ
หรือบริษัท E-Commerce ยักษ์ใหญ่ของ เจฟฟ์ เบโซส บุคคลที่ร่ำรวยสุดในโลก
แต่ถ้าถามว่าเจ้าของชื่อนี้ตัวจริง อยู่ที่ไหน?
คำตอบก็คือ “ป่าดิบชื้นแอมะซอน” ที่มีอายุกว่า 50 ล้านปี
ทราบหรือไม่ว่า ป่าแห่งนี้ มีมูลค่าต่อโลกของเรามากน้อยเพียงใด
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
แอมะซอน เป็นป่าดิบชื้นขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
มีพื้นที่ทั้งหมด 5,500,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมเขตแดนของ 9 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้
โดยตั้งอยู่ในประเทศบราซิลมากที่สุด 60%
ป่าแห่งนี้ ถูกยกย่องให้เป็นเสมือน ปอดของโลก
เนื่องจากมีต้นไม้อยู่ถึง 390,000 ล้านต้น ซึ่งช่วยผลิตออกซิเจนราว 6% ให้กับชั้นบรรยากาศโลก
และจากการสำรวจพบว่า 1 ใน 10 ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่มนุษย์รู้จัก อาศัยอยู่ในป่าแอมะซอน เช่น
สัตว์ป่าและนก 2,000 สายพันธุ์
ปลา 2,200 สายพันธุ์
ต้นไม้และพืชต่างๆ 40,000 สายพันธุ์
แมลง 2,500,000 สายพันธุ์
ทำให้สถานที่นี้ เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายมากที่สุดในโลก
แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มนุษย์มีการถางป่าแอมะซอนกว่า 17% ของพื้นที่ ไปทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้
โดยมีการประเมินว่า ประเทศบราซิลได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการใช้พื้นที่ป่าแอมะซอน มูลค่าสูงถึง 250,000 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่บราซิลกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ประธานาธิบดี นายฌาอีร์ โบลโซนารู มีนโยบายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พื้นที่ป่าแอมะซอน และลดกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อกระตุ้นภาคการผลิต
แต่ดูเหมือนว่า ผลประโยชน์ที่ได้ในระยะสั้น อาจไม่เท่ากับการสูญเสียในระยะยาว
มีการศึกษาชี้ว่า หากป่าแอมะซอน ถูกรุกรานไปจนถึง 25% ของพื้นที่ จะส่งผลให้สมดุลของระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง จนไม่ใช่ลักษณะของป่าดิบชื้นอีกต่อไป
ผลที่ตามมาคือ สภาพอากาศที่แห้งแล้ง และปริมาณน้ำฝนที่น้อยลงในภูมิภาค
ที่น่าเป็นห่วงคือ การเปิดพื้นที่ใหม่ หรือทำลายไร่นาหลังเก็บเกี่ยว มักทำด้วยวิธีการเผา ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ไฟไหม้ป่า
ถ้าหากมีการใช้พื้นที่มากขึ้น ประกอบกับน้ำฝนที่น้อยลง จะยิ่งทำให้ไฟป่ารุนแรงขึ้น ดังที่เพิ่งเกิดไปเมื่อไม่นานมานี้
ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2019 เกิดไฟไหม้ป่าแอมะซอนไม่ต่ำกว่า 80,000 ครั้ง เพิ่มขึ้น 77% จากปีก่อนหน้า
โดยสร้างความเสียหายไปกว่า 9,060 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกว้างใหญ่กว่ากรุงเทพมหานคร ถึง 6 เท่า
นอกจากนี้ การหายไปของต้นไม้ในป่าแอมะซอน จะมีผลทางอ้อมต่อภาวะโลกร้อน

ทุกวันนี้ ทั้งโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศอยู่ประมาณ 40,000 ล้านตันต่อปี
แต่ป่าแอมะซอน เป็นผู้ที่ดูดซับก๊าซนั้นเอาไว้ 2,000 ล้านตันต่อปี หรือราว 5% ของทั้งหมด
ทั้งนี้มีการประเมินว่า ภายใน 30 ปีข้างหน้า
มนุษย์อาจได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น จากการมีพื้นที่ทำกิจกรรมทางด้านการเกษตร การประมง หรือคมนาคม สะสมไม่น้อยกว่า 14 ล้านล้านบาท ก็จริง
แต่สุดท้าย ปัญหาภัยแล้งและไฟป่า จะย้อนกลับมากระทบผลผลิตดังกล่าว ให้มีน้อยลง
รวมทั้งจะมีผลกระทบทางอ้อมต่อระบบนิเวศที่เสียไป และภาวะโลกร้อนต่างๆ ในวงกว้าง
ทำให้โดยสุทธิแล้ว มันจะสร้างความเสียหาย มูลค่าสะสมสูงถึง 110 ล้านล้านบาท แทน
ซึ่งการลงทุน เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่หายไปในปัจจุบันนั้น อาจต้องใช้เงินถึง 2 ล้านล้านบาท แต่มันก็อาจคุ้มค่ากว่าในระยะยาว
ด้วยเหตุนี้ นานาชาติจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง ก่อนที่มันจะสายเกินไป
จะเห็นได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ส่งผลรุนแรงกว่าที่หลายคนคิด
และมันอาจทำให้วิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ
ตอนที่ เจฟฟ์ เบโซส บุคคลรวยที่สุดในโลก ตั้งชื่อบริษัท
เขาต้องการให้ชื่อขึ้นต้นด้วยตัวอักษร A เพื่อให้มันขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆ ในการค้นหา
จึงได้ไปไล่ศัพท์ในพจนานุกรม และถูกใจกับคำว่า “Amazon”
เพราะความหลากหลายทางระบบนิเวศของที่แห่งนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ธุรกิจ E-Commerce ที่เขามองไว้นั่นเอง
ซึ่งปัจจุบัน เขาก็สร้างบริษัท Amazon ได้ยิ่งใหญ่สมกับชื่อที่เขาเลือกขึ้นมา..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Amazon_rainforest
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/2019_Amazon_rainforest_wildfires
-https://www.aljazeera.com/programmes/countingthecost/2019/09/amazon-rainforest-worth-190907121817405.html
-https://www.vice.com/en_us/article/bje7wd/the-amazon-is-worth-more-money-left-standing-study-shows
-https://www.pnas.org/content/pnas/115/46/11671.full.pdf
-https://www.apnews.com/384fdb5ee7654667b53ddb49efce8023
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/History_of_Amazon#Choosing_a_name
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon