มหากาพย์ โอชิน

มหากาพย์ โอชิน

23 มิ.ย. 2018
มหากาพย์ โอชิน / โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่าตั้งแต่ลงทุนแมนเขียนมา
บทความไหนมีเรื่องราวหักมุมมากที่สุด ก็คงเป็นเรื่องนี้
โอชิน.. เป็นซีรีส์ญี่ปุ่นอันโด่งดัง ที่หลายคนน่าจะเคยดู
รู้ไหมว่าร้าน MaxValu ที่เราเห็นในปัจจุบัน ก็เกี่ยวข้องกับคนนี้
ดูเหมือนว่าในละครเรื่องจะ happy ending
แต่ตอนจบของเรื่องจริงอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น..
ขอต้อนรับสู่เรื่อง มหากาพย์ โอชิน
<บทความนี้อยู่ในหนังสือลงทุนแมนเล่ม 4.0 หาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศได้แล้ววันนี้ บทความนี้เป็นการ repost>
ซีรีส์โอชินเป็นละครญี่ปุ่นที่มีมานานแล้ว ออกอากาศที่ญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อ เม.ย. 1983 จนถึง มี.ค. 1984 รวมทั้งสิ้น 297 ตอน ถือเป็นละครที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของวงการโทรทัศน์ญี่ปุ่น ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 53% เรียกได้ว่าติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง ส่วนในไทยก็ไม่รอช้า นำเข้ามาฉายทันที เมื่อปี 1984 และมีรีรันอยู่หลายครั้ง
แต่รู้หรือไม่ว่า บทละครโอชิน สร้างมาจากชีวิตจริงของ นางวาดะ คัตซึ ผู้ที่ฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย จนนำพาร้านขายของชำธรรมดาๆ เติบโตจนกลายเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างค้าปลีก ที่มีสาขาแพร่หลายไปทั่วโลก ชื่อว่า “ห้างเยาฮัน”
ทุกคนคงคุ้นชื่อนี้ว่าเคยอยู่ตรงฟอร์จูนรัชดา แต่ตอนนี้ห้างเยาฮันหายไปไหน?
ก่อนจะตอบคำถามขอเล่าย้อนไปถึงประวัติโอชิน
ตั้งแต่เด็กจนแก่ โอชินต้องสู้กับปัญหามาโดยตลอด เธอเกิดในครอบครัวชาวนายากจน เมื่ออายุ 7 ขวบ ถูกขายให้ไปทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก เพื่อแลกกับข้าวสารเพียงกระสอบเดียวให้ที่บ้านได้กิน
ในการทำงาน เธอต้องถูกเจ้าของร้าน ดุด่า ทำร้ายร่างกาย บ่อยครั้ง สุดท้ายโดนกล่าวหาว่าขโมยเงิน จึงทนไม่ไหว ตัดสินใจหนีกลับมาที่บ้าน มาหางานทำใหม่เพื่อเลี้ยงครอบครัวต่อ เธอถูกชีวิตบังคับให้มีความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก
เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ โอชินยังคงช่วยหาเลี้ยงที่บ้าน โดยเข้าไปอยู่โตเกียว ทำงานที่ร้านทำผม ต่อมาได้แต่งงาน กับสามีที่ทำธุรกิจร้านขายผ้า เมื่อกิจการสามีประสบปัญหา เธอก็ทำงานหนักเพิ่มขึ้น หารายได้ช่วยสามี
ซึ่งในตอนนี้เองโอชินได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง ระหว่างหารือเรื่องทางออกธุรกิจกับสามี โดยเธออยากให้ขายผ้าที่หน้าร้านตัวเองมากกว่า เพราะได้กำไรเยอะกว่า แต่สามีอยากขายส่งให้ห้าง แม้กำไรน้อยกว่า แต่ก็ขายได้แน่ๆ และช่วยให้ร้านอยู่รอดอย่างยั่งยืนกว่า
ผ่านไปกิจการเริ่มรุ่ง สามีจึงคิดการใหญ่ ด้วยการกู้เงินมาขยายโรงงาน ปรากฏว่าไม่นาน โตเกียวเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทั้งบ้านและโรงงาน พังพินาศในวันเดียว
โอชินจึงต้องเริ่มชีวิตใหม่อีกครั้งในต่างจังหวัด โดยเปิดร้านขายปลา ซึ่งก็คือ “ร้านเยาฮัน” นั่นเอง ในตอนแรกไม่สามารถขายได้เลย เพราะทุกคนมีลูกค้าประจำอยู่แล้ว เธอจึงได้ใช้กลยุทธ์ที่จำมาจากสามีคือ ขายถูก เอากำไรแต่พอประมาณ เพื่อให้สินค้าขายได้ ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ไม่ว่ายุคไหน ใครๆ ก็ชอบของถูก
ทุกอย่างเริ่มดำเนินไปด้วยดี แต่ทว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้น ทำให้โอชินต้องสูญเสียคนอันเป็นที่รัก ได้แก่ ลูกชายคนโตที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารและเสียชีวิตในการรบ กับสามีที่ฆ่าตัวตาย หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม เพื่อรับผิดชอบที่ชักชวนคนไปรบจำนวนมาก
มิหนำซ้ำกิจการก็เริ่มไม่แน่นอน ปลาไม่พอขาย เพราะชาวประมงบางส่วนก็ถูกเกณฑ์ไปรบ
โชคชะตาเล่นตลกกับโอชินอีกแล้ว?
ทุกคนสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง
นี่คือความเชื่อของโอชิน ทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิต ได้สอนให้เธอมีความเข้มแข็ง เธอเคยล้มไม่รู้กี่ครั้ง หากเธอสู้กับปัญหา เธอก็มีโอกาสจะชนะมันได้ เหมือนในอดีต โอชินจึงทำร้านขายปลาต่อ คราวนี้เธอต่อยอดด้วยการขายผักและของชำต่างๆ เพิ่ม โดยมีลูกชายคนรองช่วยงาน
ต่อมาลูกชาย เสนอให้ขยายร้านให้ใหญ่ขึ้น โอชินไม่เห็นด้วย เพราะฐานะทางการเงินของร้าน ก็ไม่ได้พร้อมขนาดนั้น แต่เผอิญครอบครัวได้ที่ดินทำเลดีใกล้สถานีรถไฟ โอชินจึงยอมเสี่ยงลงทุนตามข้อเสนอลูกชาย กู้เงินมาลงทุนปรับปรุงร้านบนพื้นที่ใหม่ โดยมีการลองนำเครื่องคิดเงินมาใช้ แต่ยังไม่ทิ้งหลักการเดิม คือ ต้องขายของดี แต่ราคาถูก ถือเป็นต้นแบบของซุปเปอร์มาร์เก็ตยุคแรกๆ ก็ว่าได้
กิจการเยาฮัน ยังคงขายดีมาก เพราะของราคาถูก คราวนี้ลูกชายจึงขอขยายสาขาเพิ่ม แน่นอนว่าโอชินยังไม่เห็นด้วย เพราะต้องกู้เงินโดยเอาทรัพย์สินที่บ้านจำนอง เธอไม่อยากจะสูญเสียทุกอย่างที่สร้างมาไปอีกครั้ง จึงอยากเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ยมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ลูกชายก็ได้แอบไปลงทุนสร้างสาขาเพิ่มอยู่ดี แต่ปรากฏว่าไปได้สวย กิจการเติบโต ครอบครัวเริ่มมีฐานะ วันเวลาผ่านไป โอชินลดบทบาทเป็นที่ปรึกษา ให้ลูกชายบริหารเยาฮันเต็มที่ จนเติบโตขยายไปถึง 16 สาขา
สาขาที่ 17 ถูกวางไว้ว่าจะสร้างให้ใหญ่โต ถึงขนาดที่ไปกู้เงินโดยเอาสาขาอื่นจำนองไว้ แน่นอนว่าโอชินไม่เห็นด้วยเหมือนเดิม แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ และปรากฏว่าครั้งนี้เกิดผิดพลาด ไม่สามารถซื้อที่ดินได้หมด ร้านสร้างไม่เสร็จ เยาฮันเกือบจะล้มละลาย บ้านกำลังจะถูกยึด
แต่สุดท้ายได้เพื่อนโอชิน ช่วยเจรจาหาคนมาซื้อร้านไว้ ถึงไม่ได้ทุนคืนหมด แต่ก็ช่วยเคลียร์หนี้ให้ และครอบครัวยังมีสาขาอื่นให้เริ่มต้นใหม่ การมีพันธมิตรในชีวิตหรือธุรกิจ ที่ช่วยเหลือกันในยามลำบาก ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
เนื้อเรื่องในละครจบเพียงเท่านี้ ซึ่งก็ดูเหมือนจะ happy ending
แต่ไม่มีใครคาดคิดว่า อาณาจักรที่โอชินสร้างมากับมือ จะล่มสลายใน 13 ปีให้หลัง..
หลังจากนั้น กิจการเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง แต่ทายาทของโอชิน ไม่เรียนรู้จากความผิดพลาด ยังคิดขยายกิจการออกไปอย่างรวดเร็ว และเกินตัว โดยใช้กลยุทธ์ สร้างหนี้ใหม่ เพื่อใช้หนี้เก่า กู้เงินมาลงทุนเรื่อยๆ ในจุดสูงสุด เยาฮัน มีสาขาทั้งหมด 450 ใน 16 ประเทศ โดยในไทยก็มีสาขา ตั้งอยู่ที่ฟอร์จูนทาวน์ ตรงถนนรัชดาภิเษกนั่นเอง
และแล้ววันแห่งความพินาศก็มาถึง เมื่อเอเชียเกิดวิกฤติการเงินต้มยำกุ้งขึ้น ในปี 1997 กิจการชะลอตัว เยาฮันไม่สามารถใช้คืนหนี้ได้ ต้องประกาศล้มละลาย ด้วยหนี้สินล้นพ้นถึง 161,000 ล้านเยน (สูงถึง 3.5% ของหนี้ทั้งประเทศญี่ปุ่น)
ต่อมา มีการเปิดเผยว่า เยาฮัน ตกแต่งบัญชีมาตั้งแต่ปี 1986 ที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นใหม่ๆ โดยโยกย้ายผลขาดทุนไปให้บริษัทในเครือที่ต่างประเทศ เพื่อให้เยาฮันโชว์กำไรสูงๆ สามารถจ่ายปันผลได้ดี ดึงดูดนักลงทุน
อย่างไรก็ตาม โอชินก็ไม่ต้องทนเห็นภาพความเจ็บปวดเหล่านี้ เพราะนางวาดะ คัตซึ ตัวจริง เสียชีวิต ในปี 1993 เพียง 4 ปี ก่อนเหตุการณ์เยาฮันล่มสลาย
ต่อมาเยาฮัน ถูกซื้อกิจการไปโดย AEON Group บริษัทห้างค้าปลีกรายใหญ่ของญี่ปุ่น โดยถูกรีแบรนด์ใหม่ มีชื่อว่า MaxValu Tokai ซึ่งยังคงสภาพเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นเดิม ในปัจจุบันมีมากกว่า 500 สาขาในญี่ปุ่น ส่วนในไทยมีอยู่ราว 80 สาขา
ปี 2017 บริษัทมีรายได้ 224,000 ล้านเยน กำไร 2,800 ล้านเยน มีสินทรัพย์ราว 70,000 ล้านเยน
แม้กิจการกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ แต่ครอบครัวโอชิน ก็ไม่เหลือความเกี่ยวข้องอีกต่อไปแล้ว..
-----------------------------------
เรื่องนี้ให้ข้อคิดเราได้หลายเรื่อง
เริ่มจาก ทุกคนสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง วันที่โลกสลายไม่มีอยู่จริง ทุกอย่างมีวิกฤตก็ย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่ในนั้น แค่เราหามันให้เจอ
เรื่องต่อมาก็คงเป็นการทำอะไรเกินตัว อยากได้จนไม่รู้จักพอ เมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่ฝันไว้ มันก็เป็นหายนะ
“คนที่เกิดมามีทุกอย่างครบ ไม่เคยลำบาก เป็นคนที่น่าสงสาร เพราะไม่รู้คุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมีอยู่” เป็นคำพูดของโอชิน ที่น่าจะอธิบายถึงลูกหลานได้ดี พวกเขาไม่พอใจสิ่งที่มีอยู่ และ หลงระเริงกับความสำเร็จ
สุดท้ายก็คงเป็นหลักคิดที่โอชินคอยปลูกฝังลูกอยู่เรื่อยมา หลักคิดนี้เข้าใจง่าย แต่เอาเข้าจริงๆ กลับมีหลายคนที่ยังหลงทางอยู่ รวมถึงลูกของโอชินเอง
ความสุขที่อาศัยเงินทองไม่ใช่ความสุขที่ยั่งยืน การมีชีวิตที่ตนพอใจต่างหาก คือความสุขที่แท้จริง..
----------------------
บทความนี้อยู่ในหนังสือลงทุนแมนเล่ม 4.0
หนังสือลงทุนแมน 4.0 วางแผงแล้ว! หาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศได้แล้ววันนี้
ติดตามเรื่องที่น่าสนใจอื่นๆแบบเรียลไทม์ได้ที่แอปพลิเคชันลงทุนแมน โหลดฟรีทั้ง iOS และ android www.blockdit.com/app
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.