ราเกซ สักเสนา ทำอย่างไรให้มีหนี้ 80,000 ล้านบาท

ราเกซ สักเสนา ทำอย่างไรให้มีหนี้ 80,000 ล้านบาท

7 ส.ค. 2018
ราเกซ สักเสนา ทำอย่างไรให้มีหนี้ 80,000 ล้านบาท / โดย ลงทุนแมน
ในวงการตลาดการเงินของไทย
ช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540
ชื่อของนาย ราเกซ สักเสนา
เป็นที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก
เรียกว่าในยุคนั้น ทุกคนต้องได้ยินชื่อคนนี้
แต่หลายคนก็คงยังไม่ค่อยเข้าใจว่าเขาได้ทำอะไรไปบ้าง
วันนี้ ลงทุนแมนจะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง
นายราเกซ สักเสนา เป็นชาวอินเดีย เกิดเมื่อ 13 กรกฎาคม 2495
จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวรรณกรรม จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้วยเกียรตินิยม
แต่ส่วนตัวเขากลับสนใจงานด้านการเงินมากกว่า
จึงทำให้เขาเริ่มต้นเข้าสู่วงการ ด้วยการเป็นโบรกเกอร์ค้าเงิน
เขาสะสมประสบการณ์ในแวดวงการเงินหลายประเทศ
และเริ่มเข้ามาทำงานในเมืองไทยในปี 2520
โดยทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและการลงทุน
นักเขียนคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงเป็นที่ปรึกษาของหลายบริษัท
หนึ่งในนั้นคือ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ หรือ บีบีซี
ในปี 2532 นายราเกซได้ถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการของธนาคารบีบีซี
การมาของนายราเกซ ทำให้นายเกริกเกียรติ วาดฝันว่าอนาคตของธนาคารบีบีซี จะต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งให้ได้
เพราะช่วงนั้น ธนาคารบีบีซี ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่ม เพื่อหารายได้เข้าสู่ธนาคาร
ขณะที่ต้องแบกรับภาระจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้กำไรของธนาคารแห่งนี้ลดลง จนขาดทุน
ดังนั้น โดยหน้าที่ของนายราเกซ คือเพิ่มรายได้จากการปล่อยสินเชื่อเพื่อเทกโอเวอร์กิจการ โดยเฉพาะกิจการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
โดยขั้นตอนจะเริ่มที่นายราเกซกับพวกจะหาตัวละครมายื่นคำขอกู้เงินจากธนาคารบีบีซี
ซึ่งผู้ที่มากู้อาจจะเป็นเพียงแค่บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนแค่ 1 หมื่นบาท แต่สามารถขอวงเงินกู้จากธนาคารกว่าร้อยล้านหรือแม้แต่พันล้านบาทได้ โดยที่ใช้หลักประกันที่มูลค่าไม่สูงแต่กลับถูกประเมินให้สูงลิ่ว
ขณะที่นายราเกซและพวกจะเข้าไปซื้อหุ้นของกิจการที่จะถูกเทกโอเวอร์ก่อน ทำให้ได้ต้นทุนต่ำกว่าทุกคนตั้งแต่แรก ต่อมากิจการเหล่านี้จะถูกแนะนำให้แก่ผู้กู้เงินเพื่อเข้ามาเทกโอเวอร์
หลังจากผู้กู้ได้เงินมาแล้ว ก็จะนำเงินไปเทกโอเวอร์กิจการเป้าหมาย
เมื่อเทกโอเวอร์ได้ นายราเกซกับพวกก็จะตั้งตัวละครอีกแห่งขึ้นมาซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียนอีกทอดหนึ่ง ในราคาที่สูงขึ้นไปอีก
ทำให้ในช่วงแรกผู้กู้เงินสามารถขายหุ้นมีกำไร และได้เงินไปใช้คืนธนาคาร ธนาคารก็ได้ค่าธรรมเนียมการปล่อยสินเชื่อและเงินกู้คืน
และแน่นอนว่า นายราเกซและพวกก็มีกำไรจากการขายหุ้นของกิจการที่ถูกซื้อด้วยเช่นกัน
ส่วนบริษัทที่ซื้อไปก็สามารถนำหุ้นไปขายต่อในราคาที่สูงขึ้นไปอีก
ในช่วงนั้น มีการเทกโอเวอร์กิจการในตลาดหลักทรัพย์หลายสิบแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่มีธนาคารบีบีซี เป็นผู้สนับสนุนปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัทเหล่านั้น
ดูเหมือนเกมนี้ทุกคนได้ประโยชน์หมด ภายใต้ข้อแม้เดียวคือ ราคาหุ้นต้องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง..
ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้น ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้นที่ GDP เติบโตในระดับ 9-10% ต่อปี
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ช่วงระหว่างปี 2534-2537 ปรับขึ้นจากประมาณ 600 จุด พุ่งไปมากกว่า 1,700 จุด
ทุกอย่างดูเหมือนจะสวยงาม
แต่งานเลี้ยงทุกงานย่อมมีวันเลิกรา..
เมื่อเริ่มมีกระแสเกี่ยวกับการปล่อยกู้อันผิดปกติของธนาคารบีบีซี ประกอบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์เริ่มปรับตัวลดลง
ประชาชนเริ่มขาดความเชื่อมั่นและแห่มาถอนเงินที่ธนาคารบีบีซีกว่า 30,000 ล้านบาท จนขาดสภาพคล่องในการนำเงินไปปล่อยกู้เหมือนอย่างที่ผ่านมา
สุดท้ายเกมนี้จบลงด้วยการที่ธนาคารบีบีซี มีหนี้เสียจำนวนมาก
จนในปี 2539 ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้ามาควบคุม และโอนหนี้เสียของธนาคารเกือบ 80,000 ล้านบาท มาให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ดูแล ก่อนประกาศปิดธนาคารบีบีซี อย่างเป็นทางการในปี 2541
ขณะที่นายราเกซ ได้หนีคดีความไปอยู่ที่แคนาดาตั้งแต่ปี 2539 ก่อนที่ต่อมาจะถูกส่งตัวมาจำคุกที่ประเทศไทยเป็นเวลา 10 ปี พร้อมชดใช้หนี้กว่า 1,132 ล้านบาท
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การล้มของธนาคารบีบีซี ในสมัยนั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจของไทยปี 2540 สถาบันการเงินหลายแห่งต้องปิดตัวลง โดยที่คนไทยกว่า 1.4 ล้านคนต้องตกงาน
แม้เรื่องราวของธนาคารบีบีซี และนายราเกซ จะผ่านมานานแล้ว
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ก็อาจจะวนเวียนกลับมาเกิดขึ้นใหม่ถ้าเราไม่ระวัง
เราควรนำเรื่องนี้มาเป็นบทเรียน
อย่างน้อยก็เพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นกับประเทศของเราอีกในอนาคต
“ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความโลภมากกว่าความกลัว
โลกนี้จะเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจต่อไปไม่รู้จบ” - ลงทุนแมน
----------------------
หนึ่งในความสุข คือการใช้ชีวิตอย่างพอดี แต่บทความเรามีไม่จำกัด
สั่งซื้อหนังสือ ลงทุนแมน 5.0 รอบพิเศษ
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.