สแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยที่ผลิต คนเปลี่ยนแปลงโลก

สแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยที่ผลิต คนเปลี่ยนแปลงโลก

สแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยที่ผลิต คนเปลี่ยนแปลงโลก / โดย ลงทุนแมน
แลร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน ผู้ก่อตั้ง “Google”
รีด เฮสติงส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง “Netflix”
เจอร์รี หยาง ผู้ก่อตั้ง “Yahoo”
วิลเลียม ฮิวเลตต์ และเดวิด แพคการ์ด ผู้ก่อตั้ง “HP”
รู้หรือไม่ บุคคลที่สร้างบริษัทนวัตกรรมระดับโลกเหล่านี้
ต่างมีจุดร่วมที่น่าสนใจเหมือนกัน
นั่นคือ พวกเขาจบจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
สแตนฟอร์ด มีความน่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ตั้งอยู่ที่เมือง สแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นศูนย์กลาง “ซิลิคอนแวลลีย์” แหล่งรวมบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก
มหาวิทยาลัยแห่งนี้ถูกก่อตั้งตามนามสกุลของผู้ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1885 โดยคุณ Leland Stanford เศรษฐีธุรกิจรถไฟ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ และอดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กับ ภรรยาของเขา
จุดเริ่มต้นมาจากการที่พวกเขาได้สูญเสียลูกชายไป ด้วยโรคไทฟอยด์.. ในปี 1884
จากเหตุการณ์นั้น ทำให้พวกเขาได้ตัดสินใจว่าต้องสร้างอะไรบางอย่าง
เพื่อระลึกถึงลูกชายอันเป็นที่รัก
พวกเขาได้ขอคำแนะนำจากหลายคน รวมทั้งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ คอร์เนลล์
สุดท้ายเลยตัดสินใจสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นมา บนที่ดินของพวกเขาเอง
เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาของลูกหลานชาวแคลิฟอร์เนีย
“ลูกหลานชาวแคลิฟอร์เนีย คือ ลูกหลานของเรา” คุณ Leland กล่าว
ปัจจุบัน สแตนฟอร์ดถูกจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และธุรกิจ
มีหลายคนที่ใฝ่ฝันอยากเข้าเรียนที่นี่
Cr. Stanford Magazine
ปีการศึกษา 2021 มีจำนวนผู้สมัคร 44,073 คน จำนวนที่รับ 2,050 คน
อัตราการรับเข้าเรียนต่อผู้สมัครแข่งขัน 1 ต่อ 21 คน
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แบ่งออกเป็น 7 คณะ ประกอบไปด้วย
1) คณะบริหารธุรกิจ
2) คณะวิทยาศาสตร์โลก พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
3) คณะศึกษาศาสตร์
4) คณะวิศวกรรมศาสตร์
5) คณะมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์
6) คณะนิติศาสตร์
7) คณะแพทยศาสตร์
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีจำนวนนักศึกษา 16,424 คน เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี 7,056 คน
เป็นนักศึกษาในระดับที่สูงกว่าระดับปริญญาตรี 9,368 คน
สถาบันแห่งนี้มีค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนอยู่ที่ปีละประมาณ 1.6 ล้านบาท
ขณะที่ค่าเรียน MBA จะอยู่ที่ปีละประมาณ 2.2 ล้านบาท
แต่หลังจบการศึกษา ค่าเฉลี่ยของเงินเดือนจะอยู่ที่ปีละประมาณ 5.5 ล้านบาท
และที่สำคัญ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดซิลิคอนแวลลีย์ขึ้นมา
โดยจุดเริ่มต้นคือ คณบดีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ชักชวนอาจารย์และศิษย์เก่า ให้มาเปิดบริษัทในบริเวณซิลิคอนแวลลีย์
ทำให้พื้นที่นี้ จากไม่มีอะไรเลย กลายเป็นแหล่งสร้างนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดของโลก
และมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก

Cr. Cloud Server Hosting
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้สร้างผู้ประกอบการชื่อดังมากมาย
ตัวอย่างบริษัทที่บรรดาศิษย์เก่าเป็นผู้ก่อตั้ง หรือผู้ร่วมก่อตั้ง เช่น Google, Instagram, Snapchat,
PayPal, Linkedin, Netflix, Yahoo, HP, Nvidia, Nike
จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือ
การผลิตบัณฑิตที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลก และทำให้สังคมดีขึ้น
นอกจากนี้ ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีถนนชื่อ Sand Hill Road ซึ่งเป็นแหล่งรวม Venture Capital ชั้นนำของโลกไม่ว่าจะเป็น Sequoia Capital, KPCB, Andreessen Horowitz
Cr. Blogspot
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้บัณฑิตที่อยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
ต่างก็มีโอกาสที่จะได้รับเงินทุนสนันสนุน
เมื่อคนที่มีความสามารถกับไอเดีย ได้มาพบกับแหล่งเงินทุน
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นวัตกรรมที่สร้างผลกระทบต่อคนทั้งโลก..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ซิลิคอนแวลลีย์มี GDP ประมาณ 7 ล้านล้านบาท เป็นครึ่งหนึ่งของ GDP ประเทศไทยที่ 14 ล้านล้านบาท
แต่ประเทศไทยมีพื้นที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่ ซิลิคอนแวลลีย์ที่มีพื้นที่เพียง 121 ตารางกิโลเมตร..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป Blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-Business Insider
-https://www.stanford.edu/about/history/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Sand_Hill_Road
-https://en.wikipedia.org/wiki/Stanford_University
-https://en.wikipedia.org/wiki/Leland_Stanford
-https://www.toptieradmissions.com/resources/college-admissions-statistics/stanford-acceptance-rates/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon