สรุปภาษี และ การลดหย่อนภาษี

สรุปภาษี และ การลดหย่อนภาษี

17 มิ.ย. 2018
สรุปภาษี และ การลดหย่อนภาษี / โดย ลงทุนแมน
เร็วๆ นี้มีข่าวผู้โชคดีได้รับรางวัลทองคำมูลค่า 10 ล้านบาท
แต่คนนี้ไม่รู้ว่าเงินรางวัลถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี
เงินที่ได้มาได้ถูกใช้ไปจนหมด
แต่ต่อมา กรมสรรพากรเรียกให้ไปจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาจำนวน 3 ล้านบาท
สรุปเขาไม่มีเงินจ่าย และต้องติดหนี้กรมสรรพากร
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จริงๆแล้วถ้าเราถูกรางวัล เราจะต้องจ่ายภาษี ณ ที่จ่าย 5% ของเงินรางวัล
แต่หลายคนคงไม่รู้ว่าเงินรางวัลที่เราได้ จะต้องนำไปคำนวณภาษีตอนครบปีด้วย เพราะถือว่าเป็นเงินได้บุคคลธรรมดา
ถ้าคำนวณแล้ว ภาษีเงินได้ของเรามากกว่าเงินที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไป เราจะต้องเสียภาษีเพิ่มอีกด้วย
แต่ในข่าว คนที่ถูกรางวัลไม่ได้จ่ายภาษีในปีนั้น เลยทำให้เขาต้องเสียภาษีย้อนหลัง
ทีนี้หลายคนคงสงสัยว่า
การคำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นอย่างไรบ้าง?
กรมสรรพากรกำหนดให้ อัตราภาษีเงินได้เพิ่มเป็นขั้นบันได
ตัวอย่าง คือ
ถ้าทั้งปีเรามีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท เราจะไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่ก็ต้องยื่นให้สรรพากรรับทราบ
ถ้าเรามีรายได้สุทธิมากกว่า ในส่วนที่เกิน 150,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 5%
และถ้าเรามีรายได้สุทธิสูงขึ้นไปอีก ในส่วนที่เกิน 300,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 10%
และอัตราภาษีก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย แปรผันตามรายได้สุทธิของเรา
ยิ่งมีรายได้สุทธิมาก ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราภาษีที่มากขึ้น
ส่วนที่เกิน 500,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 15%
ส่วนที่เกิน 750,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 20%
ส่วนที่เกิน 1,000,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 25%
ส่วนที่เกิน 2,000,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 30%
และสุดท้าย
ส่วนที่เกิน 5,000,000 บาทขึ้นไป เราจะเสียภาษีในอัตรา 35%
หมายความว่าถ้าเราเป็นมหาเศรษฐีของประเทศไทย มีเงินได้ปีละหลายสิบล้านบาท ในส่วนที่เกิน 5 ล้านบาทเราจะต้องเสียภาษีมากถึง 35%
ซึ่งพอดูหลักการนี้แล้ว
ก็พอจะเดาได้ว่าสรรพากรตั้งใจเก็บภาษีจากคนรวยในอัตราที่สูง
ส่วนคนที่มีรายได้ไม่มากเท่าไรก็จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า
ทั้งนี้ก็อาจเป็นเพราะต้องการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม
แต่ประเด็นก็คือ
ถ้าคนธรรมดา ถูกรางวัลสิบล้านบาท เราจะถือว่าเงินรางวัลเป็นเงินได้ของเขาหรือไม่?
ก่อนตอบคำถามนี้ ต้องดูก่อนว่ามีอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นเงินได้ของเรา?
เงินได้มี 8 ประเภท ได้แก่
1. เงินเดือน
2. ค่าจ้างทั่วไป
3. ค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา
4. ดอกเบี้ย เงินปันผล และ กำไรจาก Cryptocurrency
5. ค่าเช่า
6. ค่าวิชาชีพอิสระ
7. ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ
8. เงินได้อื่นๆ ที่ไม่เข้าพวก
ซึ่งเงินรางวัลที่ได้รับจากการชิงโชค ถือว่าเป็น เงินได้ข้อที่ 8
ดังนั้นถ้าเราถูกรางวัล 10 ล้านบาท จะต้องเอาไปรวมกับเงินเดือน หรือรายได้อื่นที่ต้องเสียประจำปีด้วย
นั่นก็เป็นที่มาว่าผู้โชคดีได้รับรางวัลทองคำมูลค่า 10 ล้านบาท ถึงถูกสรรพากรเรียกให้ไปเสียภาษี 3 ล้านบาท
จะมียกเว้นก็แต่ เงินได้จากการถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ไม่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร
แล้วถ้าเรามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง
เราจะทำอะไรได้บ้างที่จะเสียภาษีได้น้อยลง?
นั่นก็เป็นที่มาในการเข้าสู่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ “การลดหย่อนภาษี”
การลดหย่อนภาษีสามารถทำได้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะสรุปได้ดังนี้
1. ปกติแล้วคนทั่วไปจะมีสิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัวได้สูงสุด 60,000 บาท
2. ถ้าเราแต่งงาน และคู่สมรสไม่มีเงินได้ เราสามารถ ลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท
3. ถ้าเรามีลูก เราสามารถลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท
4. ถ้าพ่อแม่เราอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และพ่อแม่มีเงินได้ปีละไม่เกิน 30,000 บาท เราสามารถลดหย่อนภาษีค่าอุปการะได้ คนละ 30,000 บาท
5. ถ้าเรามีการเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ เราสามารถลดหย่อนภาษีค่าอุปการะได้คนละ 60,000 บาท
6. สำหรับคนอยู่ในระบบประกันสังคมก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 9,000 บาท
7. ถ้าเรามีทำประกันชีวิตที่มีอายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
8. ถ้าเรามีทำประกันชีวิตแบบบำนาญ เราสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 200,000 บาท
9. ตอนนี้เบี้ยประกันสุขภาพที่เรามีก็สามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท และถ้ารวมกับเบี้ยประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท
10. ถ้าเราซื้อประกันสุขภาพให้กับพ่อแม่ของเรา ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน สูงสุด 15,000 บาท
11. กองทุน LTF ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับลดหย่อนได้ แต่มีเกณฑ์ว่าเราสามารถซื้อได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ หรือ 500,000 บาท
12. กองทุน RMF กบข. และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีเกณฑ์อยู่ว่าเราสามารถซื้อได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ หรือ 500,000 บาท
13. ถ้าเรามีจ่ายเงินให้กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 13,200 บาท
14. ถ้าเรามีกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนของดอกเบี้ย สามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
15. ถ้าเราบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม จะสามารถลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ก็จะไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
16. เงินบริจาคทั่วไปก็ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่บริจาค ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
17. เราสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท ถ้าเรามีการลงทุนในธุรกิจ Startup ที่จดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 จนถึง 31 ธันวาคม 2562 มีทุนจดทะเบียน 5 ถึง 30 ล้านบาท
หรือ ธุรกิจที่มีรายได้ 80% จากการประกอบธุรกิจที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของ สวทช.
18. ถ้าเรามีการประกอบธุรกิจประเภทที่ 5-8 คือ ค่าเช่า วิชาชีพอิสระ รับเหมา และธุรกิจอื่นๆ ที่มีการจ่ายธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต ในช่วง 1 พ.ย. 2559 - 31 ธ.ค. 2564 สามารถนำค่าธรรมเนียมมาใช้ลดหย่อนได้โดยเงินได้ต้องไม่เกิน 30 ล้านบาท
โดยข้อ 8,12,13 จะต้องรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
นอกจากนี้ ในแต่ละปีก็จะมีนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยเป็นทางเลือกให้ลดหย่อนภาษีเพิ่มมากขึ้น
ในปีนี้ ก็จะเป็น
โครงการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด อย่างค่าที่พัก ค่าทัวร์ ค่าแพคเกจท่องเที่ยว สามารถขอใบกำกับภาษีได้เพื่อมาลดหย่อนได้ทั้งปีไม่เกิน 15,000 บาท
สรุป
เรื่องของภาษีเงินได้เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด
เชื่อว่าหลายคนคงจำรายละเอียดทั้งหมดนี้ไม่ได้
ตัวลงทุนแมนเองก็ยังจำไม่ได้
เซฟบทความนี้ไว้ หรือ แชร์ให้เพื่อน อย่างน้อยข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์กับพวกเราในอนาคต
ทุกคนคงใฝ่ฝันว่าอยากได้เงินมากๆ ในแต่ละปี
การมีเงินได้เป็นเรื่องที่ดี..
แต่ก็อย่าลืมว่า เมื่อได้เงินมากไม่ว่าจะมาจากการทำงาน หรือจากการถูกรางวัล
เราก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นั้นด้วย
และการลดหย่อนภาษีเงินได้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้
เพื่อประโยชน์กับตัวเราเอง และครอบครัวของเราในอนาคต..
----------------------
เรามีรายได้ก็ต้องเสียภาษี แต่ลงทุนแมนอ่านฟรี ไม่มีภาษีนะจ๊ะ
ติดตามบทความลงทุนแมน ได้ที่
-แอปลงทุนแมน blockdit.com/app
-อินสตาแกรม instagram.com/longtunman
-ทวิตเตอร์ twitter.com/longtunman
-ไลน์ line.me/R/ti/p/%40longtunman
-หนังสือลงทุนแมน เล่ม 1-3 ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.