วอลท์ ดิสนีย์ กว่าจะมาเป็นเบอร์หนึ่งในภาพยนตร์

วอลท์ ดิสนีย์ กว่าจะมาเป็นเบอร์หนึ่งในภาพยนตร์

19 พ.ค. 2018
วอลท์ ดิสนีย์ กว่าจะมาเป็นเบอร์หนึ่งในภาพยนตร์ / โดย ลงทุนแมน
ใครจะไปคิดว่าจากเด็กส่งหนังสือพิมพ์ที่เรียนไม่ค่อยเก่ง
และต่อมาเมื่อทำงานก็ต้องถูกไล่ออก
จะกลายมาเป็นผู้ที่ให้กำเนิดหนูที่ชื่อว่า มิกกี้ เมาส์
ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก
และตอนนี้บริษัทของเขา
ได้เป็นบริษัทภาพยนตร์ที่ใหญ่สุดในโลก
ชายคนนี้มีชื่อว่า วอลท์ ดิสนีย์
เรื่องราวของเขาจะเป็นยังไง ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
วอลท์ ดิสนีย์ เกิดในเดือนธันวาคม 1901 ที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา
สมัยที่เขายังเด็กนั้น ดิสนีย์ได้ให้ความสนใจในการวาดภาพ ระบายสีทั้งสีน้ำและสีเทียนอย่างมาก
ต่อมาเมื่อตอนที่เขาอายุ 10 ขวบ เขาต้องตื่นนอนเวลาตี 4 ครึ่งทุกเช้าก่อนไปโรงเรียนเพื่อไปส่งหนังสือพิมพ์ และหลังเลิกเรียนก็ต้องมาส่งหนังสือพิมพ์อีกเช่นกัน
สิ่งนี้ทำให้เขาเหนื่อยและง่วงนอนในเวลาเรียนเป็นประจำ ทำให้ได้คะแนนสอบไม่ดีในหลายวิชา แต่แม้จะเหนื่อย เขาก็ทำหน้าที่นี้กว่า 6 ปีในช่วงระหว่างเรียน
ช่วงกลางปี 1918 ดิสนีย์ซึ่งอยากเข้าร่วมกองทัพอเมริกันต่อสู้กับเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงทำการสมัคร แต่เขาถูกปฏิเสธเนื่องจากอายุน้อยเกินไป
อย่างไรก็ตาม เขาได้มาเป็นคนขับรถให้แก่สภากาชาดอเมริกัน
ซึ่งในเวลาว่าง เขาได้วาดภาพการ์ตูนข้างๆ รถของสภากาชาด และผลงานหลายชิ้นของเขาก็ได้ถูกนำมาตีพิมพ์ในหนังสือของทหารด้วย
ปี 1919 หลังจากปลดประจำการ เขาเริ่มมาสมัครงานโดยเป็นพนักงานฝึกหัดในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง แต่ทำได้ไม่นานนัก ดิสนีย์ได้ถูกปลดออก เนื่องจากบริษัทมีงานน้อยลง ทำให้ไม่มีรายได้ที่จะจ้าง
เรื่องนี้จึงทำให้เขาตัดสินใจตั้งธุรกิจเองโดยรับวาดรูปต่างๆ แต่ก็แทบไม่ค่อยมีลูกค้า จึงไม่มีรายได้
ทำให้เขากลับไปสมัครเป็นพนักงานบริษัทที่ทำหนังโฆษณาอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ เขาได้เรียนรู้เทคนิคในการทำการ์ตูนเคลื่อนไหวหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการ์ตูนเรื่อง อลิซในแดนมหัศจรรย์ (Alice in Wonderland) ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ปี 1923 ดิสนีย์กับพี่ชายได้ตั้ง Disney Brothers Studio‍ ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น The Walt Disney Studios ในเวลาต่อมา
ในปีต่อมา ดิสนีย์ได้สร้างการ์ตูนชื่อ “ออสวอลท์เจ้ากระต่ายที่โชคดี” ซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก และถูกนำมาฉายโดยยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส
แต่ต่อมายูนิเวอร์แซล พิคเจอร์สไม่เพียงแต่นำลิขสิทธิ์ผลงานชิ้นนี้ของเขาไป แต่กลับชักชวนทีมงานที่สร้างการ์ตูนเรื่องนี้ไปร่วมงานกับยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์สอีกด้วย ยกเว้นเพียงดิสนีย์กับเพื่อนสนิทอีกคนหนึ่ง
มาถึงตรงนี้ไม่เพียงแต่ตัวของดิสนีย์เอง แต่หลายคนคงคิดว่าเขาโชคร้ายที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นในชีวิต
อย่างไรก็ตาม ดิสนีย์กับเพื่อนสนิทได้พยายามคิดตัวการ์ตูนขึ้นมาใหม่ ในปี 1928 ขณะที่เขากำลังนั่งอยู่บนขบวนรถไฟ ในหัวของเขามีภาพหนูที่มีหูกลมใหญ่ กางเกงแดงขึ้นมา ทำให้เขาลงมือวาดมันขึ้นและตั้งชื่อว่า “มอร์ติเมอร์”
เมื่อเอากลับไปให้ภรรยาดู ภรรยาของเขารู้สึกว่าน่าจะใช้ชื่ออื่นที่ดีกว่า จึงตั้งชื่อหนูตัวนี้ว่า “มิกกี้ เมาส์”..
หลังจากนั้นก็อย่างที่ทุกคนรู้ ความสำเร็จของมิกกี้ เมาส์ ทำให้เกิดโดนัลด์ ดั๊ก กูฟฟี่ พลูโต ปีเตอร์แพน และสโนไวท์ ตามกันมา รวมไปถึงสวนสนุกที่ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างดิสนีย์แลนด์ จนสร้างความโด่งดังไปทั่วโลก และสร้างรายได้มหาศาลให้แก่เขา
รายได้และกำไรของบริษัท Walt Disney ในปัจจุบัน
ปี 2015 รายได้ 1.67 ล้านล้านบาท กำไร 268,160 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 1.78 ล้านล้านบาท กำไร 299,520 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 1.76 ล้านล้านบาท กำไร 284,800 ล้านบาท
ตอนนี้รายได้ของบริษัท Walt Disney มีส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่งในวงการภาพยนตร์ บริษัทนี้เป็นเจ้าของ ภาพยนตร์และการ์ตูนชื่อดังที่เรารู้จักกันดี เช่น Star Wars, Avenger, Iron Man, Captain America, Frozen, Toy Story, Lion King
เรื่องราวของดิสนีย์ แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเขาจะโชคร้ายจนถูกโกงลิขสิทธิ์การ์ตูนที่เขียนขึ้นมากับมือ
รวมถึงเพื่อนร่วมงานที่ทิ้งเขาไปหาบริษัทอื่น
แต่ถ้าเขาไม่เจอเหตุการณ์นี้ เขาก็อาจจะไม่มีโอกาสได้สร้างตัวการ์ตูนอย่างมิกกี้ เมาส์ และตัวการ์ตูนอื่นๆ ที่จะมาสร้างความสุขให้แก่เราก็เป็นได้
ในชีวิตของเรานั้น
เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราอาจต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา
ไม่แน่เรื่องที่ดูเหมือนโชคร้าย จริงๆ แล้วอาจจะเป็นโชคดีก็ได้
ขอเพียงแค่เราอย่าเพิ่งท้อแท้และล้มเลิกความตั้งใจในการทำสิ่งที่เรารักไปก่อน
เราก็อาจจะประสบความสำเร็จได้เหมือนอย่างวอลท์ ดิสนีย์ นั่นเอง..
----------------------
วอลท์ ดิสนีย์ มีหนูมิกกี้ เมาส์ เรามีหุ่นยนต์ลงทุนแมน
ติดตามบทความของลงทุนแมน ได้ที่
-บล็อกดิท blockdit longtunman.com/app
-อินสตาแกรม instagram.com/longtunman
-ทวิตเตอร์ twitter.com/longtunman
-ไลน์ line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.