สรุปเรื่อง Brexit แบบเข้าใจง่ายๆ สไตล์ลงทุนแมน

สรุปเรื่อง Brexit แบบเข้าใจง่ายๆ สไตล์ลงทุนแมน

สรุปเรื่อง Brexit แบบเข้าใจง่ายๆ สไตล์ลงทุนแมน
การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)
หลายคนไม่รู้ว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว
ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน
และจนวันนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
เรื่องนี้มีที่มาเป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า สหราชอาณาจักร ที่ว่านั้นประกอบไปด้วยประเทศอะไรบ้าง และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากแค่ไหน
สหราชอาณาจักร (United Kingdom) ประกอบไปด้วย 4 ประเทศ คือ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ หมายความว่า การถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หมายถึง การถอนตัวของ 4 ประเทศดังกล่าว
ในปี 2018 สหราชอาณาจักร มีมูลค่าทาง GDP ประมาณ 90 ล้านล้านบาท ใหญ่เป็นลำดับที่ 5 ของโลก
และคิดเป็น 15% ของมูลค่า GDP ของสหภาพยุโรปที่ประมาณ 592 ล้านล้านบาท
สหราชอาณาจักร ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 1973 โดยสมัยนั้นยังใช้ชื่อว่า ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
ในปี 1975 สหราชอาณาจักรได้มีการจัดลงประชามติ ภายใต้รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม นำโดยนาย Edward Heath ซึ่งตอนนั้นประชาชนยังสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
อย่างไรก็ตาม พรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝั่งซ้ายต้องการให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรปในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเด็นการถอนตัวของสหราชอาณาจักรนั้นได้เกิดขึ้นมานานแล้ว
ในปี 2010 การเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พรรคอนุรักษนิยมได้คะแนนสูงสุด นาย David Cameron กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสมัยที่ 2 ของการลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2015 นั้น หนึ่งในแคมเปญการหาเสียงของนาย David Cameron ก็คือ หากประชนชนเลือกเขา เขาจะจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ตามที่หลายฝ่ายต้องการ
ซึ่งหลังจากชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 เขาจึงจัดให้มีการลงประชามติ ว่าจะต้องการให้สหราชอาณาจักรคงการเป็นสมาชิกภาพ (Bremain) หรือออกจากการเป็นสมาชิกภาพ (Brexit) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016
cr.weforum
จากผู้มาลงคะแนนทั้งหมดประมาณ 30 ล้านคนนั้น ผลการลงประชามติกลับกลายเป็นว่า กว่า 51.9% ต้องการ Brexit ขณะที่ 48.1% ต้องการ Bremain
โดยเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการให้แยกตัวคือ อังกฤษและเวลส์ ขณะที่ สกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือนั้นต้องการให้อยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป
พอเรื่องเป็นแบบนี้ วันรุ่งขึ้นนาย David Cameron จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที ทำให้ Theresa May ลงสมัครตำแหน่งที่ว่าง และได้รับเลือกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด
cr.telegraph
ทั้งนี้ ฝ่ายที่ต้องการอยู่ต่อนั้นมองว่า การเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรปจะทำให้สหราชอาณาจักรได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า ทางภาษี และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
ขณะที่ฝ่ายซึ่งไม่ต้องการอยู่ต่อนั้นมองว่า การเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรปนั้น ทำให้ต้องทำตามข้อตกลงหลายอย่าง เช่น การรับผู้อพยพจากประเทศสมาชิก รวมไปถึงประชากรของประเทศอื่นๆ ในฐานะผู้ลี้ภัยจากสงคราม ทำให้เกิดการแย่งงาน หรือแม้แต่ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม

การเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป ยังรวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ
เช่น กรณีการเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะกรีซในปี 2010 ที่สหภาพยุโรปได้ให้เงินช่วยเหลือจำนวนมาก ทำให้ชาวอังกฤษไม่พอใจ เนื่องจากนำเงินจากภาษีของพวกเขาไปใช้
ซึ่งตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา สหราชอาณาจักรได้จ่ายค่าสมาชิกแก่สหภาพยุโรปเป็นจำนวนกว่า 4.2 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การแยกตัวไม่ได้เกิดขึ้นทันที เพราะต้องจัดทำแผน Brexit และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 20,833 ข้อ..
ที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่ที่ Theresa May เข้ามาทำหน้าที่นั้น ได้มีการผลักดันแผน Brexit ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่กลับถูกปฏิเสธตลอด
เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องการแผน Soft Brexit คือ การออกจากสหภาพยุโรปแต่ยังสามารถใช้กฎเกณฑ์บางอย่างแบบเดิมได้อยู่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย
ขณะที่แผนของ Theresa May นั้นเป็น Hard Brexit คือ การออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเด็ดขาด ทำให้สหราชอาณาจักรมีอิสระในการกำหนดนโยบายเองได้หลายอย่าง แต่กรณีนี้จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างกว่า
เมื่อยังไม่ได้ข้อสรุป
สุดท้ายแผนดังกล่าว ได้เลยเส้นตายเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินวันที่ 29 มีนาคม 2019 ทำให้สหภาพยุโรปเลื่อนประเด็นเรื่อง Brexit ออกไปอีกครั้ง
ความยืดเยื้อดังกล่าว ทำให้ประชาชนเองก็เริ่มเบื่อ
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเรื่องนี้จะจบกันอย่างไร
Brexit ก็คงเปรียบเหมือนชีวิตของคนเรา
เมื่อเราได้ผูกพันกับใครคนใดคนหนึ่งเป็นระยะเวลานานแล้ว
ก็คงยากที่จะตัดขาดกันแบบสิ้นเชิง
ถึงแม้ว่าเราคิดที่จะแยกทางจากคนนั้นมาแล้วกี่ครั้ง
แต่ความผูกพัน ก็ยังมีข้อดีหลายอย่างที่คอยดึงเราไว้เสมอ
ไม่ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร
ทางเลือกที่เลวร้ายที่สุดอาจไม่ใช่การ ออก หรือไม่ออก
แต่เป็นการลังเล ตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะเลือกอะไร..
----------------------
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆในแอป blockdit
นอกจากนั้น เรายังเขียนเองได้ และสามารถสร้างรายได้ในนี้
โหลดแอปได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon