ถ้าประเทศไทย ไม่มีเฟซบุ๊ก

ถ้าประเทศไทย ไม่มีเฟซบุ๊ก

ถ้าประเทศไทย ไม่มีเฟซบุ๊ก / โดย ลงทุนแมน
ในเช้าวันนี้ ทุกคนตื่นขึ้นมาพบกับความโกลาหล
เพราะมีข่าว เฟซบุ๊ก ไอจี ล่มหลายชั่วโมง
ใครจะไปคิดว่า “แพลตฟอร์มฝรั่ง” ที่อยู่คู่กับคนไทยมาไม่กี่ปี
จะเป็นสิ่งที่คนไทยขาดไม่ได้ในตอนนี้..
1.77 ล้านล้านบาท คือรายได้ของบริษัทเฟซบุ๊กในปี 2018
ถ้าถามว่าเฟซบุ๊กล่มทั้งโลก 1 วัน รายได้หายไปเท่าไร
คำตอบก็คือ 4,850 ล้านบาท
มูลค่าบริษัทเฟซบุ๊กตอนนี้อยู่ที่ 15.7 ล้านล้านบาท
รายได้เฟซบุ๊กหายไปวันเดียว จะเป็นแค่ 0.03% ของมูลค่าบริษัท..
จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าเราจะไม่เห็น หุ้นเฟซบุ๊กตกหนักเพราะเหตุการณ์นี้
แต่ทั้งหมดนี้อยู่ในความเชื่อที่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว
ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อย เฟซบุ๊กก็อาจหมดความน่าเชื่อถือ ผู้ใช้งานไม่อยากใช้อีกต่อไป
คำถามต่อไปที่น่าสนใจคือ
แล้วถ้าไม่ใช้เฟซบุ๊ก ผู้ใช้งานจะใช้อะไรแทน?
ถ้าประเทศไทย ไม่มีเฟซบุ๊ก วันนั้นประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?
อย่างน้อยคำตอบแรก ก็คือ
เพจต่างๆ ทั้งหมด ในเฟซบุ๊ก จะหายไปในทันที..
ถึงแม้ว่าตอนนี้เฟซบุ๊กจะไม่ได้เสียภาษีใดๆ ให้กับรัฐบาลไทย
เพราะเฟซบุ๊กรับเงินค่าโฆษณาโดยใช้บริษัทเฟซบุ๊กสาขาไอร์แลนด์
ไอร์แลนด์เก็บภาษีเงินได้น้อย เฟซบุ๊กก็เลยใช้บริษัทในประเทศนี้เป็นตัวรับเงิน
อย่างไรก็ตาม
ต้องยอมรับว่าวงจรเศรษฐกิจของเพจเฟซบุ๊กทั้งหมดในประเทศไทยรวมกัน
อาจมีมูลค่ามหาศาลมากกว่าที่เราคิดไว้
เมื่อไม่มีเพจ ก็ไม่มีการเสพเนื้อหาใดๆ ในเฟซบุ๊ก
เราคนไทยก็จะมีเวลาว่างมากขึ้น
ถ้าให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก เสพข้อมูลจากเฟซบุ๊ก เฉลี่ยวันละ 30 นาที
ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในไทยตอนนี้มีประมาณ 50 ล้านคน
แปลว่าเราคนไทยจะมีเวลาที่เป็นอิสระจากหน้าจอเฟซบุ๊ก 1,500 ล้านนาที
แล้วทุกวันนี้เราคนไทย เอา 1,500 ล้านนาทีต่อวัน ไปอยู่กับอะไรบ้าง?
ทั้งหมดนี้ต้องย้อนกลับไปถามระบบเฟซบุ๊กเองว่า
ระบบเฟซบุ๊กเลือกอะไรขึ้นมาแสดงให้เราเห็นใน 1,500 ล้านนาทีดังกล่าว
ถ้าให้แบ่งกลุ่มเนื้อหาที่เรามองเห็น จะมาจาก 2 ทาง คือ
1.เพื่อนของเรา
2.เพจที่เราสนใจ
เมื่อปีที่แล้ว เฟซบุ๊กออกมาบอกว่าจะให้ความสำคัญกับ Meaningful Post ซึ่งระบบจะเลือกโพสต์ หรือเรื่องราวของเพื่อนมาแสดงให้เห็นก่อนเพจ
สรุป 1,500 ล้านนาทีของคนไทย
เกินครึ่งหนึ่ง เราน่าจะอยู่กับการเสพเรื่องราวของเพื่อน
1.วันนี้เพื่อนทำอะไร
2.วันนี้เพื่อนคิดอะไร
3.วันนี้เพื่อนเจอปัญหาอะไร
4.วันนี้เพื่อนมีความสุขกับอะไร
เรื่องของเพื่อนในเฟซบุ๊ก เป็นสิ่งที่เพื่อนอยากนำเสนอ
แต่ประเด็นคือ สิ่งที่เพื่อนอยากนำเสนอ กับ เรื่องจริงของเพื่อน นั้นต่างกัน..
เรื่องนี้กลายเป็นว่าเฟซบุ๊กเป็นสถานที่ที่สร้าง Image หรือภาพลักษณ์ให้แก่ตัวเอง
ไม่มีใครอยากโพสต์รูปที่แสนธรรมดาลงเฟซบุ๊ก เพราะโพสต์ไปก็ไม่มีใครสนใจ
สิ่งที่เป็นตัววัดว่าโพสต์เราประสบความสำเร็จแค่ไหน คือ ยอด Like
และนั่นก็เป็นที่มาของการเฟ้นหา การประดิษฐ์วิธีนำเสนอในรูปแบบที่ “ทุกคนต้องจดจำ”
สำหรับคนที่มีเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง
จะมีอีกคำหนึ่งเพิ่มขึ้นมาที่ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่กว่ายอด Like
นั่นก็คือ ยอด Reach..
ยอด Reach คืออะไร?
เมื่อเรามีเพจ และเราโพสต์ไป 1 ครั้ง ระบบของเฟซบุ๊กจะแสดงว่าโพสต์นั้นมีคนเห็นกี่คน
แล้วจะทำอย่างไรให้ยอด Reach มีจำนวนมาก?
คำตอบก็คือ เราต้องทำอย่างไรก็ได้ให้โพสต์นั้นมีคนสนใจเยอะๆ ไม่ว่าจะเป็นการกด Like กด Share เขียน Comment หรือ กดเข้าไปอ่านต่อ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า Paradox หรือ ความขัดแย้งในตัวเอง..
เพราะในความเป็นจริงคือ
สิ่งดีๆ ที่เราควรจะเห็น อาจไม่จำเป็นต้องมีคนสนใจมาก
และ โพสต์ที่มีคนสนใจมาก อาจไม่ใช่โพสต์ที่ดี เพราะเป็นแค่กระแสสังคม..
เราจำเป็นมากแค่ไหน ที่ต้องรู้ว่ามีกระแสสังคม อะไรเกิดขึ้นในแต่ละวัน?
ถ้าให้ตอบแบบสวยๆ ก็คือไม่จำเป็น
แต่ในความเป็นจริง สัญชาตญาณของมนุษย์ ย่อมอยากรู้เรื่องของสังคม
และนั่นก็เป็นที่มาของโพสต์ที่พยายามปลุกกระแสให้เรามีอารมณ์ร่วมในเรื่องนั้น
ระบบเฟซบุ๊กเห็นตัวเลขดี ก็นำเสนอให้ผู้ใช้งานเห็นเพิ่มขึ้นอีก
เมื่อคนนำเสนอเนื้อหาเห็นตัวเลขดี ก็พยายามทำเนื้อหาแบบนี้ออกมาอีก
จนเรื่องนี้อาจจะเรียกว่า เป็น กับดักของยอด Like และ ยอด Reach
ในโลกนี้ไม่มีผิดหรือถูก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้ความสำคัญอะไร
บางคนคิดว่าเงินเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ทั้งชีวิตของเขาก็มุ่งผลิตแต่เงินเพื่อให้ตัวเลขในบัญชีธนาคารสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
แต่บางคนอาจเห็นเรื่องความสมดุลของชีวิตสำคัญที่สุด
จึงเน้นหาความสุขของชีวิตนอกจากแค่เรื่องเงิน
และ เช่นเดียวกัน ถ้าเรายึดถือยอด Like และ Reach เป็นที่ตั้ง
เราก็จะไม่มีวันเห็นความสำคัญของสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน
ภายใต้ยอด 10,000 Like 1,000,000 Reach นั้นมีอะไรอยู่ข้างใน
ใน Reach 1,000,000 คน
อาจมี 999,990 คนที่มีความสนุกเกิดขึ้น
แต่ในนั้นอาจมีอีก 10 คนที่มีความทุกข์
ถ้ามองภาพรวมเป็นตัวเลขแล้ว ค่าเฉลี่ยของความสนุกก็คงมากกว่าโพสต์ไหนๆ
แต่จะมีใครมองเห็นว่า 10 คนที่มีความทุกข์นั้น ทุกข์มากแค่ไหน?
ขนาดความสนุกเล็กๆ ของคน 999,990 คน อาจเทียบไม่ได้เลยกับความทุกข์ขนาดใหญ่ของคน 10 คน
คำถามที่น่าคิดก็คือ
“ตัวเลข” มีจุดอ่อนแค่ไหน
ที่จะถูกนำมาเป็นกติกาใน Social Network ให้มนุษย์บนโลกนี้ได้ใช้
ความคิดของมนุษย์สามารถกลั่นกรองมาเป็นตัวเลขได้ทั้งหมดหรือไม่..
เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาหาคำตอบและแก้ไข
เพราะในประวัติศาสตร์มนุษย์ 200,000 ปี
มนุษย์ก็เพิ่งจะรู้จัก และอยู่กับมันมาเพียง 15 ปี..
ในวันหนึ่ง วันที่ประเทศไทยไม่มีเฟซบุ๊ก
1,500 ล้านนาทีของคนไทยจะเพิ่มขึ้น
เรื่องราวประดิษฐ์ของเพื่อน และกระแสสังคม จะหายไป
และ มันจะถูกแทนที่ด้วยโลกจริงรอบตัวเรา
แต่วันนั้น ก็คงเป็นแค่ความฝัน..
เพราะในที่สุดแล้ว
ถ้าให้เลือก
เราคนไทย ก็คงจะยินยอมเสีย 1,500 ล้านนาที
ในโลกประดิษฐ์นี้ อยู่ดี..
----------------------
อ่านเรื่อง ผลประกอบการไตรมาสล่าสุดของ Facebook ได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5c52dcc5e0e1ea31ea33a213
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit โหลดได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon