เศรษฐกิจเยอรมนี กำลังมีปัญหา

เศรษฐกิจเยอรมนี กำลังมีปัญหา

เศรษฐกิจเยอรมนี กำลังมีปัญหา / โดย ลงทุนแมน
ตัวเลขล่าสุดของเศรษฐกิจเยอรมนี
GDP ไตรมาส 2 หดตัว 0.1%
ถ้าไตรมาสหน้าหดตัวอีก
จะถือว่าเศรษฐกิจเยอรมนี ถดถอยอย่างสมบูรณ์
สงครามการค้ากำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายประเทศในโลกนี้
ตอนนี้รวมถึงเศรษฐกิจเยอรมนีด้วยที่กำลังมีปัญหา
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เยอรมนีเป็นประเทศที่มีมูลค่า GDP กว่า 124 ล้านล้านบาท ใหญ่เป็นลำดับที่ 1 ในยุโรป ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลก และใหญ่กว่ามูลค่า GDP ของประเทศไทยถึง 8 เท่า
เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการส่งออกสินค้ามากที่สุดในโลก
ปี 2018 มูลค่าการส่งออกของเยอรมนีเท่ากับ 44.8 ล้านล้านบาท หรือกว่า 36% ของขนาด GDP ของประเทศ
หมายความว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนีนั้น มากกว่า 1 ใน 3 ต้องพึ่งพาการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
แล้วสินค้าส่งออก 5 ลำดับแรกของเยอรมนีมีอะไรบ้าง
1. เครื่องจักรและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
มูลค่าการส่งออก 8.4 ล้านล้านบาท
2. รถยนต์
มูลค่าการส่งออก 8.2 ล้านล้านบาท
3. เครื่องมือและอุปกรณ์ไฟฟ้า
มูลค่าการส่งออก 5.1 ล้านล้านบาท
4. ยาและเภสัชภัณฑ์
มูลค่าการส่งออก 3.0 ล้านล้านบาท
5. อุปกรณ์การแพทย์
มูลค่าการส่งออก 2.5 ล้านล้านบาท
แต่แล้วสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เกิดขึ้น กำลังทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และกำลังส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจของที่นี่
Cr. Bloomberg
ในปี 2018 ตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีลำดับที่ 1 คือ สหรัฐอเมริกา และลำดับที่ 3 คือ จีน โดยเยอรมนีส่งออกสินค้าไปทั้ง 2 ตลาดนี้มีมูลค่ารวมกัน 7.6 ล้านล้านบาท หรือ 17% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
สินค้าส่งออกที่สำคัญจากเยอรมนีไปยังสหรัฐอเมริกาคือ รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยาบรรจุภัณฑ์
ขณะที่สินค้าส่งออกที่สำคัญจากเยอรมนีไปยังจีนคือ รถยนต์ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอากาศยาน
โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลง โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากประเทศจีน
Cr. Bloomberg
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมักถูกใช้เป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญ เพื่อสะท้อนสภาพเศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาค่าดังกล่าวนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำจุดต่ำสุดในรอบ 2 ปี
เมษายน 2019 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 104.9
พฤษภาคม 2019 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 102.9
มิถุนายน 2019 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 101.4
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงเกิดคำถามที่สำคัญว่าในปีนี้เศรษฐกิจเยอรมนีอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่
ตามคำนิยามทางเศรษฐศาสตร์ ถ้าเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส จะถือว่าประเทศนั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นมาแล้ว 1 ไตรมาส
นั่นแปลว่า
ถ้าไตรมาสหน้ายังหดตัวอยู่ ก็จะถือว่าเศรษฐกิจเยอรมนีถดถอยโดยสมบูรณ์..
Cr. Financial Times
ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีกำลังติดลบในทุกช่วงอายุ
นั่นหมายความว่าไม่ว่าเราจะซื้อพันธบัตรกี่ปีของรัฐบาลเยอรมนี เราจะได้ผลตอบแทนติดลบ
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลนั้นเป็นเหมือนสินทรัพย์ปลอดภัยแก่นักลงทุน
โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดการเงิน และภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง
การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีลดลงจนติดลบ หมายความว่า นักลงทุนยอมรับผลตอบแทนที่ติดลบ แทนการไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งอาจขาดทุนมากกว่า
และถ้าในอนาคตดอกเบี้ยลดลงไปอีก ราคาพันธบัตรจะเพิ่มขึ้น ซึ่งนักลงทุนจะทำกำไรจากส่วนต่างของราคาพันธบัตรได้
นอกจากเยอรมนีแล้ว ยังมีหลายประเทศที่มีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลติดลบ เช่น ญี่ปุ่น เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน และเนเธอร์แลนด์
จนทำให้ปัจจุบัน มูลค่าของพันธบัตรทั่วโลกที่มีอัตราผลตอบแทนติดลบอยู่ที่ 372 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี..
----------------------
Blockdit แอปที่เป็นเหมือน คลังความรู้ขนาดใหญ่ อ่านฟรี
โหลดเลย Blockdit.com/download
----------------------
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
-https://www.destatis.de/EN/Press/2019/02/PE19_047_51.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Germany
-https://oec.world/en/profile/country/deu/
-http://www.worldstopexports.com/germanys-top-10-exports/
-https://www.americanexpress.com/us/foreign-exchange/articles/international-trade-between-us-and-germany/
-https://tradingeconomics.com/germany/exports/china
-https://ycharts.com/indicators/germany_industrial_production
-https://www.cnbc.com/2019/06/07/bundesbank-slashes-german-growth-forecasts.html
-https://qz.com/1647791/12-trillion-of-negative-yielding-bonds-are-a-distress-signal/
-https://seekingalpha.com/news/3491442-german-economy-halfway-recession
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon