สรุปใครเป็นเจ้าของ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์

สรุปใครเป็นเจ้าของ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์

22 เม.ย. 2018
สรุปใครเป็นเจ้าของ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ / โดย ลงทุนแมน
ล่าสุดมีข่าวว่าจะปิดซ่อมศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ทำไมถึงต้องมีการปิดซ่อมบำรุง
ใครเป็นเจ้าของศูนย์การประชุมแห่งนี้
เรื่องนี้มีประวัติที่น่าสนใจ
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนที่เราจะไปดูว่าใครเป็นเจ้าของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
คงจะต้องพูดถึงประวัติความเป็นมากันก่อน
ในปี 2532 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมประจำปีของธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ครั้งที่ 46 ที่กรุงเทพมหานคร
เมื่อเป็นดังนี้แล้ว รัฐบาลจึงรีบจัดการสร้างสถานที่รองรับการประชุมที่สำคัญนี้ขึ้นทันที
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จึงได้เริ่มก่อสร้างขึ้น ด้วยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายทำให้เสร็จภายในระยะเวลาเพียง 16 เดือนเท่านั้น
ปี 2534 ศูนย์การประชุมแห่งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามเป็นชื่อของศูนย์การประชุม เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ
ด้วยเหตุนี้เองจึงได้ชื่อว่า ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนในด้านการบริหาร กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ลงนามในสัญญากับ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งนี้
บริษัท เอ็น.ซี.ซี. ทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ แบ่งได้เป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 มีระยะเวลา 4 เดือน (2 ส.ค. 2534 - 30 พ.ย. 2534)
ระยะที่ 2 มีระยะเวลา 5 ปี (1 ธ.ค. 2534 - 30 พ.ย. 2539)
ระยะที่ 3 มีระยะเวลา 29 ปี (ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2539)
ซึ่งในระยะที่ 3 นี้ที่ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันมากมายในเรื่องการขยายสัญญาเช่าให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เป็น 50 ปีในขณะนี้
เรื่องนี้มีอยู่ว่า
ในการต่อสัญญาระยะที่ 3 นี้เอง บริษัท เอ็น.ซี.ซี. จะต้องก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง
ประกอบด้วย โรงแรมระดับ 4 - 5 ดาว ที่จอดรถและพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ และผลประโยชน์ตอบแทนแก่กรมธนารักษ์เป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 3,000 ล้านบาทนับจากวันที่ก่อสร้างเสร็จ
สรุปก็จะเป็นระยะเวลาการก่อสร้าง 4 ปีรวมกับสัญญาเช่าที่เหลืออีก 25 ปี
ทุกอย่างเหมือนจะเรียบร้อยลงตัวดีแต่กลับเกิดปัญหาขึ้น
เนื่องจากที่ดินบริเวณศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ติดปัญหาข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครควบคุมความสูงให้สร้างอาคารไม่เกิน 23 เมตร ทำให้ไม่สามารถสร้างโรงแรมได้
เมื่อเป็นดังนี้แล้ว บริษัทจึงเสนอว่าเมื่อสร้างโรงแรมไม่ได้ขอเป็นการขยายพื้นที่ให้ใหญ่กว่าเดิมแทนและผลประโยชน์ตอบแทนแก่กรมธนารักษ์เป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 5,100 ล้านบาท
แต่แลกกับการที่ต้องปรับอายุสัญญาหลังก่อสร้างเสร็จเพิ่มเป็น 50 ปี
สรุปเปรียบเทียบส่วนที่แตกต่างระหว่าง 2 สัญญา
เดิม
โรงแรมมาตรฐานระดับ 4-5 ดาว จำนวนห้องพักไม่ต่ำกว่า 400 ห้อง สถานที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 3,000 คัน และพื้นที่ซึ่งใช้เพื่อการพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 28,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 2,732 ล้านบาท สัญญาเช่า 25 ปี
หลังแก้ไข
พื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ และที่จอดรถยนต์โดยมีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท สัญญาเช่า 50 ปี
โดยเรื่องนี้ได้เริ่มยื่นตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2543 และผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560
จึงเป็นที่มาของการที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ต้องปิดปรับปรุงเพื่อทำตามสัญญากับกรมธนารักษ์
แล้ว บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ใครเป็นเจ้าของ ?
บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ถือหุ้นโดย บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์
(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของคุณ เจริญ สิริวัฒนภักดี หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ เสี่ยเจริญ
บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด
ปี 2557 รายได้ 570 ล้านบาท กำไร 76 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 665 ล้านบาท กำไร 75 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 731 ล้านบาท กำไร 127 ล้านบาท
หลังปรับปรุง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กับ อิมแพ็ค ใครมีเนื้อที่ใหญ่กว่ากัน ?
ปัจจุบัน อิมแพ็คมีพื้นที่มากกว่า 140,000 ตารางเมตร
ส่วน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร
แสดงว่า ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่เปิดใหม่จะใหญ่ไม่แพ้ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
มาถึงตอนนี้เราน่าจะรู้กันแล้วว่าใครเป็นเจ้าของ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และทำไมถึงต้องปิดซ่อมบำรุง
จากข่าวที่ประกาศออกมาคาดว่าน่าจะปิดซ่อมกินระยะเวลาถึง 3 ปี
ซึ่งน่าจะนานพอที่ทำให้หลายๆ คนต้องคิดถึงสถานที่แห่งนี้กัน..
----------------------
ศูนย์ประชุมสิริกิติ์มีพื้นที่ใช้สอย ลงทุนแมนมีบทความ
ติดตามบทความลงทุนแมน ได้ที่
-blockdit.com
-อินสตาแกรม instagram.com/longtunman
-ทวิตเตอร์ twitter.com/longtunman
-ไลน์ line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
Reference
-http://www.qsncc.co.th/en/
-https://www.isranews.org/isranews-scoop/53570-reportoohhmmm.html
-https://www.prachachat.net/facebook-instant-article/news-84013
-https://www.isranews.org/investigative/investigate-news-person/53536-invesnm-53536.html
-http://content.architect-bkk.com/post-231
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.