Eastern Seaboard การผลิตเกินครึ่งของไทย อยู่ที่นี่

Eastern Seaboard การผลิตเกินครึ่งของไทย อยู่ที่นี่

Eastern Seaboard การผลิตเกินครึ่งของไทย อยู่ที่นี่ / โดย ลงทุนแมน
เป็นเวลากว่า 37 ปีแล้ว
ที่โครงการ Eastern Seaboard เกิดขึ้นมา
จากวันนั้นมาจนวันนี้
ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรบ้าง
และทำไมโครงการนี้จึงเป็นเหมือนโครงการต้นแบบของ EEC
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Eastern Seaboard Development Program เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2525 ในสมัยรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
โดยอยู่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (2525-2529) ภายในพื้นที่ทั้งหมด 8.3 ล้านไร่
วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือ
เพื่อเปลี่ยนอุตสาหกรรมเบามาเป็น อุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในระยะยาว
ตัวอย่างอุตสาหกรรมเหล่านี้ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, น้ำมันและก๊าซ ปิโตรเคมี
โดยโครงการนี้ตั้งอยู่ใน 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
ทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบและแรงงาน
ที่สำคัญ พื้นที่นี้ติดกับอ่าวไทย ซึ่งเอื้อต่อการขนส่งสินค้าทางทะเล
ตั้งแต่ปี 2530-2559 มูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดในพื้นที่ Eastern Seaboard ของทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันนั้นมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท
โดย 85% เป็นการลงทุนของภาคเอกชน และ 15% เป็นการลงทุนของภาครัฐบาล
ต้องยอมรับว่า Eastern Seaboard คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มูลค่า GDP ของประเทศไทยเติบโตแบบติดจรวด
ในปี 2528 ประเทศไทยมี GDP 1 ล้านล้านบาท
ในปี 2533 ประเทศไทยมี GDP 2 ล้านล้านบาท
ในปี 2538 ประเทศไทยมี GDP 4.2 ล้านล้านบาท
ในระยะเวลา 10 ปี มูลค่า GDP ของไทยโตกว่า 400%
ทำให้ตอนนั้น ประเทศไทยได้รับการกล่าวถึงว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียตามหลังประเทศอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน
Cr. DDproperty
ในช่วงระหว่างปี 2523-2542 สัดส่วนภาคการเกษตรต่อมูลค่า GDP ลดลงจาก 23% มาอยู่ที่ 9.1%
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพิ่มจาก 29% มาอยู่ที่ 42%
อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment)
ปี 2529-2532 เฉลี่ยปีละ 28,000 ล้านบาท
ปี 2533-2539 เฉลี่ยปีละ 64,000 ล้านบาท
โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ได้เน้นการออกไปลงทุนในต่างประเทศช่วงนั้นพอดี จากผลกระทบของข้อตกลง Plaza Accord ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น ราคาสินค้าแพงถ้าผลิตในญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องไปสร้างโรงงานการผลิตในต่างประเทศที่สามารถแข่งขันได้มากกว่า
ซึ่งประเทศไทยถือเป็นแหล่งที่มีศักยภาพในสายตานักลงทุนญี่ปุ่น เพราะต้นทุนแรงงานถูก มีระบบเศรษฐกิจเปิดมากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
นอกจากนี้ ภาคตะวันออกได้กลายเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลักของประเทศ จากการเกิดขึ้นของ Eastern Seaboard
Cr. DDproperty
ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรม กระจายไปทั้ง 3 จังหวัดนี้
ระยอง 12 แห่ง ชลบุรี 15 แห่ง ฉะเชิงเทรา 5 แห่ง
เฉพาะ 3 จังหวัดนี้มีนิคมอุตสาหกรรม 32 แห่ง ซึ่งเกินครึ่งจากนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 59 แห่งทั่วประเทศ
ปี 2560
ทั้ง 3 จังหวัดนี้มีจำนวนโรงงานรวมกัน 10,175 แห่ง
มีจำนวนแรงงานกว่า 593,650 คน
และมีเงินลงทุนรวมกันกว่า 2.5 ล้านล้านบาท
ลองมาดูมูลค่าผลิตภัณฑ์ของจังหวัด 3 จังหวัดในปี 2560 ว่ามีมูลค่าเท่าไร
ระยอง 984,980 ล้านบาท
ชลบุรี 976,460 ล้านบาท
ฉะเชิงเทรา 341,116 ล้านบาท
ทั้ง 3 จังหวัดรวมกันเท่ากับ 2.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 16% ของ GDP ประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2541-2560 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำเป็นเวลานาน
โดย GDP ของประเทศเติบโตเฉลี่ยปีละ 3-4% ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามสถานะของประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปได้เสียที
และนั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) สำหรับใช้ต่อยอดโครงการ Eastern Seaboard เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และย่นระยะเวลาให้ประเทศก้าวพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางเร็วขึ้น
โดยโครงการ EEC จะมุ่งเน้นการลงทุนด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น เพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง เมื่อเทียบกับโครงการ Eastern Seaboard ซึ่งจะเน้นไปทางด้านอุตสาหกรรมหนักมากกว่า
Cr. SmartCitiesWorld
อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายอีกหลายอย่างรอผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจากภาครัฐหรือภาคเอกชน เพื่อนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากวังวนของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ที่พวกเราติดกับดักนี้มาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 43 ปี นั่นเอง..
----------------------
Blockdit แอปที่เป็นเหมือน คลังความรู้ขนาดใหญ่ อ่านฟรี
โหลดเลย Blockdit.com/download
----------------------
References
-ปนัดดา ภู่หอม, EEC ภาคต่อ Eastern Seaboard ก้าวสำคัญการลงทุนไทย
-Peter Brimble, Foreign Direct Investment: Performance and Attraction, The Case of Thailand
-การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
-https://en.wikipedia.org/wiki/Eastern_seaboard_of_Thailand
-http://www.nesdb.go.th/ewt_w3c/ewt_dl_link.php?filename=esdps&nid=6473
-http://www.nesdb.go.th/main.php?filename=gross_regional
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Thailand
-http://www.diw.go.th/hawk/content.php?mode=spss61
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_research_and_development_spending
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon