ผู้สนับสนุน.. BGC บรรจุภัณฑ์หมื่นล้าน

ผู้สนับสนุน.. BGC บรรจุภัณฑ์หมื่นล้าน

ผู้สนับสนุน..
BGC บรรจุภัณฑ์หมื่นล้าน / โดย ลงทุนแมน
หลายคนเลือกซื้อสินค้า ส่วนหนึ่งก็อาจจะดูจากบรรจุภัณฑ์
และรู้หรือไม่ว่า ใครผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วมากที่สุดในไทย
จากรายงานของ GlobalData Plc. พบว่า
บริษัทที่มีการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วมากที่สุดในไทย คือ
“บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC”
และบริษัทนี้กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
เรื่องนี้เป็นอย่างไร เรามาศึกษาไปพร้อมกัน
บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เป็นธุรกิจจัดจำหน่าย ส่งออก และนำเข้าบรรจุภัณฑ์แก้ว รวมถึงการลงทุนในธุรกิจผลิต และจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วผ่านบริษัทย่อยของบริษัทฯ
โดย BGC เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายเดียวในภายใต้บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่างบุญรอดด้วย
มีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า...
ในประเทศไทยมีผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วจำนวน 30 ราย มีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 8,700 ตันต่อวัน
แต่จากรายงานของ GlobalData Plc. ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 พบว่า บริษัทที่เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือ BGC ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 39%
นอกจากนั้น ผู้เล่นรายใหญ่สามอันดับแรกมีกำลังการผลิตรวมกันสูงถึง 89% ของกำลังการผลิตทั้งหมด จึงเห็นได้ชัดว่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้เล่นน้อยราย (Oligopolistic Industry)
และเมื่อดูจากรายงานของ BGC เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2561 พบว่า กำลังการผลิตของ BGC สูงถึง 3,095 ตันต่อวัน โดยการผลิตจากโรงงานใน 4 จังหวัด คือ
AGI จังหวัดอยุธยา มีทั้งหมด 4 เตา กำลังการผลิตรวม 1,620 ตันต่อวัน
KGI จังหวัดขอนแก่น มีทั้งหมด 2 เตา กำลังการผลิตรวม 735 ตันต่อวัน
PTI จังหวัดปทุมธานี มีทั้งหมด 3 เตา กำลังการผลิตรวม 560 ตันต่อวัน
PGI จังหวัดปราจีนบุรี มีทั้งหมด 1 เตา กำลังการผลิตรวม 180 ตันต่อวัน
และภายในปี 2561 นี้ โรงงาน RBI จังหวัดราชบุรี คาดว่าจะเปิดดำเนินการเตาหลอมแก้ว 1 เตา ที่จะทำให้กำลังการผลิตของ BGC เพิ่มขึ้นอีก 400 ตันต่อวัน
แล้วสัดส่วนรายได้รวมของ BGC ครึ่งปี 2561 เป็นอย่างไร?
37.3% เป็น การขายบรรจุภัณฑ์เบียร์
34.6% เป็น การขายบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์
17.5% เป็น การขายบรรจุภัณฑ์ขวดประเภทอื่นและส่งออก เช่น เครื่องดื่มให้พลังงาน สุรา และไวน์
7.1% เป็น การขายบรรจุภัณฑ์อาหาร
1.2% เป็น การขายบรรจุภัณฑ์ยาฆ่าแมลงและยา
1.1% เป็น รายได้จากการขายอื่น ๆ เช่น ค่าขนส่ง ค่าจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์แก้วและอื่น ๆ
และอีก 1.1% คือรายได้อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากบรรจุภัณฑ์ เช่น รายได้จากการขายเศษซาก เป็นต้น
ซึ่งรายได้ของบรรจุภัณฑ์เบียร์ที่มากที่สุด ก็สอดคล้องกับสัดส่วนลูกค้าของ BGC คือ
กลุ่มบุญรอด คิดเป็น 58.5%
ลูกค้ารายอื่น คิดเป็น 41.5%
เมื่อดูงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี และงวด 6 เดือน สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2561 ของบริษัทฯ พบว่า
ปี 2558 รายได้รวม 10,960.7 ล้านบาท กำไรสุทธิ 577.5 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้รวม 10,194.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 617.9 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้รวม 11,221.8 ล้านบาท กำไรสุทธิ 251.9 ล้านบาท
และล่าสุดงวด 6 เดือนแรกของปีนี้มีรายได้รวม 5,120.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 270.1 ล้านบาท
ดูจากตัวเลข หลายคนคงสงสัยว่าทำไมปี 2560 บริษัทฯ ถึงมีกำไรน้อยลง?
สาเหตุเป็นเพราะว่า เมื่อปีที่แล้วต้นทุนจากราคาเศษแก้วและเชื้อเพลิงมีการปรับเพิ่มขึ้น จึงทำให้กำไรลดลง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากกระแสเงินสดย้อนหลัง 3 ปี และงวด 6 เดือน สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2561 ของบริษัทฯ พบว่า
ปี 2558
EBITDA 2,197.8 ล้านบาท
กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน 2,531.7 ล้านบาท
ปี 2559
EBITDA 2,161.2 ล้านบาท
กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน 2,638.3 ล้านบาท
ปี 2560
EBITDA 1,833.4 ล้านบาท
กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน 1,958.8 ล้านบาท
และล่าสุดงวด 6 เดือนแรกของปีนี้มี
EBITDA 1,077.4 ล้านบาท
กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน 1,093.2 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าบริษัทฯ ยังมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เป็นบวกอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ BGC เชื่อว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้ไม่รุนแรงเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ เพราะมีผู้เล่นไม่มากนัก
และในวันที่ 8-10 ตุลาคมนี้ จะมีการเปิดจองซื้อหุ้น BGC โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จำนวนหุ้นที่เสนอขาย 194,444,000 หุ้น
โดยราคาหุ้นละ 10.20 บาท
ซึ่ง BGC ต้องการระดมเงินทุน เพื่อวัตถุประสงค์ 2 อย่าง คือ
1. เพื่อชำระเงินกู้ยืมสำหรับการขยายโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วแห่งใหม่ในจังหวัดราชบุรี
2. เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
หลังจากการเสนอขายหุ้น สัดส่วนการถือหุ้นของ BGC จะเปลี่ยนเป็น
บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วน 72%
บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณ 25.2%
กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของกลุ่มบริษัทฯ 2.8%
ในส่วนของบางกอกกล๊าสนั้น มีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 67.5% เป็นบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
สำหรับ BGC การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างการเติบโต และทำให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แก้วเมืองไทยขยายตัวอย่างไรในอนาคต ก็คงต้องติดตามกันต่อไป..
หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon