ศุภชัย อัมพุช ผู้ก่อตั้ง เดอะมอลล์

ศุภชัย อัมพุช ผู้ก่อตั้ง เดอะมอลล์

22 มิ.ย. 2018
ศุภชัย อัมพุช ผู้ก่อตั้ง เดอะมอลล์ / โดย ลงทุนแมน
วันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเดอะมอลล์กรุ๊ป
ผู้เป็นเจ้าของศูนย์การค้าชั้นนำมากมายในประเทศ
ไม่ว่าจะเป็น เดอะมอลล์, เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์, บลูพอร์ต หัวหิน และ สยามพารากอน (ร่วมทุนกับ สยามพิวรรธน์)
บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด
ปี 2559 มีรายได้ 24,226 ล้านบาท กำไร 1,130 ล้านบาท
แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าอาณาจักรหมื่นล้านที่ว่านี้เริ่มต้นมาจาก
เด็กเช็กขวดเหล้ากับเงินเพียง 4 แสนบาทเท่านั้น
ลงทุนแมนจะมาเล่าประวัติของเด็กเช็กขวดเหล้าคนนี้ให้ฟังกัน
คุณศุภชัย อัมพุช เป็นลูกคนที่ 5 ของ จักชอง แซ่อื้อ ชาวจีนไหหลำซึ่งอพยพมาประกอบอาชีพอยู่ใน อ. พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์
ครอบครัวอัมพุชถือเป็นครอบครัวที่มีฐานะดีครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่ประกอบธุรกิจค้าฝิ่นซึ่งสมัยนั้นยังถูกกฎหมาย นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพเสริมเป็นตัวแทน (ยี่ปั๊ว) จำหน่ายสุราด้วย
แต่เส้นทางชีวิตของคุณศุภชัยก็มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อคุณศุภชัยต้องเสียมารดาไปในวัย 9 ขวบ ซ้ำร้ายปีต่อมานายจักชอง ก็ถึงแก่กรรมตามผู้เป็นภรรยาไปอย่างไม่คาดคิดทิ้งให้ลูกๆ ต้องดูแลกันเอง
จากการสูญเสียบิดา มารดาไป ภาระในการดูแลครอบครัวจึงตกไปอยู่กับพี่ชายคนโตชื่อ เปี๊ยะฮี อัมพุช และพี่สาวคนที่ 2 อ้วยกี อัมพุช ซึ่งยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ทำให้ครอบครัวอัมพุชในช่วงนั้นค่อนข้างระส่ำระสาย
และเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อพี่ชายคนโตตัดสินใจนำทรัพย์สมบัติทั้งหมดของตระกูลออกขายเพื่อซื้อธนบัตรจีนมาเก็งกำไร
ก่อนที่รัฐบาลจีนประกาศยกเลิกธนบัตรเหล่านั้น จึงทำให้ฐานะของตระกูลอัมพุชตกต่ำลงถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว
แต่โชคร้ายของตระกูลอัมพุชดูจะไม่จบลงง่ายๆ เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งสหกรณ์ และให้สิทธิ์ในการขายเหล้าและฝิ่นถูกผนวกเข้าไปอยู่ในสหกรณ์
ส่งผลให้ตระกูลอัมพุชต้องถอนตัวออกจากธุรกิจฝิ่น และสุราไป
ซึ่งด้วยฐานะที่ยากจนลง ประกอบกับการเกิดขึ้นของสงครามโลกทำให้คุณศุภชัยต้องตัดสินใจละทิ้งถิ่นกำเนิดมาอยู่อาศัยกับพี่สาว และเสี่ยงโชคในกรุงเทพฯ และนี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางชีวิตของคุณศุภชัย อัมพุช
คุณศุภชัยเริ่มบทแรกของการทำมาหากินด้วยการเป็นกรรมกรในโรงเหล้าย่านหัวลำโพง ชื่อ น่ำอา โดยมีหน้าที่ตั้งแต่ขนส่ง จัดเก็บ และตรวจคุณภาพเหล้า
ก่อนที่จะย้ายไปเป็นเสมียนที่ร้านประไพสวัสดิ์ ตัวแทน (agent) เหล้ารายใหญ่ย่านพระโขนงซึ่งถูกอกถูกใจนิสัยใจคอของคุณศุภชัยจึงดึงตัวจาก น่ำอา ให้ไปอยู่ด้วย
ที่นี่เองที่คุณศุภชัยได้โชว์ฝีไม้ลายมือด้วยการคิดสูตรเหล้าใหม่จนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ส่งผลให้คุณศุภชัยได้เลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วจนได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปในวัย 18 ปีเท่านั้น
และแล้วชีวิตของคุณศุภชัยก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อเขาเข้าประตูวิวาห์กับน้องสาวบุญธรรมของเจ้าของร้านซึ่งอายุอ่อนกว่าเขา 1 ปี ในวัย 25 ปี ก่อนจะมีลูกด้วยกันถึง 6 คน
คุณศุภชัย และ ภรรยาจึงย้ายออกจากร้านประไพสวัสดิ์พร้อมกับเงินเก็บ 4 แสนบาทมาตั้งอาณาจักรของตัวเองในวัย 31 ปี ซึ่งถ้าเทียบกับค่าเงินในสมัยนี้ เงิน 4 แสนบาทสมัยนั้นก็น่าจะมีมูลค่าหลายล้านบาทในสมัยนี้
แปลว่าในตอนนั้นคุณศุภชัยน่าจะเก็บสะสมเงินจากการทำงานได้เยอะอยู่เหมือนกัน
ในปี 2502 คุณศุภชัยเซ้งตึกแถว 2 ห้องเชิงสะพานพระโขนงมาทำโต๊ะบิลเลียด โดยใช้ชื่อว่า สมาคมชาวพระโขนง มีโต๊ะบิลเลียดทั้งหมด 5 โต๊ะ
แต่ด้วยภาระที่ต้องรับผิดชอบลูกถึง 6 คน
คุณศุภชัยจึงส่งภรรยาไปเรียนเสริมสวยก่อนจะเซ้งตึกเพิ่มอีกหนึ่งห้องเพื่อให้ภรรยาเปิดร้านเสริมสวยคู่กับการทำโต๊ะบิลเลียด
รวมถึงปล่อยชั้นล่างให้ร้านข้าวต้มเช่าอีกด้วย
นอกจากโต๊ะบิลเลียด ร้านเสริมสวย และปล่อยเช่าแล้วคุณศุภชัยยังไปร่วมลงทุนในกิจการโรงเหล้าที่นครสวรรค์อีกด้วย
แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นกับคุณศุภชัย..
3 ปีหลังจากออกมาเปิดกิจการของตนเอง ภรรยาคุณศุภชัยได้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง
คุณศุภชัยขายหุ้นโรงเหล้าทั้งหมดเพื่อนำมารักษาภรรยาเป็นเงิน 4 แสนบาท
ซึ่งเงิน 4 แสนบาทถือว่าเป็นจำนวนมหาศาลในสมัยนั้น
และโลกนี้มันก็เป็นแบบนี้
ความเศร้ามักจะมาหาเรา และพลัดพรากคนรักให้จากเราไปโดยไม่รู้ตัว
ในที่สุดคุณศุภชัยได้สูญเสียภรรยาไปในปี 2507
หลังจากนั้น
ถึงแม้จะสูญเสียภรรยาไป แต่ชีวิตของคุณศุภชัยก็ต้องดำเนินต่อไป
เขาได้แต่งงานใหม่กับนางพยาบาลซึ่งคอยดูแลภรรยาของเขาในขณะที่ยังมีชีวิต
หลังจากนั้นคุณศุภชัยรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจภาพยนตร์ด้วยการก่อตั้งโรงภาพยนตร์เฉลิมรัตน์ ก่อนจะตะลุยสร้างโรงภาพยนตร์ชั้นสองอีก 5 โรง ในช่วง 5 ปี
แต่คุณศุภชัยทราบดีว่าธุรกิจย่อมมีวันตายประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เขาจึงตัดสินใจไปทุ่มทุนกับการเปิดร้านอาหาร ไนต์คลับ และอาบอบนวด
..และแล้วคุณศุภชัยก็มองเห็นโอกาสอีกครั้ง..
เมื่อเสี่ยโซวเพื่อนของคุณศุภชัยชวนไปพัฒนาที่ดินย่านราชดำริซึ่งเป็นที่ย่านกลางเมือง
ที่แห่งนี้ได้ถูกพัฒนาเป็น เดอะมอลล์ ราชดำริ
และนี่เองคือจุดเริ่มต้นอาณาจักรศูนย์การค้าหมื่นล้าน
ซึ่งขยายสาขาไปทั่วกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากคุณศุภชัย คือ การลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาอย่างไม่หยุดนิ่ง
และที่น่าสังเกตก็คือเมื่อเขาเริ่มรู้สึกว่าธุรกิจที่มีคนทำตาม เขาจะเริ่มมองหาธุรกิจอื่น
เรื่องนี้แตกต่างจาก เจ้าของกิจการ หรือนักลงทุนทั่วไป ที่ไม่ยอมปล่อยมือจากธุรกิจเดิม ถึงแม้รู้ว่าธุรกิจของตัวเองจะมีแนวโน้มที่ไม่ดีแล้ว
การปรับเปลี่ยนธุรกิจไปตามสถานการณ์น่าจะเป็นจุดเด่นของเรื่องนี้
และถ้าเรานำข้อคิดนี้ไปใช้กับตัวเราได้ ก็อาจทำให้เราประสบความสำเร็จได้เหมือนอาณาจักร เดอะมอลล์..
----------------------
<ad> เว็บไซต์คลังบ้าน เว็บที่รวบรวมประกาศขายบ้านของคุณจากการลงประกาศเพียงครั้งเดียว
ประกาศของคุณจะถูกเผยแพร่ในงานมหกรรมบ้านดี เว็บไซต์คลังบ้าน และเพจ Facebook บ้านดี
เข้าถึงตรงกลุ่มเป้าหมายคนหาซื้อบ้านทุกทำเล ในแต่ละจังหวัดด้วยหลากหลายช่องทางทั้งสื่อออนไลน์และสื่อออฟไลน์
ติดต่อ: 094-816-1666 , Website: http://bit.ly/2LZqEWf
----------------------
Reference
-http://info.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=2911
-หนังสือ กลยุทธ์สู่ความร่ำรวยตระกูล "มหาเศรษฐีอาเซียน" – ธนวัฒน์ ทรัพย์ไพบูลย์
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.