เศรษฐกิจพม่า จากเคยพุ่ง กลายเป็นพัง คนครึ่งประเทศยากจน หลังการรัฐประหาร

เศรษฐกิจพม่า จากเคยพุ่ง กลายเป็นพัง คนครึ่งประเทศยากจน หลังการรัฐประหาร

25 เม.ย. 2024
เศรษฐกิจพม่า จากเคยพุ่ง กลายเป็นพัง คนครึ่งประเทศยากจน หลังการรัฐประหาร /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า เมื่อก่อนพม่า เป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 6.8% ต่อปี ในช่วงปี 2554 ถึงปี 2562
ซึ่งมากเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน และมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกถึง 2 เท่า
แต่วันนี้ แสงอันรุ่งโรจน์ กำลังค่อย ๆ ดับสูญ เพราะทุกอย่างได้เปลี่ยนไป เมื่อเศรษฐกิจพม่า พังทลายลง จนถึงขั้นที่ทำให้ผู้คนต้องพากันอพยพออกนอกประเทศ..
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจของพม่า ในช่วงที่ผ่านมา ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คือวันครบรอบการทำรัฐประหารในประเทศพม่า เหตุการณ์ที่ทำให้ชาวพม่า ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร มานานกว่า 3 ปี
การต่อสู้ระหว่างกองทัพ และกลุ่มต่อต้าน อาจยังไม่ได้ข้อสรุป ว่าฝ่ายไหนที่จะเป็นผู้ชนะ
แต่หนึ่งสิ่งที่สรุปได้แล้วก็คือ เศรษฐกิจของประเทศพม่านั้น กำลังแย่จนเข้าขั้นวิกฤติ
โดยปัญหาที่พม่าเจอตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น มีทั้ง
- เงินเฟ้อ ข้าวของแพง
- คนตกงาน รายได้ลด
- ขาดแคลนพลังงาน และอาหาร
- ประชาชนเกือบครึ่งประเทศ ต้องยากจน โดยมีรายได้เพียงวันละ 28 บาท
- เสถียรภาพทางการคลังที่ย่ำแย่
- การศึกษาและสุขภาพ ถูกลดความสำคัญ
ความเสียหายทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นผลมาจากปัจจัยภายในประเทศ โดยเริ่มต้นจากสถานการณ์ความไม่สงบ หรือสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่
ซึ่งทำให้พม่าต้องเจอกับหลายปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็น
1. ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
ต้องบอกก่อนว่า 2 สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของพม่า ในช่วงก่อนหน้านี้ ก็คือ การส่งออกและการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม สงครามที่เกิดขึ้น ทำให้เส้นทางการค้าหลายเส้นทางถูกปิด เช่น เส้นทางที่ใช้กับไทย จีน หรืออินเดีย
ซึ่งการส่งออกของพม่า ก็เป็นการค้าข้ามประเทศผ่านพรมแดนต่าง ๆ ถึง 40% ของการส่งออกทั้งหมด
เมื่อเส้นทางการค้าไม่สามารถใช้ได้ จึงทำให้การส่งออกของพม่า ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในด้านการท่องเที่ยว พม่าก็เคยมีจำนวนนักท่องเที่ยว ที่สูงถึง 3-4 ล้านคนต่อปี
แต่หลังจากที่มีการรัฐประหาร จำนวนนักท่องเที่ยวของพม่าก็เหลือเพียง
ปี 2564 : 130,000 คน
ปี 2565 : 230,000 คน
6 เดือนแรก ปี 2566 : 460,000 คน
จากข้อมูลนี้ เห็นว่า ถึงแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังน้อยกว่าก่อนหน้านั้นมาก
เมื่อการส่งออกก็แย่ นักท่องเที่ยวก็ไม่มี จึงทำให้ในปีที่ผ่านมา พม่าขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพิ่มขึ้นเป็น 5.5% จาก 3.4% ในปี 2565
2. การลงทุนจากต่างชาติลดลง
เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองมีความวุ่นวาย ทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่ง ตัดสินใจถอนการลงทุนออกจากพม่า และหลายแห่งก็หยุดการลงทุนเพิ่ม
อย่างเช่น เชฟรอน บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของโลก ที่ก็ประกาศถอนตัวออกจากพม่า เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
โดยข้อมูลล่าสุด พบว่า FDI หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของพม่า ต่ำกว่าระดับก่อนหน้าที่จะมีการระบาดใหญ่ ถึง 48.3% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง..
จากทั้ง 2 ข้อที่กล่าวมา สรุปได้ว่าตอนนี้ พม่ากำลังมีเงินเข้า น้อยกว่าเงินออก
และมีรายได้ น้อยกว่ารายจ่าย
เมื่อประเทศทั้งขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การลงทุนจากต่างชาติ ก็เหือดหาย
ทำให้พม่ากำลังมีทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งสะท้อนถึงเสถียรภาพของประเทศที่แย่ลง
และเมื่อประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่แน่นอน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวจุดชนวนชั้นดี ที่ทำให้ค่าเงินจัตของพม่า อ่อนค่าลงอย่างหนัก..
โดยจากแต่ก่อนที่ 100,000 จัต จะแลกได้ 74 ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้เหลือเพียง 48 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น หรือเท่ากับว่ามูลค่าหายไปถึงมากกว่า 1 ใน 3
ความเดือดร้อนจึงเกิดต่อผู้คนพม่าเหมือนเป็นดาบซ้ำสอง
เพราะลำพังแค่สงครามที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ราคาอาหารแพงขึ้นอยู่แล้ว จากการผลิตอาหารที่ลดลง เส้นทางการค้าถูกปิดกั้น และค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น
เมื่อต้องมาเจอกับค่าเงินที่อ่อนอีก จึงทำให้ราคาสินค้าในพม่านั้นพุ่งกระฉูด เพราะต้องนำเข้าสินค้าในราคาที่แพงขึ้น
โดยในปีที่แล้ว เงินเฟ้อของพม่าพุ่งสูงถึง 22% ซึ่งแบ่งเป็นราคาอาหาร เพิ่มขึ้นถึง 33% ในขณะที่สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เพิ่มขึ้น 15%
ซึ่งก็น่าเศร้าที่ตัวเลขราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามกับรายได้ของผู้คนที่ลดลง
โดยจากการสำรวจ ครัวเรือนพม่ากว่า 40% รายงานว่าตนเอง มีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
เมื่อรายได้ลด แต่รายจ่ายเพิ่ม ก็ทำให้จำนวนคนยากจนในพม่านั้นเพิ่มมากขึ้นไปโดยปริยาย
โดยจำนวนคนยากจน ที่มีรายได้เพียง 28 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 24.8% ในปี 2560 กลายเป็น 49.7% ในปี 2566
หรือก็คือ ตอนนี้เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรพม่าทั้งหมด กำลังเป็นคนยากจน ที่มีรายได้ไม่ถึงวันละ 28 บาท..
ในเมื่อต้องยากจนลง แถมยังโดนบังคับเกณฑ์ทหาร ประกอบกับความไม่สงบในพื้นที่
จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงที่ผ่านมา ชาวพม่าได้แห่เข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก
โดยถ้าเป็นคนที่มีเงิน ก็เข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมเพื่ออยู่อาศัย
เมื่อดูจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด จะพบว่า ชาวพม่าเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมในไทยอยู่ที่
ปี 2565 จำนวน 349 ยูนิต
ปี 2566 จำนวน 564 ยูนิต
ตัวเลขนี้มากเป็นอันดับ 4 ในบรรดาทุกสัญชาติ เป็นรองเพียง จีน รัสเซีย และสหรัฐฯ
ในด้านของมูลค่า ก็อยู่ที่ 3,707 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งก็มากเป็นอันดับ 3 ในบรรดาทุกสัญชาติ
ที่น่าสนใจคือ ชาวพม่า คือสัญชาติที่มีการซื้อห้องชุดที่มีราคาเฉลี่ยต่อหน่วยสูงที่สุดในบรรดาทุกสัญชาติ โดยอยู่ที่ 6.6 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นตัวเลขที่นำห่างประเทศอื่น ๆ ค่อนข้างมาก
ส่วนถ้าเป็นชาวพม่า ที่เดือดร้อนเรื่องเงิน ก็จะเข้ามาเป็นแรงงานต่างด้าวในไทย เพื่อหาเงินส่งกลับไปให้ครอบครัว
ซึ่งก็มีทั้งที่เข้ามาแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ตามข่าวที่เราได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ประชาชนที่เดือดร้อน แต่รัฐบาลพม่า ก็กำลังเดือดร้อนอยู่เช่นกัน เพราะกำลังเจอปัญหาขาดดุลการคลัง
เนื่องจากรายได้ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการส่งออก
เมื่อรายได้ลด ก็ต้องเลือกใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็น ซึ่งก็เป็นเหมือนดาบสาม ที่ซ้ำลงไปที่ประชาชนอีกรอบ..
เพราะการศึกษาและสุขภาพรวมกัน อาจดูเหมือนไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น ในสายตาของรัฐบาลพม่า เนื่องจากการใช้จ่ายใน 2 ด้านนี้รวมกัน ลดลงเหลือเพียง 2% ของ GDP จาก 3.8% ในปีก่อนการรัฐประหาร
และเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ที่อยู่ที่ 5.1% หรือลาว ที่อยู่ที่ 3.1%
เรียกได้ว่า ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาในปัจจุบันที่ต้องหายไป แต่ช่วงเวลาของอนาคต ก็หายไปอีกเช่นกัน.. จากการพัฒนาทุนมนุษย์ที่ลดลง
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจพม่า จากที่เคยพุ่งแรง ในอดีต
วันนี้กลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ และยังไม่มีใครรู้ว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป
ต่อให้สงครามจบลง ก็ต้องใช้เวลาแก้ไขและรักษาบาดแผลทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถึงจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม และเอาช่วงเวลาที่สูญหายไป กลับมาได้..
ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังวุ่นวาย และมีหลายปัญหาเกิดขึ้น ลำพังแค่การต้องรับมือกับปัจจัยภายนอก ก็ถือว่าเป็นเรื่องยากลำบากมากแล้ว
แต่พม่ากำลังต้องรับมือกับทั้งปัจจัยภายนอกและภายในควบคู่กันไป
ก็ต้องติดตามว่า พม่าจะสามารถก้าวข้ามผ่านจุดนี้ไปได้หรือไม่ และฉากจบของประเทศแห่งนี้ จะออกมาเป็นแบบไหน
เพราะเรื่องนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อไทยด้วยเช่นกัน ทั้งผลกระทบต่อบริษัทไทย ที่ไปลงทุนในพม่า ไม่ว่าจะเป็น ปตท.สผ., อิตาเลียนไทย, เอสซีจี รวมถึงอีกหลายบริษัท
และยังส่งผลกระทบต่อรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เราเป็นประเทศเพื่อนบ้าน
ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยภายนอก ที่ในวันนี้ได้เข้ามาท้าทายประเทศไทยแล้ว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.undp.org/publications/poverty-and-household-economy-myanmar-disappearing-middle-class
-https://www.worldbank.org/en/country/myanmar/overview
-https://www.worldbank.org/en/country/myanmar/publication/myanmar-economic-monitor-reports
-https://www.adb.org/where-we-work/myanmar/economy
-https://data.worldbank.org/
-https://www.reic.or.th/
-https://www.ceicdata.com/en/indicator/myanmar/visitor-arrivals
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.