สรุปเรื่อง อัตราแลกเปลี่ยน แบบเข้าใจง่ายๆ

สรุปเรื่อง อัตราแลกเปลี่ยน แบบเข้าใจง่ายๆ

17 ก.ย. 2018
สรุปเรื่อง อัตราแลกเปลี่ยน แบบเข้าใจง่ายๆ / โดย ลงทุนแมน
“เงินแข็งขึ้น เงินอ่อนลง”
เราเคยได้ยินกันบ่อย แต่รู้ไหมว่า มันแปลว่าอะไร
เรื่องนี้เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน
ด้วยความที่โลกเรามีการค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้น
จึงหนีไม่พ้นที่ต้องมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง
บางคนก็เข้าใจ แต่ก็มีหลายคนที่อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ
ไม่เป็นไร วันนี้ลงทุนแมนจะมาเล่าเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแบบเข้าใจง่ายๆ ให้ฟัง
คำว่า “อัตราแลกเปลี่ยน” นั้น อธิบายง่ายๆ ก็คือ
มูลค่าของสกุลเงินประเทศหนึ่ง เมื่อเทียบกับสกุลเงินของอีกประเทศหนึ่ง
สมมติว่าให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทอยู่ที่ 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ต่อมาเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนมาอยู่ที่ 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
สังเกตได้ว่าเราใช้จำนวนเงินบาทน้อยลงในการแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ในภาษาการเงิน เราจะเรียกว่าเงินบาท “แข็งค่าขึ้น” นั่นเอง
ในทางตรงกันข้าม ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนมาอยู่ที่ 34 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งเราต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ในภาษาการเงิน ก็จะเรียกว่า เงินบาท “อ่อนค่าลง”
แล้วใครกันที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนของค่าเงิน..คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับเรามองจากมุมไหน
ถ้าเราอยู่แต่ประเทศไทยใช้แต่เงินบาทก็คงได้รับผลกระทบทางอ้อม
แต่คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราแลกเปลี่ยน ก็คงจะเป็นคนที่ต้องติดต่อซื้อขายกับต่างประเทศ นั่นก็คือ ผู้นำเข้า และ ผู้ส่งออก นั่นเอง..
สำหรับผู้นำเข้า
สมมติว่า เราซื้อกระเป๋าจากต่างประเทศใบละ 100 ดอลลาร์ ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจาก 33 บาท ไป 32 บาทต่อ ดอลลาร์สหรัฐ
กรณีนี้เราจะจ่ายเงินซื้อกระเป๋าเพียง 3,200 บาท จากเดิม 3,300 บาท จะเห็นได้ว่าการที่ บาทแข็งขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าได้ประโยชน์ เพราะจ่ายเงินน้อยลง
สำหรับผู้ส่งออก
ถ้าเราเป็นคนขายกระเป๋าไปต่างประเทศ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น เรารับเงินมา 100 ดอลลาร์ แต่เมื่อไปแลกเป็นเงินบาทตอนนี้เราจะได้เงินเพียง 3,200 บาท ไม่ใช่ 3,300 บาท
กรณีนี้ คนขายกระเป๋าในฐานะผู้ส่งออกเสียเปรียบ
สรุปแล้ว “เงินบาทแข็ง” ผู้นำเข้าได้ประโยชน์ แต่ผู้ส่งออกเสียประโยชน์
แต่ถ้า “เงินบาทอ่อน” เรื่องนี้ก็จะกลับกัน คือ ผู้นำเข้าเสียประโยชน์ แต่ผู้ส่งออกได้ประโยชน์
แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นทิศทางไหน ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินไป ทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ก็จะวางแผนการทำธุรกิจได้ยากลำบาก
ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องมีธนาคารแห่งประเทศไทยมาทำหน้าที่ดูแล บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน โดยใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ซึ่งปัจจุบัน มีทั้งหมด 48 สกุล มีเสถียรภาพในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ซึ่งการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง สงคราม อัตราดอกเบี้ย เงินทุนไหลเข้า-ออกจากต่างประเทศ หรือแม้แต่ข่าวลือต่างๆ
สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 (ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2527 - มิถุนายน 2540) เราใช้ ระบบที่ผูกค่าเงินบาทกับเงินสกุลต่างประเทศ
สมัยนั้นค่าเงินบาทถูกกำหนดไว้ที่ประมาณ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
จากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 (เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540) ทำให้ประเทศไทยได้เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed Float) นับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นมา
ตอนนี้ก็ผ่านมาแล้ว 21 ปี นับตั้งแต่ตอนนั้น อัตราแลกเปลี่ยนก็เคลื่อนไหวขึ้นลงตามสถานการณ์แต่ละวัน
การทำความเข้าใจเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะถ้าเรามีการลงทุน ทำธุรกิจหรือธุรกรรมในต่างประเทศ
อย่างน้อยก็ช่วยให้เราเข้าใจและหาวิธีป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้มากขึ้นนั่นเอง..
----------------------
ครั้งแรกของประเทศไทย กับแพลตฟอร์ม #SocialKnowledge ที่เชื่อมโยงความคิดดีๆ ของทุกคนเข้าด้วยกัน แอปพลิเคชันนี้ชื่อ "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-5.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
References
- http://www2.bot.or.th/statistics/Download/FM_FX_001_S3_TH.PDF
-https://www.bbc.com/thai/thailand-40446319
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/FAQ/FAQ_115.pdf
-https://th.wikipedia.org/wiki/วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย_พ.ศ._2540
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.