แอร์พอร์ต ลิงก์ มีปัญหาอะไร?

แอร์พอร์ต ลิงก์ มีปัญหาอะไร?

30 มี.ค. 2018
แอร์พอร์ต ลิงก์ มีปัญหาอะไร? / โดย ลงทุนแมน
วันที่ 29 มีนาคม 2561
มีการประกาศจาก แอร์พอร์ต ลิงก์ ว่า
การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดให้บริการรถไฟดีเซลราง
เพื่อเป็นอีกตัวเลือกในเวลาเร่งด่วน
พอเห็นประกาศนี้
หลายคนคงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับ แอร์พอร์ต ลิงก์
เรื่องนี้เป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
เมื่อปี 2547 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับอนุมัติให้สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการ ระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ และสถานีขนส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Suvarnabhumi Airport Rail Link and City Air Terminal)
โครงการนี้อำนวยความสะดวกในการรับ-ส่งผู้โดยสาร บนเส้นทางยกระดับ เลียบทางรถไฟสายตะวันออก ระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตร
สถานีแรกเริ่มต้นที่ พญาไท จนถึงสถานีสุดท้าย คือ สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งหมด 8 สถานี
วันที่ 23 สิงหาคม 2553 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เริ่มเปิดให้ใช้บริการ
โดยมีองค์กรที่บริหาร คือ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ซึ่งช่วงแรก เปิดให้บริการ 2 ระบบ คือ
1. รถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (SA Express) มี 4 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้
2. รถไฟฟ้าท่าอากาาศยานสุวรรณภูมิ (SA City Line) มี 5 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้
ปัจจุบันเหลือแค่ระบบ City Line เนื่องจากการเดินรถในระบบ Express ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และนำมาเป็นรถเสริมในระบบ City Line
เหตุผลก็ อาจจะต้องการรองรับจำนวนผู้โดยสารในระบบ City Line ที่เพิ่มขึ้น
ตั้งแต่นั้นมาก็มีข่าวเกี่ยวกับระบบการเดินรถของ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นประจำ
ประเด็นที่มักจะพบบ่อยก็ คือ
ขบวนรถที่ใช้งานได้มีไม่กี่ขบวน เพราะที่เหลืออยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง
ตารางเดินรถมักจะดีเลย์จากที่ประกาศไว้ว่า ระยะห่างของขบวนรถ คือ 10-15 นาที
ซึ่งสาเหตุดังกล่าว ทำให้มีผู้โดยสารตกค้างอยู่ตามสถานีเป็นจำนวนมาก เป็นผลให้ หลายคนเดินทางไปทำงานสาย หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวเดินทางไปสนามบินไม่ทัน
เหตุการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นบ่อย จนมีการสร้างเพจที่คอยอัพเดตสถานการณ์ในแต่ละวัน เช่น AirportLink ที่รัก และ วันนี้แอร์พอร์ตลิ้งค์เป็นอะไร
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 มีการประกาศจาก แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ว่า
ทางแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดให้บริการรถไฟดีเซลราง ที่รองรับผู้โดยสารได้ 600 คน เพื่อเป็นอีกตัวเลือกในเวลาเร่งด่วน เริ่มใช้วันที่ 30 มีนาคม 2561
รถไฟดีเซลรางจะให้บริการ วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ช่วงเช้าและเย็น ช่วงละ 1 เที่ยว
และนี่เป็นอีกหนึ่งการแก้ปัญหาแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ลงทุนแมนไม่ขอคอมเม้นเรื่องนี้ เพราะคงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของ การรถไฟแห่งประเทศไทย
แต่จะขอปิดท้ายด้วยตัวเลขงบการเงินที่น่าสนใจขององค์กรแห่งนี้
ในปี 2560 การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรายได้ 17,471 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายรวม 32,122 ล้านบาท
และมีดอกเบี้ยเงินกู้ต้องจ่าย 3,248 ล้านบาท
ทำให้สุทธิแล้ว องค์กรนี้ขาดทุน 17,899 ล้านบาท ภายในปีเดียว
ถ้าเห็นตัวเลขนี้แล้วตกใจ เราจะตกใจยิ่งกว่าถ้าเห็นตัวเลขต่อไป
ณ สิ้นปี 2560 การรถไฟแห่งประเทศไทยมีที่ดิน อาคารและอุปกรณ์-สุทธิ มูลค่า 184,075 ล้านบาท
เราคงเคยได้ยินว่าการรถไฟเป็นองค์กรที่รวยมีที่ดินเยอะ
แต่จริงๆแล้ว
องค์กรนี้มีหนี้สินทั้งหมด 358,233 ล้านบาท
ด้วยการขาดทุนปีละ 17,899 ล้านบาท
คำถามที่น่าคิดคือ ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ องค์กรนี้ถึงจะใช้หนี้หมด และอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้องค์กรขาดทุนมากขนาดนี้..
----------------------
<ad> หนังสือลงทุนแมน 2.0 วางแผงแล้วหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
โหลดแอพลงทุนแมนอ่านฟรีได้ที่ https://www.longtunman.com/app
ลงทุนแมนมี instagram twitter youtube line@ แล้ว ติดตามได้โดยค้นหา ไอดีชื่อ longtunman ในแพลตฟอร์มนั้น
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.