กรณีศึกษา อาชีพแข่งวินนิ่ง ได้เงินเป็นล้าน

กรณีศึกษา อาชีพแข่งวินนิ่ง ได้เงินเป็นล้าน

6 ก.ย. 2018
กรณีศึกษา อาชีพแข่งวินนิ่ง ได้เงินเป็นล้าน / โดย ลงทุนแมน
“วินนิ่งกันมั้ย?”
ประโยคนี้น่าจะเป็นที่คุ้นเคยกันดีสำหรับผู้ชาย
จากเมื่อก่อนที่เราเล่นวินนิ่งกับเพื่อนจบเป็นครั้งๆ
ใครจะไปคิดว่า มาวันนี้การแข่งวินนิ่ง จะกลายเป็นอาชีพ ที่มีเงินรางวัลเป็นล้าน..
ประวัติศาสตร์ของอาชีพนักกีฬา e-Sports ในประเทศไทยจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการกับเกม PES
PES ย่อมาจาก Pro Evolution Soccer หรือที่เราคุ้นหูกันสมัยก่อนว่า วินนิ่ง กำลังจะถูกจัดแข่งอย่างเป็นทางการในชื่อ Thai E-League Pro
แล้วทำไมต้องเป็นเกมฟุตบอล?
เรื่องนี้อาจเป็นเพราะคนไทยคุ้นเคยกับกีฬาฟุตบอล และตลาดฟุตบอลในประเทศไทยกำลังเติบโตไปในทิศทางที่ดี มีเม็ดเงินลงทุนมากขึ้น
ประกอบกับ PES มีฐานผู้เล่นที่เป็นคนไทยกว่า 5 แสนคน จากผู้เล่นทั้งหมด 11 ล้านคนทั่วโลก
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ การจับมือของพันธมิตรทางธุรกิจจึงเกิดขึ้นระหว่าง..
เจ้าของเกม บริษัท KONAMI
ไทยลีก และสโมสรฟุตบอลในไทยลีก
รวมถึงผู้บริหารจัดการสื่อจากบริษัท Plan B
ถ้ายังจำกันได้หลังจากที่ Plan B ได้เข้าซื้อหุ้นใน BNK48
มาคราวนี้เป็นการเคลื่อนไหวอีกครั้งที่น่าสนใจในการแตกไลน์ไปยังธุรกิจใหม่
อาจเป็นเพราะในยุคสมัยใหม่ที่มีสื่อหลากหลาย สื่อจำเป็นต้องมี engagement หรือการมีส่วนร่วมของผู้ชมมาช่วยด้วย การรับรู้ที่เป็น awareness แบบเดิมอย่างเดียวคงไม่พอในการเพิ่มมูลค่าของแบรนด์ที่จะโฆษณา
จากความร่วมมือครั้งนี้ ส่งผลให้เกม PES 2019 จะบรรจุสโมสรในไทยลีกทั้งหมดเข้าไปในตัวเกม
เรื่องนี้น่าสนใจตรงที่ในระยะยาวก็อาจจะเป็นผลดีต่อสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเอง เพราะจะทำให้ไทยลีกเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปทั่วโลก
ที่น่าสนใจคือสปอนเซอร์บนเสื้อแข่งของทีมต่างๆ ก็จะได้เข้าไปอยู่ในเกม
ทำให้แฟนบอลเข้าถึงนักฟุตบอลที่รักจากการเล่นเกมได้ ไม่ใช่เฉพาะรอดูตอนแข่งอย่างเดียว
เรื่องทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการเพิ่ม engagement
แปลว่าต่อไปในอนาคต สโมสรในไทยลีกจะสามารถมีนักกีฬาได้ 2 ประเภททั้งผู้เล่นฟุตบอลบนสนามหญ้า และ ผู้เล่นฟุตบอลใน e-Sports
ที่น่าสนใจคือ นักกีฬา e-Sports จะสามารถถูกซื้อหรือขายในตลาดได้เหมือนนักกีฬาจริง และมีฐานเงินเดือนที่เหมาะสมรองรับตลอดอาชีพนักกีฬาอีกด้วย
รูปแบบคือการให้เงินสนับสนุนแก่สโมสรเพื่อให้เงินเดือนแก่นักกีฬา โดยเงินสนับสนุนก็มาจากสปอนเซอร์ซึ่ง Plan B มีลูกค้าในมือ และในอนาคตอาจจะมี BNK 48 มาช่วยโปรโมตก็เป็นได้
เรื่องต่อมาคือเงินรางวัล Thai E-League Pro ฤดูกาลแรกจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ โดยมีเงินรางวัลมูลค่ารวม 1 ล้านบาท
จากนั้นจะมีการคัดเลือก 8 ทีมที่ทำผลงานได้ดีที่สุด เพื่อเข้าสู่ฤดูกาลการแข่งขันในปี 2019 ที่มีเงินรางวัลกว่า 3 ล้านบาท
“e-Sports ไม่ใช่กีฬา ไม่มีอนาคต กฎกติกาไม่มั่นคง”
คำพูดเหล่านี้วนเวียนอยู่ในสังคมไทยมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา..
แต่การเติบโตของตลาด e-Sports โดยเฉพาะในประเทศไทยเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย
กระแส e-Sports เป็นที่จับตามองของคนทั่วโลก ทั้งในแง่มุมของผู้เล่นเกม ผู้ผลิตเกมรวมไปถึงกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการเป็นผู้สนับสนุน
เรื่องนี้ทำให้ตลาด e-Sports มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา..
ปี 2012 ธุรกิจ e-Sports มีรายได้รวมทั่วโลก 4,259 ล้านบาท
ปี 2015 ธุรกิจ e-Sports มีรายได้รวมทั่วโลก 10,647 ล้านบาท
และในปีนี้ มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 30,000 ล้านบาท..
รายได้รวม 30,000 ล้านบาทมาจากไหน?
คำตอบคือ..
39% มาจากสปอนเซอร์ชิปหรือแบรนด์ผู้สนับสนุน 11,774 ล้านบาท
19% มาจากค่าโฆษณา 5,694 ล้านบาท
18% มาจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอด 5,265 ล้านบาท
24% มาจากค่าตัวแทนจำหน่าย และตั๋วเข้าชมการแข่งขันรวมกันประมาณ 7,267 ล้านบาท..
ในทำนองเดียวกัน ตัวเลขยอดผู้เข้าชมรายการแข่งขัน e-Sports ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันมีผู้รับชมกว่า 380 ล้านคน แบ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ 165 ล้านคน และผู้ชมตามโอกาสต่างๆ 215 ล้านคน
ที่น่าสนใจคือ สัดส่วนของผู้รับชมที่เป็นแฟนพันธุ์แท้จากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากที่สุดในโลกสูงถึง 87.5 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 53%
แล้วตลาดเกมในประเทศไทยเป็นอย่างไร?
ตลาดเกมใน SEA หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่ารวมกว่า 72,596 ล้านบาท
และ 27% หรือ 19,564 ล้านบาทของตลาดเกม SEA มาจากประเทศไทยซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด..
ประกอบกับ ปัจจุบันในประเทศไทยมีคนเล่นเกม 18.3 ล้านคน แปลว่ารายได้เกมต่อผู้เล่น 1 คนอยู่ที่ 1,069 บาทต่อปี
แปลว่า จริงๆ แล้วตลาดเกมไทยอาจมีผู้เล่นมีฝีมือมากมายที่พร้อมสำหรับการแข่งขันในระดับสูง แต่อาจไม่ได้รับการสนับสนุน หรือมีพื้นที่สำหรับการแสดงทักษะ และฝีมือที่ดีพอ..
เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ..
10 ปีก่อน สมมติว่า เด็กน้อยนามว่า ชนาธิป เล่นวินนิ่งกับเพื่อนเป็นประจำ เด็กคนนี้เก่งมาก เล่นกับใครก็ชนะ สามารถวิเคราะห์รูปแบบของคู่แข่งได้อย่างเฉียบแหลมและปรับแต่งทีมให้เหมาะสมกับสถานการณ์
แต่ในสายตาของผู้ใหญ่ คือ..
เล่นเก่งไปแล้วได้อะไร?
ก็แค่เด็กติดเกมธรรมดาคนหนึ่งใช่ไหม?
แต่ตอนนี้ เด็กน้อยอีกคนที่ชื่นชอบการเล่นเกมวินนิ่ง และมีพรสวรรค์เหมือนกับเด็กชายชนาธิปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว สามารถเซ็นสัญญากับสโมสรในไทยลีกเพื่อเป็นนักกีฬา e-Sports ได้
เรื่องนี้ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนา และค้นหานักกีฬา e-Sports ระดับชาติในเวลาเดียวกัน
ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นการสร้าง ecosystem ของอุตสาหกรรมนี้ให้อยู่ได้ และเรื่องนี้ก็อาจทำให้นักกีฬาจากประเทศไทยได้เหรียญจากการแข่งกีฬานานาชาติประเภทนี้ในอนาคต
รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันมากกว่า 228 สโมสรทั่วโลกที่มีทีม e-Sports เป็นของตัวเอง
สโมสร ปารีส แซงต์ แชร์กแมง จากฝรั่งเศส บุกตลาด e-Sports โดยลงทุนกับทีม DOTA 2 ในจีนอย่าง LGD ที่เพิ่งคว้าอันดับที่ 2 ของรายการระดับโลก The International ที่มีเงินรางวัลรวมกว่า 822 ล้านบาท
สโมสร โรมา จากอิตาลี เซ็นสัญญากับ Fnatic ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนา e-Sports ระดับโลก
สโมสร เวสต์แฮม เป็นสโมสรแรกในเกาะอังกฤษ ที่มีการเซ็นสัญญากับนักกีฬา e-Sports
คุณ Allen ซึ่งเป็นตัวแทนของสโมสร และจะสวมเสื้อสโมสร เวสต์แฮม หมายเลข 50 ในรายการแข่งขันต่างๆ รอบโลก
จากแนวโน้มเชิงบวกที่เกิดขึ้นกับวงการ e-Sports ทั่วโลก
น่าจับตามองว่าการจับมือครั้งสำคัญระหว่าง KONAMI, Plan B และไทยลีก จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของ e-Sports ได้หรือไม่
มุมมองการเติบโตของอาชีพนักกีฬา e-Sports ในครั้งนี้ สิ่งสำคัญคงจะเป็นรากฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น
และถึงตอนนั้นทุกคนอาจยอมรับว่า
นักกีฬา e-Sports ถือว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าจับตาของคนไทยก็เป็นได้..
----------------------
ครั้งแรกของประเทศไทย กับแพลตฟอร์ม #SocialKnowledge ที่เชื่อมโยงความคิดดีๆ ของทุกคนเข้าด้วยกัน แอปพลิเคชันนี้ชื่อ "blockdit" โหลดได้ที่
iOS: https://itunes.apple.com/th/app/blockdit/id1287395706
Android: https://goo.gl/UqTrMp
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-5.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.