จีนอาจไม่สามารถ พยุงเศรษฐกิจโลกได้ ในวิกฤติครั้งต่อไป

จีนอาจไม่สามารถ พยุงเศรษฐกิจโลกได้ ในวิกฤติครั้งต่อไป

จีนอาจไม่สามารถ พยุงเศรษฐกิจโลกได้ ในวิกฤติครั้งต่อไป / โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่าตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา
เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยกี่ครั้ง?
คำตอบคือ 2 ครั้ง
ปี 2001
วิกฤติฟองสบู่ดอตคอมที่เกิดจากการเก็งกำไรอย่างหนักของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี ในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq
สุดท้าย ดัชนีลดลงกว่า 78% จากจุดสูงสุด หลายบริษัทล้มละลาย อัตราการว่างงานของสหรัฐอเมริกาเพิ่มถึง 6.3% เศรษฐกิจถดถอยเป็นระยะเวลา 8 เดือน
ปี 2008
วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ คนกว่า 9 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาต้องตกงาน
อัตราการว่างงานของสหรัฐอเมริกาเพิ่มถึง 10.0% เศรษฐกิจถดถอยเป็นระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน
แน่นอนว่า เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีปัญหา เศรษฐกิจโลกก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
และในช่วงเวลาที่มีปัญหา จีน คือส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ดีหลังวิกฤติ
ปี 2001 เป็นช่วงที่จีนเริ่มเข้าสู่การเป็นสมาชิกของ WTO จึงมีการปฏิรูประบบภาษีและภาคการเงิน ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ รัฐบาลสนับสนุนการสร้างงานกว่า 200 ล้านตำแหน่ง เพื่อรองรับแรงงานจากภาคเกษตรที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
ปี 2001 มูลค่า GDP ของจีนเท่ากับ 41 ล้านล้านบาท
ปี 2005 มูลค่า GDP ของจีนเท่ากับ 70 ล้านล้านบาท
ปี 2008 เมื่อเกิดวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ รัฐบาลจีนใช้ทั้งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยการลดอัตราดอกเบี้ยลง และนโยบายการคลัง โดยใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศกว่า 17.7 ล้านล้านบาท
รวมทั้งผ่อนคลายการให้สินเชื่อ ส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อทั้งระบบธนาคารของจีนเพิ่มสูงถึง 41 ล้านล้านบาท
ปี 2008 มูลค่า GDP ของจีนเท่ากับ 140 ล้านล้านบาท
ปี 2012 มูลค่า GDP ของจีนเท่ากับ 261 ล้านล้านบาท
จะเห็นว่าทั้ง 2 ช่วงที่โลกประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจนั้น GDP ของจีนเติบโตเกือบเท่าตัว
และจีนถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะหลังปี 2008 ที่สหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ขณะที่ฝั่งยุโรปก็เจอกับวิกฤติหนี้สินในยุโรป
แต่เรื่องราวที่ดำเนินต่อไปอย่างสวยงามของเศรษฐกิจจีน ได้ซ่อนปัญหาบางอย่างไว้..
การใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ของจีนค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ฝั่งธนาคารพาณิชย์นั้น สินเชื่อที่ธนาคารนำมาปล่อยกู้แทนที่จะนำไปลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการผลิตสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นจริง แต่กลับถูกนำไปเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์เสียเป็นส่วนใหญ่
เมื่อรวมกับการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวมในช่วงที่ผ่านมาของธนาคารหลายแห่งของจีน หนี้เสียจึงเพิ่มสูงขึ้น จนปัจจุบัน หนี้เสียในระบบของธนาคารจีนสูงเกือบ 10 ล้านล้านบาท ซึ่งมากที่สุดในรอบ 10 ปี
ที่น่าสนใจคือ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งของจีนนั้นถือหุ้นโดยรัฐบาลจีน หมายความว่า ถ้าเกิดปัญหาในระบบธนาคารของจีนนั้น รัฐบาลมีภาระที่ต้องเข้ามาแก้ไขด้วย
ปัจจุบัน หนี้สินของภาครัฐและภาคเอกชนของจีน มีมูลค่ารวมกันกว่า 1,220 ล้านล้านบาท คิดเป็น 16% ของหนี้สินทั้งโลกที่ประมาณ 7,518 ล้านล้านบาท
ขณะที่หนี้สินดังกล่าวมีสัดส่วนถึง 300% ของ GDP จีน
เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2008 ที่เท่ากับ 162%
ภาระหนี้สินที่มหาศาล ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศกำลังเติบโตต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี ดูแล้วเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับจีนในตอนนี้พอสมควร
ดังนั้น ใครที่หวังจะให้จีนมาช่วยกอบกู้ปัญหาเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน อาจต้องกลับมาคิดใหม่
เพราะตอนนี้ จีนก็มีปัญหาของตัวเองที่ต้องสะสางมากมายเหลือเกิน
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปี 2001
จีน มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 32,100 บาท ต่อปี
ไทย มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 57,700 บาท ต่อปี
ปี 2018
จีน มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 298,100 บาท ต่อปี
ไทย มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 221,857 บาท ต่อปี
เมื่อก่อนจีนรายได้เฉลี่ยต่อหัวน้อยกว่าไทย แต่ตอนนี้ แซงไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งไทยและจีน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง
โดยประเทศที่มีรายได้สูง มีตัวชี้วัดคือ รายได้เฉลี่ยต่อหัวต้องสูงกว่า 367,000 บาท ต่อปี
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon