สงคราม ถั่วเหลือง

สงคราม ถั่วเหลือง

สงคราม ถั่วเหลือง / โดย ลงทุนแมน
“อเมริกาต้องมาก่อน หรือ America First”
เป็นสโลแกนที่ทางโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้หาเสียงในช่วงลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในระหว่างปี 2016
ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อชนะการเลือกตั้ง หนึ่งในสิ่งที่เขาเดินหน้าทำอย่างจริงจังก็คือ การเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ ที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลอย่างมหาศาล
และหนึ่งในนั้นคือ “ประเทศจีน”
แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับถั่วเหลือง?
ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า ในปี 2017
สหรัฐอเมริกามีการส่งออกสินค้ามูลค่ารวมทั้งสิ้น 51.2 ล้านล้านบาท
ขณะที่นำเข้าจากต่างประเทศ 77.2 ล้านล้านบาท
หมายความว่า สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ากว่า 26 ล้านล้านบาท
และประเทศที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ามากที่สุดก็คือ จีน ซึ่งมีจำนวนกว่า 12.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น
48% ของการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา หรือพูดง่ายๆ ว่าครึ่งหนึ่งเกิดจากจีน
เมื่อรวมกับปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าจีน ที่ส่งผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกา จึงทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดศึกสงครามการค้ากับจีนทันที
เริ่มด้วยมาตรการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 1,300 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 1.65 ล้านล้านบาท โดยเน้นไปที่กลุ่มสินค้าที่จีนได้เปรียบทางเทคโนโลยี
แน่นอนว่าจีนก็ไม่ยอม จึงตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาคืน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 106 รายการ มูลค่ารวมกว่า 1.65 ล้านล้านบาท
และนี่คือจุดเริ่มต้นของ “สงครามการค้า”
ซึ่งสินค้าที่จีนประกาศเก็บภาษีนำเข้า รวมไปถึงสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกาและหนึ่งในนั้นคือ ถั่วเหลือง..
ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตถั่วเหลืองทั่วโลกในปี 2016 อยู่ที่ 324.2 ล้านตัน
โดยประเทศที่ผลิตถั่วเหลืองมากที่สุดในโลกคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีปริมาณการผลิต 103.4 ล้านตัน หรือประมาณ 32% ของผลผลิตทั่วโลก
ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ส่งออกถั่วเหลืองมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ของโลก โดยมีสัดส่วนการส่งออกที่ 37% ของปริมาณการส่งออกถั่วเหลืองในตลาดโลก ซึ่งมูลค่าการส่งออกถั่วเหลืองของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2017 เท่ากับ 716,000 ล้านบาท
ในสหรัฐอเมริกานั้นรัฐที่ปลูกถั่วเหลืองมากที่สุดอยู่ที่ รัฐมินนิโซตา รัฐไอโอวา รัฐนอร์ทดาโคตา รัฐอิลลินอยส์ รัฐเนบราสกา และ รัฐอินเดียนา รัฐเหล่านี้จึงเป็นรัฐที่ส่งออกถั่วเหลืองมากที่สุด และเป็นรัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญของโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกัน
ในส่วนของจีนนั้น ในช่วงระหว่างปี 2010 - 2017 การที่มูลค่าเศรษฐกิจมีการเติบโตกว่าเท่าตัวจาก 201 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 403 ล้านล้านบาท ทำให้ชนชั้นกลางจำนวนมากมีฐานะดีขึ้น คนจีนจำนวนมากหันมาบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงทำให้อาหารสัตว์ขายดีตามไปด้วย ส่งผลให้มีความต้องการถั่วเหลืองอย่างมหาศาล เนื่องจากถั่วเหลืองเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้จีนเป็นประเทศที่นำเข้าถั่วเหลืองมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของปริมาณการนำเข้าถั่วเหลืองทั่วโลก
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็สรุปได้ว่า สงครามการค้าในครั้งนี้ จึงเป็นการพบกันระหว่างประเทศที่นำเข้าถั่วเหลืองมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 ของโลกกับประเทศที่ส่งออกถั่วเหลืองมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ของโลก
ดังนั้น พอสงครามการค้าปะทุขึ้นมา การที่จีนได้ตอบโต้สหรัฐอเมริกา ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ตอนนี้ราคาถั่วเหลืองตกต่ำ เพราะเกรงกันว่าความต้องการถั่วเหลืองจากจีนจะลดลงนั่นเอง
สถิติราคาถั่วเหลืองตั้งแต่ปี 2012 - 2017
ปี 2012 ราคาถั่วเหลือง 14.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบูเชล
ปี 2017 ราคาถั่วเหลือง 9.78 ดอลลาร์สหรัฐต่อบูเชล
*บูเชล (Bushel) เป็นมาตราตวงวัดสินค้าประเภท ข้าว, ข้าวโพด, ถั่วเหลือง เทียบเท่ากับ 35.24 ลิตร ในสหรัฐอเมริกา หรือ เทียบเท่ากับ 36.38 ลิตร ในสหราชอาณาจักร
แต่พอเกิดสงครามการค้าขึ้นทุกวันนี้ ราคาถั่วเหลืองในเดือนกันยายน 2561 กลับเหลืองเพียง 8.39 ดอลลาร์สหรัฐต่อบูเชล ซึ่งลงมาเกือบครึ่งหนึ่งของราคาถั่วเหลืองในปี 2012
แน่นอนว่า เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงที่สำคัญของโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย
ก็ไม่รู้ว่า ถ้ามีการสำรวจคะแนนนิยมของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงนี้ กลุ่มเกษตรกรดังกล่าว จะยังนิยมในตัวเขาต่อไปหรือไม่
แต่เราน่าจะรู้คำตอบในเร็วๆ นี้หลังการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งถ้าพรรครีพับลิกันของ โดนัลด์ ทรัมป์ สูญเสียที่นั่งเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากปัญหาราคาถั่วเหลืองก็เป็นได้..
----------------------
หากชอบเรื่องนี้ ติดตามบทความอื่นๆ ของลงทุนแมน ได้ที่แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-7.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon