แฟลตปลาทอง ตำนานที่ถูกลืม

แฟลตปลาทอง ตำนานที่ถูกลืม

20 ส.ค. 2018
แฟลตปลาทอง ตำนานที่ถูกลืม / โดย ลงทุนแมน
ถ้าใครอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป
คงจะคุ้นกับประโยคที่ว่า
“คุ้มจริงๆ คุ้มจริงๆ ยิ่งกว่าคุ้ม คุ้มทุกสิ่ง คุ้มที่แฟลตปลาทอง”
ซึ่งเป็นโฆษณาที่ชวนให้คนไปจองซื้อแฟลตปลาทองที่พักอาศัยแบบอาคารชุด
โฆษณาชุดนี้นับว่าติดหูคนส่วนใหญ่และโด่งดังมากในสมัยนั้น
เกือบ 30 ปีที่ผ่านไป
ตอนนี้แฟลตปลาทองเป็นยังไงบ้าง? ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
แฟลตปลาทองก่อตั้งโดย บริษัท ปลาทองกะรัต จำกัด ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาพัฒนาโครงการแฟลตปลาทอง บริษัททำธุรกิจผลิตวุ้นเส้นตราปลาทอง และอีกหลายยี่ห้อ โดยอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตวุ้นเส้นมาไม่ต่ำกว่า 50 ปี
ช่วงปี 2530 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยโดยเฉพาะอาคารชุดและโครงการบ้านจัดสรร กำลังคึกคักอย่างมาก
ทำให้คุณพงศกร ญานเบญจวงศ์ เจ้าของบริษัทตั้งใจที่จะสร้างโครงการแฟลตปลาทองขึ้นในปี 2532 บริเวณย่านรังสิตโดยโครงการนี้มีทั้งอาคารพาณิชย์จำนวน 72 ห้อง และแฟลตสำหรับพักอาศัยจำนวน 7,280 ห้อง บริเวณเนื้อที่กว่า 130 ไร่ นับเป็นหนึ่งในโครงการที่ใหญ่มากในสมัยนั้น
แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่า การที่แฟลตปลาทองไปสร้างอยู่แถวรังสิตซึ่งตอนนั้นยังไม่เจริญมากนัก จะประสบความสำเร็จหรือไม่
ต้องยอมรับว่า ในตอนนั้น บริเวณดังกล่าวยังไม่มี หอพัก อะพาร์ตเมนท์ จำนวนมากนัก ขณะที่ทำเลที่ตั้งก็อยู่ไม่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรม นวนคร ที่มีคนทำงาน โดยเฉพาะพนักงานโรงงานไม่ต่ำกว่า 300,000 คน
ราคาเปิดตัวของแฟลตห้องหนึ่งเริ่มต้นที่ 189,000 บาท โดยกลุ่มเป้าหมายที่คุณพงศกรเล็งไว้คือ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยสามารถวางเงินจองเพียงแค่ 5,000 บาท แถมยังวางเงินดาวน์ต่ำและผ่อนน้อย ทำให้คนที่รายได้ไม่กี่พันบาทก็สามารถเป็นเจ้าของห้องได้
จึงไม่แปลกที่โครงการแฟลตปลาทองจะเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก
ในตอนนั้น คุณพงศกรตั้งใจไว้ว่าจะทำให้โครงการนี้เป็นปรากฏการณ์ในวงการอสังหาริมทรัพย์ จึงได้ทุ่มงบโฆษณาผ่านทั้งสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ และรถวิ่งโฆษณาอีกว่า 40-50 คัน ภายใต้งบกว่า 20 ล้านบาท
ในช่วงแรก พื้นที่ส่วนกลาง สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำยังอยู่ในสภาพที่ดี แต่ในเวลาต่อมาโครงการเริ่มมีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
หลังจากนั้นมา ไม่มีใครอยากเป็นคณะกรรมการส่วนกลาง เพื่อมาดูแลความเรียบร้อย ทำให้โครงการไม่มีระเบียบ และการบริหารจัดการที่ดี
สิ่งนี้ยังรวมไปถึงความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย แม้จะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ แต่ก็จะไม่พอทำให้คนแปลกหน้าสามารถเข้าออกกันได้ตามสบาย จนบางครั้งก่อให้เกิดเหตุอาชญากรรมขึ้น ขณะที่หลายตึกก็ถูกทิ้งร้าง เนื่องจากลูกค้าไม่โอน และบางตึกก็สร้างไม่เสร็จ
ทำให้สุดท้าย คุณพงศกร จึงตัดสินใจขายแฟลตปลาทองให้กับกลุ่มซัมมิท ของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น รังสิตซิตี้ ในปัจจุบัน
แม้ทุกอย่างบนโลกใบนี้ จะต้องเสื่อมสภาพและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งเป็นสัจธรรมที่ทุกคนรู้ดี
แต่ก็ต้องยอมรับว่า การที่โครงการถูกปล่อยปละละเลย และขาดระบบการจัดระเบียบที่ดี ทำให้แฟลตปลาทองทรุดโทรมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น จนแข่งขันกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ไม่ได้
ทำให้ปัจจุบัน บริษัท ปลาทองกะรัต จำกัด ได้ล้มละลาย ตั้งแต่ปี 2559
เมื่อมองมาที่ภาพใหญ่ ถ้าเปรียบเสมือนแฟลตปลาทองเป็นประเทศ
เราคงอยากเห็นประเทศของเรามีระบบการบริหารจัดการที่ดี
และที่สำคัญกว่านั้นคือ ลูกบ้านซึ่งก็คือพวกเราทุกคน ต้องร่วมแรงร่วมใจกันดูแลประเทศของเรา
เพื่อทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ และไม่ได้กลายเป็นตำนานที่ถูกลืมอย่างแฟลตปลาทอง..
----------------------
หากชอบเรื่องนี้ ติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ แบบเรียลไทม์ได้ที่แอปพลิเคชันลงทุนแมน เขียนบทความ และบุ๊คมาร์กเรื่องที่ชอบได้แล้ว โหลดฟรีทั้ง iOS และ android blockdit.com/app
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-5.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.