โลกร้อน ภัยแล้ง ทำลายเศรษฐกิจไทย อย่างที่เราคาดไม่ถึง

โลกร้อน ภัยแล้ง ทำลายเศรษฐกิจไทย อย่างที่เราคาดไม่ถึง

24 เม.ย. 2024
โลกร้อน ภัยแล้ง ทำลายเศรษฐกิจไทย อย่างที่เราคาดไม่ถึง /โดย ลงทุนแมน
ปัญหาภัยแล้งที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในตอนนี้ หลายคนอาจมองว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแค่ในบางพื้นที่ และสร้างผลกระทบแค่กับคนบางกลุ่ม เช่น เกษตรกร เท่านั้น
แต่ความเป็นจริง ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในไทย มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง และสร้างความเดือดร้อน กับผู้คนแทบทุกกลุ่ม รวมถึงเศรษฐกิจไทย อย่างที่เรานึกไม่ถึง
แล้วภัยแล้ง ทำลายเศรษฐกิจไทย มากแค่ไหน
ใครที่ได้รับผลกระทบบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
“ภัยแล้ง” ถือเป็นหนึ่งในวิกฤติที่สามารถสร้างความเสียหาย ให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก
เพราะสามารถส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วนสำคัญของประเทศ
แล้วมันกระทบแต่ละภาคส่วน อย่างไรบ้าง ?
1. ภาคเกษตรกรรม
เนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการทำเกษตรกรรม จึงทำให้ภาคเกษตรกรรม มีการใช้น้ำมากกว่า 3 ใน 4 ของการใช้น้ำทั้งประเทศ
แน่นอนว่าการขาดแคลนน้ำ ย่อมทำให้การทำเกษตรกรรมและผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหลายฝ่าย ทั้ง
- เกษตรกร
เมื่อจำนวนผลผลิตลดลง ก็จะทำให้เกษตรกรบางส่วน มีรายได้ที่ลดลงตาม
ซึ่งเกษตรกรในไทย ก็มีมากกว่า 7,000,000 ครัวเรือน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ
แม้ไม่ใช่ทุกครัวเรือน ที่จะได้รับผลกระทบ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ในตอนนี้ 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทย “ล้วนมีหนี้สิน”
ซึ่งเมื่อรายได้ลดลง ก็อาจทำให้หนี้เสียในภาคเกษตรกรรมสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของสถาบันการเงิน
โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่เป็นแหล่งเงินกู้หลักของเกษตรกร โดยครองส่วนแบ่งถึง 65% ของมูลหนี้ของเกษตรกรทั้งหมด
ดังนั้นจึงอาจบอกได้ว่า ปัญหาภัยแล้งนี้ จะทำให้ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาหนี้เสียของไทยเรารุนแรงมากขึ้น จากที่ผ่านมาก็หนักมากพออยู่แล้ว..
- ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม
ผลกระทบจากการทำเกษตรกรรมที่ลดลง ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะในกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น
แต่จะส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช ที่เป็นวัตถุดิบหลักของการทำเกษตรกรรม
ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ธุรกิจเชื้อเพลิง ธุรกิจโรงสี หรือโรงงานแปรรูป ตลอดจนธุรกิจอาหารสัตว์
ทุกธุรกิจจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และด้วยการที่เกษตรกร ไม่ได้มีฐานะเป็นแค่ผู้ผลิตในภาคธุรกิจ แต่ยังมีฐานะเป็นผู้บริโภคคนหนึ่งในภาคครัวเรือน
ดังนั้นเมื่อรายได้ลดลง ก็ย่อมมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ลดลงตาม
ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่แม้จะไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรกรรม ก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
เป็นการซ้ำเติมปัญหาให้กับหลายบริษัท ที่ในช่วงนี้ นอกจากต้องรับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอยู่แล้ว ยังต้องเจอปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบแพงขึ้น รวมถึงยอดขายที่น้อยลงอีก
- ผู้บริโภค
เมื่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง จะทำให้สินค้าทางการเกษตรนั้น ปรับตัวมีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า ภาระค่าครองชีพของประชาชนที่จะสูงขึ้นตาม
ถือว่าเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อคนทุกอาชีพ ไม่ได้จำกัดแค่เพียงเกษตรกร ตราบใดที่คนยังมีความจำเป็นต้องบริโภคอาหาร
ซึ่งค่าครองชีพที่สูงขึ้นนี่เอง ถือเป็นแรงกดดันชั้นดี ที่จะทำให้ประชาชนจำนวนมากมีรายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จนเกิดการกู้หนี้ยืมสิน และเริ่มมีปัญหาทางการเงิน
ถ้าหากเรามาดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนในประเทศ หนี้ส่วนที่เป็น เพื่อการอุปโภคบริโภค ในตอนนี้สูงถึง 1 ใน 4 ของ GDP ประเทศ ซึ่งถือว่ามากกว่าหลาย ๆ ประเทศ

2. ภาคอุตสาหกรรม
นอกจากใช้ในการทำการเกษตรแล้ว น้ำ ยังถือเป็นทรัพยากรที่มีความจำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
เพราะถูกใช้เป็นทั้งวัตถุดิบหรือใช้ในการเตรียมวัตถุดิบ ใช้ในระบบสนับสนุนการผลิต ตลอดจนใช้ในการทำความสะอาดทั่วไป และอีกหลาย ๆ วัตถุประสงค์
ซึ่งภาคอุตสาหกรรมนี้ มีขนาดใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของ GDP ประเทศ
ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรม จึงสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก
โดยสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญ ไม่ใช่แค่ผลกระทบจากต้นทุนสินค้าเกษตร และต้นทุนการบริหารจัดการน้ำที่เพิ่มขึ้น
แต่การขาดแคลนน้ำ ยังอาจทำให้โรงงานต้องลดกำลังการผลิตลง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัท
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก เช่น กระดาษและเยื่อกระดาษ อาหารและเครื่องดื่ม ฟอกย้อม แป้งมัน ตลอดจนโรงงานฆ่าสัตว์ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมผลิตชิป
3. ภาคการท่องเที่ยว
น้ำ คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้มีสถานที่ท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่งเกิดขึ้น
หากเกิดภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ และไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว ก็หมายถึงการต้องหยุดตัวลงของธุรกิจในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของชำ ของที่ระลึก ตลอดจนบริการทางการท่องเที่ยวต่าง ๆ
ซึ่งภาคการท่องเที่ยวนั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักที่สำคัญของไทย โดยในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โรคระบาด
ภาคการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 2,000,000 ล้านบาท และทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 4,000,000 ตำแหน่ง
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ภัยแล้ง เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทั้ง ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว
ซึ่งประเทศไทยเรา ก็มีการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และมีจำนวนผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรเป็นจำนวนมาก
รวมถึงการเติบโตของเราในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็มาจากการผลิตเพื่อการส่งออกในภาตอุตสาหกรรม
ภัยแล้งที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่แค่สภาพอากาศที่แห้งแล้ง แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจไทย ที่ก็แห้งแล้งตามไปด้วยเช่นกัน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.