สรุปภาพรวม ธุรกิจโรงกลั่น

สรุปภาพรวม ธุรกิจโรงกลั่น

สรุปภาพรวม ธุรกิจโรงกลั่น / โดย ลงทุนแมน
“ทำไมโรงกลั่นของไทยต้องกำหนดราคาน้ำมันอิงตามราคาตลาดที่สิงคโปร์”
เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยกับคำถามนี้
วันนี้ลงทุนแมนจะมาสรุปภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นให้ฟังแบบง่ายๆ
ปัจจุบัน โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยมีจำนวน 7 แห่ง
ซึ่ง 6 ใน 7 แห่งนั้นเป็นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีรายได้รวมกันกว่า 1.54 ล้านล้านบาท
โรงกลั่นน้ำมันนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1.โรงกลั่นแบบ Simple เป็นโรงกลั่นที่ใช้เทคโนโลยีการกลั่นแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ทำให้ได้น้ำมันที่มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ เช่น น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ในสัดส่วนที่ต่ำ
2.โรงกลั่นแบบ Complex เป็นโรงกลั่นที่สามารถกลั่นน้ำมันซึ่งมีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจสูงกว่าโรงกลั่นแบบ Simple แต่การสร้างโรงกลั่นลักษณะนี้ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงกว่าเช่นกัน
วัตถุดิบที่ใช้กลั่นน้ำมันของโรงกลั่น ก็คือ “น้ำมันดิบ”
ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2561 ประเทศไทยมีการจัดหาน้ำมันดิบเฉลี่ยเท่ากับ 1,097,000 บาร์เรล/วัน
โดย 12% เป็นการจัดหาน้ำมันดิบในประเทศ และ 88% เป็นการจัดหาน้ำมันดิบจากต่างประเทศ
เฉพาะ 88% ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้นมาจาก
ตะวันออกกลาง 55% (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ซาอุดิอาระเบีย, กาตาร์, คูเวต และอื่นๆ)
ตะวันออกไกล 13% (มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, บรูไน และอื่นๆ)
แหล่งอื่นๆ 20% (รัสเซีย, ออสเตรเลีย และอื่นๆ)
มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศไทย
ปี 2559 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ 485,868 ล้านบาท
ปี 2560 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ 626,414 ล้านบาท
ปัจจุบัน โรงกลั่นน้ำมันของประเทศไทยมีอยู่จำนวน 7 แห่งซึ่งเป็นประกอบไปด้วย
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่นน้ำมัน 280,000 บาร์เรล/วัน
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่นน้ำมัน 275,000 บาร์เรล/วัน
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่นน้ำมัน 215,000 บาร์เรล/วัน
บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่นน้ำมัน 165,000 บาร์เรล/วัน
บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่นน้ำมัน 177,000 บาร์เรล/วัน
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่นน้ำมัน 120,000 บาร์เรล/วัน
โรงกลั่นน้ำมันฝาง กำลังการกลั่นน้ำมัน 2,500 บาร์เรล/วัน
เมื่อรวมกำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศไทยทั้งหมดจะได้เท่ากับ 1,234,500 บาร์เรล/วัน
ขณะที่ในช่วง มกราคม ถึง กรกฎาคม 2561 ประเทศไทยใช้น้ำมันในการกลั่น 1,088,000 บาร์เรล/วัน หรือประมาณ 88% ของกำลังการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยทั้งหมด
เมื่อโรงกลั่นน้ำมันกลั่นน้ำมันดิบออกมาแล้วก็จะได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่างๆ เช่น น้ำมันดีเซล, น้ำมันเบนซิน, ก๊าซแอลพีจี, น้ำมันเครื่องบิน, น้ำมันเตา, น้ำมันหล่อลื่น, ยางมะตอย, และสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น
ทั้งนี้ สัดส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอาจจะมีความแตกต่างกันด้วย ขึ้นกับแหล่งน้ำมันดิบที่นำมากลั่น
ปัจจุบัน ยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่ 899,000 บาร์เรล/วัน โดยกลุ่มที่มีสัดส่วนการใช้มากที่สุดคือ น้ำมันดีเซล 46% น้ำมันเบนซิน 21% ก๊าซแอลพีจี 15% น้ำมันเครื่องบิน 14% น้ำมันเตา 4%
ค่าที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไรของโรงกลั่นน้ำมันคือ ค่าการกลั่นรวม (Gross Refining Margin) ซึ่งเกิดจากส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่างๆ ที่โรงกลั่นน้ำมันผลิตได้ และ ต้นทุนรวมต่อการกลั่นน้ำมัน 1 บาร์เรล
ซึ่งส่วนต่างยิ่งมาก หมายถึงค่าการกลั่นยิ่งสูง แสดงว่า โรงกลั่นน้ำมันสามารถทำกำไรได้ดี
ที่ผ่านมาเราอาจได้ยินคำว่า กำไรหรือขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน เรื่องนี้เป็นอย่างไร?
ที่เป็นแบบนี้เพราะกฎหมายของประเทศไทยนั้นได้กำหนดว่าโรงกลั่นน้ำมันต้องเก็บสำรองน้ำมันดิบไม่น้อยกว่า 6% ของปริมาณจำหน่าย
หมายความว่า เมื่อราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น สต็อกน้ำมันดิบที่ซื้อมาเก็บไว้ล่วงหน้าจะมีราคาถูกกว่าราคาตลาดของน้ำมันดิบในปัจจุบัน ทำให้โรงกลั่นน้ำมันมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน
ในทางกลับกัน ถ้าราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง สต็อกน้ำมันดิบที่ซื้อมาเก็บไว้ก่อนหน้าจะมีราคาแพงกว่าราคาตลาดของน้ำมันดิบในปัจจุบัน ทำให้โรงกลั่นน้ำมันขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน
ข้อมูลที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมราคาน้ำมันของโรงกลั่นในประเทศไทยต้องอ้างอิงราคาตลาดจากประเทศสิงคโปร์
ความจริงแล้วเราอิงราคาน้ำมันตลาดโลกในตลาดกลาง ซึ่งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์
ปัจจุบัน ตลาดกลางซื้อขายน้ำมันขนาดใหญ่ของโลกมีทั้งหมด 3 แห่ง คือ
1.New York Mercantile Exchange - NYMEX (ตลาดนิวยอร์ก)
2.International Petroleum Exchange - IPE (ตลาดลอนดอน)
3.Singapore International Monetary Exchange - SIMEX (ตลาดสิงคโปร์)
ซึ่งที่ตลาดสิงคโปร์นั้น มีสำนักงานบริษัทน้ำมันจำนวน 325 บริษัท ที่มีการซื้อขายน้ำมันกันปริมาณมาก ดังนั้น ราคาน้ำมัน จึงถูกกำหนดตามอุปสงค์และอุปทานของกลไกตลาด โรงกลั่นน้ำมันของประเทศไทยจึงใช้ราคาน้ำมันที่เป็นราคากลางของที่นี่อ้างอิงนั่นเอง
ถ้าราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยไม่อิงกับราคาที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันของประเทศไทยมีราคาต่ำกว่าที่ตลาดสิงคโปร์ ก็จะทำให้โรงกลั่นน้ำมันอยากจะส่งออกน้ำมันไปขายที่ตลาดสิงคโปร์จนอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันในประเทศ
หรือถ้าราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันของประเทศไทยมีราคาสูงกว่าที่ตลาดสิงคโปร์ ก็จะทำให้มีการนำเข้าน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์เข้ามาขายในประเทศมาก ทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าน้ำมันจนเกินความจำเป็น
เพราะสินค้าน้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ดังนั้นจะมีราคาตลาดของสินค้านั้น
ดังนั้น การทำความเข้าใจและรู้ถึงที่มาที่ไปของเรื่องเหล่านี้ก็จะช่วยให้ตัวเราเข้าใจภาพรวมของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันได้ดียิ่งขึ้น
ถ้าเราอยากเป็นเจ้าของโรงกลั่นเราสามารถซื้อหุ้นโรงกลั่นเหล่านี้ได้ เพราะโรงกลั่นเกือบทั้งหมดจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดยแต่ละบริษัทมีตัวย่อดังนี้
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) PTTGC ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ปตท. ถือหุ้นอยู่ 48% ในบริษัทนี้
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) TOP ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ปตท. ถือหุ้นอยู่ 48% ในบริษัทนี้
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) IRPC ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ปตท. ถือหุ้นอยู่ 48% ในบริษัทนี้
บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) SPRC ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Chevron ถือหุ้น 60% ในบริษัทนี้
บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ESSO ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ExxonMobil ถือหุ้น 66% ในบริษัทนี้
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) BCP ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ สำนักงานประกันสังคม ถือหุ้น 14% ในบริษัทนี้
ที่น่าสนใจคือ 3 ใน 6 โรงกลั่นจะมีผู้ถือหุ้นใหญ่คนเดียวกันคือ ปตท. ถ้าเราซื้อหุ้น ปตท. ก็อาจจะหมายความว่าเราได้ถือหุ้นโรงกลั่นทางอ้อม 3 โรงด้วยกัน
แต่ก็ต้องหมายเหตุว่าบทความนี้ต้องการบอกข้อมูลภาพรวม ไม่ได้มีเจตนาให้ซื้อหรือขายหุ้นกลุ่มนี้ ทั้งนี้กำไรของโรงกลั่นจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งค่าการกลั่น ต้นทุนน้ำมัน และอุปสงค์อุปทานของตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ต้องศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
----------------------
อัปเดตข่าวน่ารู้ และข้อมูลบริษัททั่วไป ได้ที่แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-7.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon