กัดดาฟี ผู้นำประเทศที่ต้องหลบในท่อระบายน้ำ

กัดดาฟี ผู้นำประเทศที่ต้องหลบในท่อระบายน้ำ

20 มิ.ย. 2018
กัดดาฟี ผู้นำประเทศที่ต้องหลบในท่อระบายน้ำ / โดย ลงทุนแมน
ชีวิตคนเรา มีจุดสูงสุดก็ย่อมมีจุดต่ำสุด
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน
ไม่เว้นแม้แต่ผู้นำของประเทศ
เส้นทางชีวิตของโมอัมมาร์ กัดดาฟี
อดีตผู้นำของประเทศลิเบียน่าจะสะท้อนให้เราเห็นสัจธรรมชีวิตได้เป็นอย่างดี
เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนไปเมื่อ 104 ปีก่อนสมัยยุคล่าอาณานิคม
อิตาลีได้รวมอาณานิคมต่างๆ ที่ยึดมาได้จาการล่าอาณานิคม และก่อตั้งเป็นดินแดนแอฟริกาเหนือของอิตาลีในปี 1934 ภายใต้ชื่อ “อิตาเลียนลิเบีย” หรือ ลิเบียของอิตาลี
การครอบครองของอิตาลีครั้งนี้ได้ตักตวงผลประโยชน์และทรัพยากรธรรมชาติจากลิเบียไปเป็นจำนวนมาก
ก่อนที่จะปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ลง อาณานิคมลิเบียของอิตาลีได้สิ้นสภาพลงในปี ค.ศ. 1943
หลังจากที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดครอง โดยดินแดนต่างๆ ได้ตกเป็นของสหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส
แต่หลังจากนั้นไม่นานลิเบียก็ได้รับอิสรภาพในอีก 8 ปีถัดมา
จากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้ชาวลิเบียไม่ชอบชาติตะวันตกนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
กัดดาฟีเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้เกิดมาในช่วงรอยต่อของการปลดปล่อยอาณานิคมของลิเบีย
เมื่อเติบโตขึ้น เขาได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยเบงกาซี และได้ไปเรียนการสื่อสารที่ประเทศอังกฤษอยู่ประมาณ 6 เดือน
หลังจากกัดดาฟีกลับมารับราชการเป็นทหารสื่อสารในกองทัพบกได้ไม่นาน
ในวันที่ 2 กันยายน 1969 เขากับพรรคพวกได้ทำการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลระบบกษัตริย์ ไอดริสแห่งลิเบีย
และขึ้นเป็นผู้นำของประเทศลิเบีย
เมื่อได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำเขาก็เริ่มนโยบายการต่อต้านชาติตะวันตกทันที
เช่น การเวนคืนกิจการน้ำมันของชาติตะวันตก และการปิดสำนักงานของสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรในลิเบีย การผลักดันให้สหรัฐฯ และอังกฤษ ถอนทหารที่ประจำอยู่ในลิเบียออกนอกประเทศ
ด้วยมุมมองของคนในประเทศที่ไม่พอใจชาติตะวันตกอยู่แล้วมาเป็นระยะเวลายาวนาน
การกระทำของกัดดาฟีจึงทำให้มีชาวลิเบียหลายๆ คนยกย่องให้เขาเป็นวีรบุรุษเลยทีเดียว
และเพื่อที่จะสู้กับชาติตะวันตกได้อย่างทัดเทียม กัดดาฟีจึงเริ่มมองหาพันธมิตร

เริ่มจากด้านตะวันออกของประเทศลิเบียซึ่งก็คือ ประเทศอียิปต์
กัดดาฟีได้เข้าเจราจากับประธานาธิบดีซาดัตแห่งอียิปต์ด้วยความหวังที่ต้องการจะรวมประเทศลิเบียเข้ากับอียิปต์ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
เมื่ออียิปต์ไม่ร่วมมือด้วย คราวนี้กัดดาฟีจึงหันไปหาด้านตะวันตกของประเทศลิเบียแทน
นั่นก็คือ ประเทศตูนีเซีย แต่ด้วยอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้ความต้องการรวมของลิเบียไม่สำเร็จอีกครั้ง
สุดท้ายเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศก็ไม่มีใครร่วมมือกับลิเบีย
แม้ว่าเพื่อนบ้านจะไม่ร่วมมือ แต่ลิเบียก็มีความสัมพันธ์กับประเทศที่ปกครองระบบสังคมนิยมเหมือนกันแทน
นั่นก็คือ จีน กับ สหภาพโซเวียต
โดยเฉพาะสหภาพโซเวียตที่ช่วยลิเบียหนุนหลัง ในด้านการเมือง การทหาร และการซื้ออาวุธ
การต่อต้านชาติตะวันตกของกัดดาฟีรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ชาติตะวันตกคิดว่าการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งน่าจะมีประเทศลิเบียหนุนหลัง
แต่ทุกครั้งก็ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ
จนกระทั่งเกิดเรื่องก่อวินาศกรรมบนเครื่องบิน
การวางระเบิดเครื่องบิน Pan Am ของสหรัฐอเมริกาเที่ยวบินที่ 103 เหนือเมือง Lockerbie ของประเทศสกอตแลนด์ในปี พ.ศ. 2531 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 270 คน
ปีถัดมาเกิดเหตุวินาศกรรมอีกครั้งบนสายการบิน UTA เที่ยวบินที่ 772 ของฝรั่งเศสที่ไนเจอร์
หลังจากนั้นไม่นาน ทางสหรัฐอเมริกาสืบพบว่าคนร้ายของเหตุการณ์นี้ได้หลบหนีอยู่ในประเทศลิเบีย
จึงต้องการให้ลิเบียส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมาให้สหรัฐอเมริกา
แต่คำตอบที่เกิดขึ้นก็คือ ลิเบียไม่ส่งตัวคนร้ายให้พร้อมกับไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้น
จากจุดนี้เอง สหรัฐอเมริกาจึงไม่พอใจลิเบียเป็นอย่างมาก พร้อมกับคว่ำบาตรลิเบียทันที และพยายามกีดกันไม่ไห้ประเทศอื่นๆ ทำการค้ากับลิเบีย
เศรษฐกิจของลิเบียถอยหลังนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ผ่านมา 15 ปี เมื่อเศรษฐกิจเริ่มแสดงทีท่าว่าจะไปไม่รอด
กัดดาฟีจึงต้องยอมส่งตัวคนร้าย และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้สูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หลังจากนั้นชาติตะวันตกก็เริ่มยอมรับลิเบียมากขึ้น และเริ่มกลับมาค้าขายกันเหมือนเดิม รวมถึงมีการเจริญสัมพันธไมตรีที่ดีขึ้นกว่าในอดีต
แต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องสลดที่กำลังจะเกิดขึ้นไปต่อไป..
เวลาผ่านไป ข่าวคราวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นภายใต้การนำประเทศของกัดดาฟีมีมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือเกี่ยวกับกัดดาฟีที่ได้เงินทุนและอาวุธบางส่วนจากสหรัฐอเมริกาและที่ชัดเจนคือพรรคพวกของกัดดาฟีหลายๆ คนมีฐานะร่ำรวยมากขึ้น
ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสงสัยในการเป็นผู้นำของกัดดาฟีมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้รวมไปถึงการปกครองแบบสังคมนิยมด้วย
จากคำว่า วีรบุรุษจึงค่อยๆ เลือนหายไป และเปลี่ยนเป็นคำว่าบ้าอำนาจแทน
ที่สำคัญคือ ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดช่องว่างนั้นก็เดินมาถึงจุดแตกหัก..
ช่วงต้นปี 2554 มีการชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพในตูนีเซีย ทำให้เกิดการชุมนุมในหลายประเทศตามมา หรือเรียกว่า อาหรับสปริง (Arab Spring)
และลิเบียก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการชุมนุม ฝ่ายต่อต้านต้องการโค่นล้มกัดดาฟีพร้อมกับการประท้วงอย่างรุนแรงจนลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง
ซึ่งทางกัดดาฟีเองก็ไม่ได้อ่อนข้อให้ผู้ประท้วงแต่อย่างใดพร้อมกับการยิงตอบโต้ใส่ผู้ประท้วงทันที
เรื่องนี้จึงเปิดช่องทางให้เหล่าชาติตะวันตกยื่นมือเข้ามาทันที เพราะว่า ประเทศลิเบียมีทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากมาย
ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนี้ ผู้ที่อาสาเข้ามาจัดการก็คือ นาโต้ (NATO) ที่ก่อตั้งโดยสหรัฐอเมริกานั่นเอง
สงครามกลางเมืองลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ และกัดดาฟีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
นาทีสุดท้ายของกัดดาฟี เขาได้หนีหัวซุกหัวซุน หลบซ่อนตัวอยู่ในท่อระบายน้ำ และถูกจับกุมตัวได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตามเขาได้เสียชีวิตลงระหว่างถูกจับกุมตัว ทำให้สิ้นสุดการเป็นผู้นำที่ปกครองประเทศลิเบียมายาวนานถึง 42 ปี
น่าแปลกใจว่าจากบุคคลที่เป็นที่รักของประชาชนมาก่อน
แต่กลับกลายเป็นว่ามีหลายคนไม่ชอบเขาในเวลาต่อมา
เรื่องนี้ทำให้คิดได้ว่า
ชีวิตคนเราสามารถมีวันที่ดีสุด และ แย่ที่สุด ได้เสมอ
เมื่อเราอยู่บนจุดสูงสุด ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่ตรงนั้นได้ตลอด
การกระทำของเรา มีผลต่ออนาคตที่เราจะเป็น
ทุกวันนี้ก่อนที่เราจะตัดสินใจเรื่องอะไรในชีวิต
ก็ควรคิดให้รอบคอบว่าการกระทำของเรา จะต้องรับผิดชอบกับเรื่องไหนบ้างในอนาคต..
เพราะไม่ว่ากัดดาฟีจะยิ่งใหญ่ค้ำฟ้าแค่ไหน
แต่ชีวิตสุดท้าย เขาก็ไปหลบในท่อระบายน้ำได้เหมือนกัน..
----------------------
รู้เรื่องของกัดดาฟีกันแล้ว ติดตามบุคคลน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่
-แอปลงทุนแมน blockdit.com/app
-อินสตาแกรม instagram.com/longtunman
-ทวิตเตอร์ twitter.com/longtunman
-ไลน์ line.me/R/ti/p/%40longtunman
-สติกเกอร์ไลน์ ลงทุนแมน https://line.me/S/sticker/3860154
-หนังสือลงทุนแมน เล่ม 1-3 ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.