กรณีศึกษา กระแสเฟอร์บี้

กรณีศึกษา กระแสเฟอร์บี้

15 เม.ย. 2018
กรณีศึกษา กระแสเฟอร์บี้ / โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงว่าวันหยุดสงกรานต์ที่เราแฮปปี้กำลังจบลง
ทำให้นึกถึงเรื่องนึงที่เคยฮิตและได้จบลงเช่นกัน
เฟอร์บี้ สัตว์เลี้ยงหุ่นยนต์
ตาโตๆ หน้าตาคล้ายนกฮูก
เราน่าจะเคยรู้จักกัน
เคยนิยมกันอยู่ช่วงหนึ่ง
แล้วตอนนี้เจ้าเฟอร์บี้หายไปไหน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในปี 1998 บริษัท Tiger Electronics (ภายหลังได้ถูกรวมกิจการเข้ากับ Hasbro ในปลายปี) ได้เปิดตัวของเล่นใหม่ที่ถือว่าแปลกใหม่ในสมัยนั้นมาก
นั้นก็คือ เฟอร์บี้ สัตว์เลี้ยงหุ่นยนต์เสมือนจริง
เฟอร์บี้ มีต้นแบบมาจากสัตว์ที่มีหน้าตาคล้ายนกฮูก
ด้วยความที่สัตว์เลี้ยงหุ่นยนต์ในสมัยนั้นยังไม่มีให้เห็นมากนัก
แรกเริ่มในประเทศสหรัฐอเมริการาคาขายอยู่ที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,000 บาท
พอเวลาผ่านไปเฟอร์บี้ขายดีอย่างไม่น่าเชื่อจนผลิตไม่ทันทำให้ราคาพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว
ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเฟอร์บี้ราคาพุ่งขึ้นสูงจนมาอยู่ที่สูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ
บางรุ่นที่มีหน้าตาโดดเด่นถึงกับขายผ่านทางหนังสือพิมพ์และเปิดประมูลในราคา 300 ดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งยอดขายกลายเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ
ปี 1998 ยอดขาย 1.8 ล้านตัว
ปี 1999 ยอดขาย 14 ล้านตัว
ปี 2000 ยอดขายมากกว่า 24.2 ล้านตัว
เพียงแค่ 3 ปียอดขายรวมมากกว่า 40 ล้านตัว
แปลว่าบริษัทจะสามารถทำเงินได้มากกว่า 1,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท
แต่หลังจากนั้นไม่นานเฟอร์บี้ก็ค่อยๆ เลือนหายไป
สาเหตุหลักมาจาก การสื่อสารระหว่างผู้ใช้กับเฟอร์บี้ เนื่องจากทางผู้สร้างเฟอร์บี้เองได้มีการสร้างภาษาเฉพาะเฟอร์บี้ขึ้นมา
นั่นก็คือ ภาษาเฟอร์บิช (furbish) ซึ่งในการสื่อสารทุกครั้งเราแทบจะต้องเปิดคู่มือดูว่าออกเสียงแบบนี้หมายความว่าอย่างไร
ซึ่งทำให้คนเล่นไม่ชอบกันซักเท่าไหร่
จุดประสงค์ของภาษานี้จริงๆ แล้วน่าจะเป็นการสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับสินค้า
แต่ไม่น่าเชื่อว่าจะกลายมาเป็นปัญหาได้
จนกระทั้งในปี 2005 Hasbro ได้ออกเฟอร์บี้รุ่นใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ในรุ่นนี้ได้มีการปรับปรุงโดยตาจะสามารถเรืองแสงได้และมีเซ็นเซอร์ติดอยู่รอบตัวของเฟอร์บี้มากขึ้น
รวมถึงเรื่องการพัฒนาภาษาที่เป็นปัญหาหลักของเฟอร์บี้ด้วย
ปี 2013 Hasbro ได้ออกเฟอร์บี้มาในรูปแบบหลากสี ทำให้กระแสกลับมาอีกครั้งแต่ก็ไม่เท่าสมัยก่อน
สำหรับประเทศไทย กับ เฟอร์บี้
ในปีเดียวกันกับที่ Hasbro ออกเฟอร์บี้มาหลายสี ดาราไทยหลายๆ คนได้มีการนำเฟอร์บี้ถ่ายรูปขึ้นโซเชียลมีเดียกันมากมาย
ไม่เพียงแต่การมีหลากสี แต่ที่ไทยยังมีการแต่งตัวให้เฟอร์บี้เพิ่มเติมอีก ซึ่งเป็นสีสันไม่น้อย
ซึ่งอาจพูดได้ว่า ถ้าใครไม่มีเฟอร์บี้น่าจะตกเทรนด์กันเลยทีเดียว
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เฟอร์บี้ก็ค่อยๆ เลือนลางหายไป
เรื่องนี้บอกอะไรให้กับเรา
สินค้าบางประเภทจะมีอายุความนิยมของมัน
ในบางครั้งเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมว่ากระแสจะเกิดขึ้นชั่วคราว
ถ้าเราซื้อสินค้านี้เป็นจำนวนมากเพื่อมาขายทำกำไร
ในวันที่ความนิยมเปลี่ยนไป เราก็อาจจะขายไม่ออก
การมองให้ออกว่าสินค้าไหนเป็นเรื่องชั่วคราวหรือไม่ เป็นทักษะพื้นฐานที่นักลงทุนทั่วไปควรจะมี
แล้วตอนนี้สินค้าอะไรที่เป็นกระแสอยู่บ้าง?
เมื่อไรที่เราเจอเรื่องแบบนี้ ให้เตือนตัวเองไว้ว่าสินค้านั้นอาจจะเป็นเหมือนเฟอร์บี้ก็เป็นได้..
----------------------
<ad> ติดตามเรื่องราวของหุ่นยนต์เฟอร์บี้กันแล้ว ติดตามบทความของหุ่นยนต์ลงทุนแมนกันต่อได้ที่ แอปลงทุนแมน https://www.longtunman.com/app, instagram, twitter, youtube, line โดยค้นหา ไอดีชื่อ longtunman ในแพลตฟอร์มนั้น
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.