จีนกำลังเหมาทุเรียนไทย

จีนกำลังเหมาทุเรียนไทย

20 พ.ค. 2018
จีนกำลังเหมาทุเรียนไทย / โดย ลงทุนแมน
ช่วงนี้เราน่าจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับทุเรียนบ่อยมาก
คนจีนชอบกินทุเรียน
เดือนที่แล้ว แจ็ค หม่า สามารถขายทุเรียนได้ 80,000 ลูกใน 1 นาทีโดยผ่านเว็บไซต์ Tmall ของ Alibaba
พร้อมลงนามตกลงเป็นตัวแทนจำหน่ายทุเรียนหมอนทองกับรัฐบาลไทยเป็นมูลค่า 13,400 ล้านบาท
เมื่อไม่กี่วันนี้ JD.com อีคอมเมิร์ซจากประเทศจีน คู่แข่งคนสำคัญของ อาลีบาบา ประกาศข้อตกลงรับซื้อทุเรียนจากบริษัทไทย
โดยจากเดิมจะรับซื้อปีละ 2,500 ตันเพิ่มเป็น 5,000 ตัน และคาดว่าภายใน 5 ปี จะซื้อเพิ่มทั้งหมดเป็น 250,000 ตันเพิ่มขึ้นมาถึง 100 เท่า
เรื่องนี้น่าจะบอกได้ว่า ความต้องการทุเรียนของประเทศจีนนั้นอยู่ในปริมาณที่สูง
ถ้าเราเคยสังเกต กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทย ส่วนใหญ่แล้วจะเดินตระเวนหาทุเรียนกิน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบที่เป็นผลไม้ หรือแปรรูปแล้ว หรือของหวานก็ยังสามารถขายได้
และเมื่อความต้องการมากกว่าผลผลิตที่มีอยู่
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ราคาทุเรียนที่ผ่านมาโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ราคาเฉลี่ยที่เกษตรกรขายทุเรียนได้ต่อกิโลกรัม
ปี 2558 อยู่ที่ 46.96 บาท
ปี 2559 อยู่ที่ 62.96 บาท
ปี 2560 อยู่ที่ 71.81 บาท
ล่าสุดราคาขยับมาอยู่ที่ประมาณ 105 บาท
ภายในเวลาแค่ 3 ปี ราคาของทุเรียนเติบโตถึง 124 % ราคาพุ่งขึ้นยิ่งกว่าทองคำ
จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม กระแสการขายทุเรียนถึงมาแรง
คนปลูกทุเรียนกำไรขนาดไหน ลองนึกภาพดูง่ายๆ
ถ้าเราสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้เท่ากับเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เมื่อราคาขายเพิ่มขึ้น ตอนนี้คนปลูกทุเรียนจะได้กำไรต่อลูกเพิ่มขึ้นหลายเท่า
นอกจากเรื่องความต้องการของคนจีนที่ทำให้ราคาขยับขึ้นแล้ว
เรื่องระบบ E-commerce เองก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญของการปรับราคาในครั้งนี้
ในสมัยก่อนชาวสวนจะต้องนำทุเรียนไปขายให้กับคนกลางเพราะเราไม่รู้ว่าจะเอาทุเรียนที่เก็บมาไปขายที่ไหน ซึ่งบางครั้งมีการกดราคาค่อนข้างมาก
แต่พอมาเป็น E-commerce เราสามารถติดต่อกับผู้ต้องการซื้อโดยตรงได้สะดวกขึ้น ทำให้ตอนนี้คนปลูกทุเรียนสามารถขายได้ราคาตามความเป็นจริงของตลาดที่รับซื้อ
ทุเรียนสามารถทำกำไรดีขนาดนี้ แล้วทำไมคนจีนไม่ปลูกเอง?
จริงๆ แล้ว ต้องบอกว่าอะไรที่ทำเงิน ก็คงไม่สามารถหลุดรอดสายตาคนจีนไปได้
เมื่อ 2 ปีก่อนอย่างมณฑลไหหลำในจีนเอง ก็พยายามที่จะปลูกทุเรียน
แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปลูกขึ้นแต่ผลไม่ใหญ่ ไม่หอม และรสชาติไม่ดี
คนจีนจึงไม่นิยมบริโภคทุเรียนของประเทศตัวเอง จึงเป็นต้นเหตุของการกว้านซื้อทุเรียนไทยไปขายที่นู่น
แบบนี้เราไปปลูกทุเรียนขายกันดีมั้ย?
แม้ว่าทุเรียนจะสามารถทำราคาได้ดี แต่ถ้าจะเริ่มปลูกทุเรียน เราก็จะต้องคาดการณ์ว่าอนาคตจะยังดีอยู่หรือไม่
เพราะว่าในการปลูกทุเรียนอย่างน้อย 3 ปีแรกเราจะยังไม่ได้รับผลผลิตใดๆ
เมื่อถึงเวลานั้นถ้ามีทุเรียนออกสู่ท้องตลาดเกินความต้องการ ก็อาจจะทำให้ราคาไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวังไว้
อย่างไรก็ตาม
ถ้าใครรู้จัก วอร์เร็น บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดัง ก็น่าจะเคยได้ยินคำว่าธุรกิจที่ดีต้องมีป้อมปราการ
พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ธุรกิจที่ดีต้องมีลักษณะบางอย่างที่จะป้องกันคนเข้ามาทำตาม
เมื่อเราลองนำมาเปรียบเทียบกับธุรกิจทุเรียนแล้ว
น่าจะบอกได้ว่าธุรกิจนี้มีป้อมปราการแบบอ่อนๆ อยู่ นั่นก็คือใช้เวลาปลูกนาน และต้องปลูกในสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมเท่านั้น
แล้วอีก 3 ปีข้างหน้าทุเรียนราคาจะไปอยู่ตรงไหน คงไม่มีใครสามารถตอบได้ชัดเจน
แต่ถ้าคนจีนยังชอบผลไม้ไทยอยู่ ทุเรียนก็น่าจะเป็นราชาของผลไม้ทั้งหมดที่คนจีนชอบ
พอมาถึงตอนนี้ ลงทุนแมนก็เริ่มหิวแล้ว ขอตัวไปกินทุเรียนก่อนนะ..
----------------------
ทุเรียนมีหนาม แต่ลงทุนแมนมีบทความนะจ๊ะ
ติดตามบทความลงทุนแมนต่อได้ที่
-บล็อกดิท blockdit longtunman.com/app
-อินสตาแกรม instagram.com/longtunman
-ทวิตเตอร์ twitter.com/longtunman
-ไลน์ line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.