วิกฤติชาเขียว ยังดำเนินต่อไป

วิกฤติชาเขียว ยังดำเนินต่อไป

17 ส.ค. 2018
วิกฤติชาเขียว ยังดำเนินต่อไป / โดย ลงทุนแมน
หนึ่งในตลาดเครื่องดื่มที่ท้าทายที่สุดในขณะนี้
คงไม่พ้นชื่อของ “ชาเขียว”
เพราะนอกจากความนิยมที่ลดลงแล้ว
ยังโดนในเรื่องของภาษีที่เพิ่มเข้ามาอีกด้วย
แล้วบริษัทที่อยู่ในตลาดนี้กำลังปรับตัวไปในทิศทางไหน?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มบริษัทชาเขียว
บริษัท อิชิตัน (ICHI) มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 1,333 ล้านบาท ลดลง 7.4% เมื่อเทียบกับปีทีแล้ว
สาเหตุหลักมาจาก ตลาดชาเขียวภายในประเทศไม่เติบโต
นอกจากนั้น ในเรื่องของภาษีสรรพสามิตและภาษีน้ำตาลก็ยังคงส่งผลกระทบเหมือนกับในไตรมาสก่อน
ทำให้ต้นทุนการขายเพิ่มขึ้นจาก 77% เป็น 84% เมื่อเทียบกับรายได้
และเมื่อเราไปดูที่กำไรสุทธิของบริษัท อิชิตัน จะพบว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้ขาดทุนอยู่ที่ 30.4 ล้านบาท
ถ้าเราลองดูผลกำไรไตรมาสที่ 2 ย้อนหลังในแต่ละปี ของบริษัท อิชิตัน
ปี 2558 กำไร 325 ล้านบาท
ปี 2559 กำไร 142 ล้านบาท
ปี 2560 กำไร 90 ล้านบาท
ปี 2561 ขาดทุน 30 ล้านบาท
เราจะเห็นว่าผลกำไรของบริษัทกำลังถดถอยลงอย่างน่าตกใจ
และถ้าใครเคยสังเกตดูจะพบว่า ในไตรมาสนี้อิชิตันเองก็มีผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างชา Shizuoka ที่จับกลุ่มตลาดชาพรีเมี่ยม แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้บริษัทฟื้นตัวขึ้นมา
แสดงว่า ตลาดชาในประเทศอาจจะกำลังหมดทางออกแล้วจริงๆ
ทีนี้เรามาดู บริษัท โออิชิ (OISHI) ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดชาเขียวเองก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน
ในไตรมาสนี้บริษัทมีรายได้ในหมวดเครื่องดื่ม 1,715 ล้านบาท ลดลง 4% หรือ 72 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ตลาดชาเขียวโดยรวมลดลง
ส่วนกำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 293 ล้านบาทลดลง 28.9%
ถ้าเราลองดูผลกำไรย้อนหลังของบริษัท โออิชิในช่วงเวลาเดียวกัน
ปี 2558 กำไร 189 ล้านบาท
ปี 2559 กำไร 469 ล้านบาท
ปี 2560 กำไร 412 ล้านบาท
ปี 2561 กำไร 293 ล้านบาท
บริษัท โออิชิเองก็มีแนวโน้มของกำไรลดลงไม่แพ้อิชิตันเช่นกัน
แต่โออิชิยังคงมีข้อได้เปรียบในการเป็นผู้นำตลาดประกอบกับตัวบริษัทเองมีธุรกิจที่เป็นร้านอาหารอยู่ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากตลาดเครื่องดื่มลงไปได้
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ถ้าเราสังเกตดีๆ เราจะพบว่า ทั้งสองบริษัทมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน
ซึ่งก็คือ การที่มียอดขายจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
รายได้การส่งออกของบริษัทอิชิตัน และ โออิชิ เติบโตขึ้น
ในขณะที่ความนิยมของตลาดชาในประเทศลดลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในประเทศอื่นจะลดลงไปด้วย
อย่างที่เราเห็นในไตรมาสนี้ ทั้งสองบริษัทพยายามนำยอดขายจากต่างประเทศมาช่วยบรรเทาผลกระทบตลาดในประเทศลง
และถ้าเรามาดูยอดขายโดยประมาณของตลาดชาทั่วโลก
ปี 2015 อยู่ที่ 1,238,000 ล้านบาท
ปี 2016 อยู่ที่ 1,275,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3%
ปี 2017 อยู่ที่ 1,311,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3%
แปลว่าตลาดชาทั่วโลกเองก็ยังคงมีการเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่อง
ในอนาคตถ้าทั้ง 2 บริษัทสามารถทำยอดขายจากตลาดต่างประเทศได้มากขึ้นก็อาจจะทำให้บริษัทรอดพ้นจากวิกฤติตลาดชาในประเทศไปได้
แต่ตอนนี้เราก็คงต้องเอาใจช่วยเหล่าบริษัท อิชิ กันต่อไป..
----------------------
คนดื่มชาเขียวน้อยลง แต่ลงทุนแมนยังคงมีบทความให้อ่าน ติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ แบบเรียลไทม์ได้ที่แอปพลิเคชันลงทุนแมน โหลดฟรีทั้ง iOS และ android blockdit.com/app
.
หนังสือลงทุนแมนให้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-5.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
References
-http://portal.settrade.com/simsImg/news/histri/201808/18072684.pdf
-http://portal.settrade.com/simsImg/news/histri/201808/18074574.pdf
-https://www.statista.com/statistics/326384/global-tea-beverage-market-size/
[9115].
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.