<ผู้สนับสนุน> สรุปวิชาลงทุนสำหรับมือใหม่

<ผู้สนับสนุน> สรุปวิชาลงทุนสำหรับมือใหม่

3 พ.ค. 2018
<ผู้สนับสนุน>
สรุปวิชาลงทุนสำหรับมือใหม่ / โดย ลงทุนแมน
ปกติแล้ว ลงทุนแมนจะนำเสนอกรณีศึกษาจากธุรกิจจริง
แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องพื้นฐานการลงทุนเท่าไรนัก
คราวนี้เป็นครั้งแรกที่ลงทุนแมนจะสรุปพื้นฐานการลงทุนทั้งหมด สำหรับนักลงทุนมือใหม่
ถ้าอ่านจบ เราก็น่าจะมีเบสิกที่พร้อมจะก้าวสู่โลกของการลงทุนได้อย่างมั่นใจ..
ถ้าเราเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องการลงทุนเลย เงินที่หามาทั้งชีวิตรู้จักแต่การฝากเงินไว้ในธนาคาร ลองอ่านบทความนี้เผื่อจะได้มุมมองที่กว้างขึ้น
จนถึงตอนนี้ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักเงินเฟ้อ ทุกคนน่าจะรู้ว่าราคาสินค้าแพงขึ้นจากตอนเราเป็นเด็ก และก็จะแพงขึ้นอีกในอนาคต ในอดีตเงินเฟ้อจะอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี ถึงแม้ว่าในระยะหลังเงินเฟ้อจะลดต่ำลงเหลือประมาณ 1% ต่อปี แต่ปัจจุบันเงินฝากธนาคารให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5% ต่อปีซึ่งน้อยกว่าเงินเฟ้อ แปลว่า ถ้าเราฝากธนาคารไปเรื่อยๆ เงินของเราจะซื้อสินค้าได้น้อยลง เพราะราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่า
แล้วจะทำอย่างไรให้เงินเราเพิ่มได้เร็วกว่าราคาสินค้า?
คำตอบที่จะเป็นจุดเริ่มของเรื่องราวทั้งหมด คือ "การลงทุน" ในทรัพย์สินต่างๆ
วันนี้ลงทุนแมนจะมาเล่าเรื่องทรัพย์สิน 4 ประเภท ที่นักลงทุนมือใหม่ทุกคนควรจะรู้
1) เงินฝาก
2) ตราสารหนี้
3) อสังหาริมทรัพย์
4) หุ้น
1) เงินฝาก
ข้อดีของเงินฝากคือ "สภาพคล่อง" เราถอนได้ทุกเวลาที่ต้องการเงินสด แต่ข้อเสียของมันก็คือดอกเบี้ยที่น้อยกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งมีเงินฝากมากไปก็ไม่ดี
เราควรฝากเงินในธนาคารมากเท่าไรถึงเรียกว่าเหมาะสม? ผมคิดว่าคงไม่ได้มีหลักการอะไรตายตัว ทั้งหมดแล้วแต่ความสบายใจของเรา บางคนอาจจะมีหลักการว่าจะฝากเงินธนาคารเป็น 10% ของทรัพย์สินทั้งหมด หรือบางคนอาจบอกว่าฝากเงินเผื่อไว้ให้ใช้จ่ายได้อีก 6 เดือน หรือ 1 ปี ส่วนที่เกินมาจากนี้จะนำไปลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก
แล้วมีทรัพย์สินอะไรที่น่าจะให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากบ้าง?
2) ตราสารหนี้
นักลงทุนมือใหม่อาจจะ งง กับคำศัพท์นี้ อธิบายให้ง่ายๆ ตราสารหนี้คือการที่เราให้เงินคนอื่นยืมโดยที่มีระยะเวลาคืน (นึกภาพว่าคล้ายเงินฝากประจำ หรือ สลากออมสิน)
แล้วใครมายืมเรา?
คนที่ออกตราสารหนี้ได้นั้น ไม่ใช่ว่าเป็นคนทั่วไปจะออกได้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็น รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคาร และบริษัทเอกชน ทีนี้ก็คงจะนึกภาพออกว่าความเสี่ยงของตราสารหนี้ จะขึ้นอยู่กับผู้ที่มายืมเราด้วย
ถ้าเป็นรัฐบาลก็คงปลอดภัย แต่ถ้าเป็นบริษัทที่เน่าๆ มายืมเราก็คงเสี่ยงกว่า ความเสี่ยงของผู้ที่มายืมเรา เขาเรียกกันว่า "เครดิตเรตติ้ง"
ถ้าตราสารหนี้ยังไม่ครบอายุ เราจะไม่ได้เงินต้นคืน ยกเว้นว่าเราจะขายตราสารหนี้ต่อให้นักลงทุนคนอื่นในตลาดรอง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ตลาดรองของตราสารหนี้จะมีแต่นักลงทุนสถาบันที่เป็น ธนาคาร กองทุน หรือ บริษัทหลักทรัพย์ ไม่ได้มีนักลงทุนรายย่อยเหมือนตลาดหุ้น
ดังนั้นถ้าเราต้องการลงทุนในตราสารหนี้ โดยที่จะถอนเมื่อไหร่ก็ได้ เราสามารถลงทุนได้ในกองทุนรวมตราสารหนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าราคาของกองทุนจะเปลี่ยนไปทุกวันตามราคาตลาดตราสารหนี้ในแต่ละวัน ซึ่งก็อาจจะขาดทุนได้เช่นกัน
ตอนนี้ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นให้ผลตอบแทนประมาณ 1%-2% และ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาวให้ผลตอบแทนประมาณ 2-3% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาวซึ่งผันผวนมากกว่า อาจจะให้ผลตอบแทนขาดทุนก็ได้ ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก
ถ้ากองทุนรวมตราสารหนี้ไหนให้ผลตอบแทนมากกว่าตัวเลขดังกล่าว พึงระลึกไว้ว่ากองทุนนั้นอาจจะมีส่วนผสมของตราสารหนี้เอกชนอยู่มาก
3) อสังหาริมทรัพย์
การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะได้รายรับที่สม่ำเสมอ เพราะผู้เช่าต้องจ่ายค่าเช่าให้เราทุกๆเดือน แต่สิ่งสำคัญคือ อสังหาริมทรัพย์นั้นต้องอยู่ในทำเลที่ดี เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้มีผู้เช่าอยู่ตลอด เพราะถ้ามีช่วงเว้นว่าง ก็หมายความว่ารายได้ค่าเช่าจะขาดหายไป
แล้วถ้าเรามีเงินไม่มากถึงขนาดที่จะไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเป็นพันล้าน จะทำอย่างไร?
เราสามารถลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ได้ ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของเงินปันผลจากกองทุนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีทั้งแบบที่เป็น สิทธิการเช่าที่มีกำหนดอายุ (Leasehold) และแบบเป็นเจ้าของไปตลอด (Freehold)
โดยส่วนใหญ่แล้วอัตราผลตอบเทนเงินปันผลจาก อสังหาริมทรัพย์จะมากกว่า ดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ ยกเว้นว่าตราสารหนี้นั้นจะเป็นของบริษัทเอกชนที่เรตติ้งไม่ดี หรือเป็นตราสารหนี้ระยะยาวมากๆ ดอกเบี้ยอาจจะมากพอกัน
ตอนนี้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แบบ Leasehold จะให้ปันผลประมาณ 6% ต่อปี (แต่มีวันหมดอายุ) ซึ่งมากกว่า แบบ Freehold ที่จะให้ปันผลประมาณ 4.5% ต่อปี
แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเงินต้นของเราจะเท่าเดิมไปตลอด ถ้าเราอยากขายคืนกองทุนอสังหาริมทรัพย์เราอาจจะเจอราคาตลาดที่ผันผวนซึ่งทำให้เราขาดทุนได้เช่นกัน และความผันผวนของราคากองทุนอสังหาริมทรัพย์ปกติแล้วจะมากกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้
4.) หุ้น
ทรัพย์สินประเภทสุดท้ายที่มีความหลากหลายของผลตอบแทนมากที่สุด เราสามารถได้กำไรจากหุ้นเป็น 100% หรือเราอาจจะขาดทุนเป็น 100% ได้เช่นกัน
คำว่าหุ้น นั้น ย่อมาจากหุ้นส่วนบริษัท เจ้าของบริษัทจะมาเสนอขายหุ้นให้นักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรก เรียกว่า IPO (Initial Public Offering) หลังจากนั้นผู้ถือหุ้นทุกคนสามารถขายต่อคนอื่นได้ในตลาดรอง ซึ่งเราเรียกว่าตลาดหลักทรัพย์ หรือ ตลาดหุ้น นั่นเอง
กองทุนรวมตราสารทุน ที่บริหารโดยผู้จัดการกองทุนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ลงทุนในหุ้นได้โดยที่เราไม่ต้องจัดการเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าราคากองทุนรวมตราสารทุนที่จะขายคืนนั้น จะมีความผันผวน และมีโอกาสขาดทุนได้มากที่สุดในบรรดากองทุนรวมทุกประเภท
ตลาดหุ้นทุกตัวในตลาดเมื่อนำมารวมกันคำนวณเป็นดัชนี จะเรียกว่า SET INDEX (Stock Exchange of Thailand Index) ถ้ามอง SET INDEX เป็นรายปีจะมีความผันผวนมาก บางปีอาจจะบวกมากถึง 30% หรือ บางปีอาจจะลบ 30% ก็เป็นไปได้ แต่โดยเฉลี่ยแล้วผลตอบแทนจาก SET INDEX จะได้ประมาณ 7-10% ต่อปี
เราไม่รู้หรอกว่าปีไหนตลาดจะดี หรือไม่ดี ดังนั้นการลงทุนในหุ้นควรมองเป็นระยะยาวมากกว่ามองเป็นปีต่อปี
แล้วเราควรลงในทรัพย์สินไหนดี สัดส่วนเท่าไร?
การเลือกจัดสรรเงินไปในทรัพย์สินต่างๆ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Asset Allocation
ซึ่ง Asset Allocation ที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน ไม่ได้มีสูตรตายตัว
บางคนมีอายุน้อย สามารถรับความผันผวนได้มาก หรือลงทุนระยะยาวได้ ก็เลือกลงหุ้น 100% เต็ม
แต่การเลือกลงหุ้น 100% ก็ไม่ใช่การถือหุ้นตัวเดียวทั้ง 100% ของพอร์ต (พอร์ตหมายถึง Portfolio หรือเงินลงทุนของเราทั้งหมด)
เพื่อการกระจายความเสี่ยง อย่างน้อยเราควรมีหุ้น 5 ตัวในพอร์ต แต่ถ้าอยากให้กระจายความเสี่ยงมากขึ้นอีกก็อาจจะมีถึง 10 ตัว หรือ 20 ตัวก็ได้ แต่ถ้ามีมากไปให้ระวังไว้ว่าเราอาจจะเสียเวลาติดตามหุ้นทุกตัวในพอร์ต
การลงทุนในหุ้นต่างประเทศก็ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงอย่างหนึ่ง บางประเทศอาจจะมีกิจการที่ดีเยี่ยมที่หุ้นไทยไม่มี แต่เราก็ต้องเข้าใจในกิจการนั้นจริงๆ เพราะหุ้นต่างประเทศก็มีหุ้นเน่าได้เหมือนกัน
นอกจากหุ้นแล้ว ถ้าเราเอาสินทรัพย์อื่นมาผสมด้วย ก็จะทำให้ความผันผวนของพอร์ตน้อยลงได้
เช่นบางคนมีอายุแล้ว รับความผันผวนได้น้อย ต้องการรายได้ประจำจากเงินปันผลหรือ ดอกเบี้ยมาใช้จ่าย ก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ ตราสารหนี้ เป็นสัดส่วนที่มากขึ้น
แต่ที่ลงทุนแมนไม่แนะนำเลยคือการเก็บเงินทั้งหมด 100% ฝากไว้ในธนาคาร เพราะสุดท้ายแล้วเงินเราจะค่อยๆหายไปเรื่อยๆจากเงินเฟ้อนั่นเอง
ตัวอย่างของ Asset Allocation ที่น่าจะเป็นดังนี้
คนที่รับความผันผวนได้มาก :
หุ้นไทย 60% หุ้นต่างประเทศ 30% เงินฝาก 10%
คนที่รับความผันผวนได้บ้าง :
หุ้นไทย 40% หุ้นต่างประเทศ 20% ตราสารหนี้ 20% กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 10% เงินฝาก 10%
คนที่รับความผันผวนได้น้อย :
หุ้นไทย 20% หุ้นต่างประเทศ 10% ตราสารหนี้ 40% กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 20% เงินฝาก 10%
คนที่รับความผันผวนไม่ได้เลย :
ตราสารหนี้ 60% กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 30% เงินฝาก 10%
บางท่านอาจจะมี Asset Allocation ที่ต่างจากนี้ ขึ้นอยู่กับความสบายใจ และความเข้าใจในสินทรัพย์นั้น
ถ้าเรายังไม่มีความเข้าใจก็อาจจะลงทุนในกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพมาช่วยบริหารการลงทุนให้เรา ซึ่งปัจจุบันกองทุนรวมก็มีให้เลือกครบในทรัพย์สินทุกประเภท โดยที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะจัดสรรเงินไปลงกองทุนรวมในแต่ละประเภทสินทรัพย์เป็นสัดส่วนเท่าไรตามความเสี่ยงที่เรารับได้
เมื่อท่านอ่านจบถึงตรงนี้ ลงทุนแมนเชื่อว่าท่านจะมีความรู้พื้นฐานด้านการลงทุนที่ไม่น้อยหน้าใคร
โปรดส่งต่อให้คนที่ท่านห่วงใย เพื่อให้เขามีความรู้เรื่องนี้มากขึ้น เพราะจริงๆแล้วเรื่องการลงทุนเป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้ตั้งแต่เด็ก แต่ในโรงเรียนกลับไม่มีสอน (น่าแปลกใจจริงๆ)
เพราะการมีอิสรภาพทางการเงิน จะสามารถทำให้เรากล้าทำตามความฝันของเรา และถ้าเราได้ทำในสิ่งต่างๆที่เราอยากทำ ก็น่าจะทำให้เรามีความสุขในชีวิตในที่สุด
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจการลงทุน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้น หรือซื้อกองไหนดี ต้องการคำแนะนำจากผู้รู้ สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเพิ่มเติมได้จากบริการ ทีเอ็มบี แอดไวซ์เซอรี่ (TMB Advisory)
ที่เตรียมกลยุทธ์การลงทุนด้วยกองทุนเด่นที่คัดสรรมาจาก 8 บลจ.ชั้นนำ มาให้เลือกลงทุน
เลือกรับข่าวสารการลงทุนดีๆ ได้ฟรี! อีกเพียบ เพียงลงทะเบียนที่
https://tmbbank.com/LM/TMBADVISORY/RG
หรือ ถ้ากำลังมองหาคำแนะนำ ฟรี แบบไม่มีค่าใช้จ่าย นัดหมายใช้บริการ TMB Advisory Room ที่ปรึกษาส่วนตัวด้านการลงทุนได้ที่ https://tmbbank.com/LM/TMBADVISORY
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.