“ลงทุนวิจัยและพัฒนา” ป้อมปราการธุรกิจ ที่บริษัทในตลาดหุ้นไทย ไม่ค่อยมี

“ลงทุนวิจัยและพัฒนา” ป้อมปราการธุรกิจ ที่บริษัทในตลาดหุ้นไทย ไม่ค่อยมี

25 มี.ค. 2024
“ลงทุนวิจัยและพัฒนา” ป้อมปราการธุรกิจ ที่บริษัทในตลาดหุ้นไทย ไม่ค่อยมี /โดย ลงทุนแมน
“8.6 ล้านล้านบาท” นี่ไม่ใช่มูลค่า GDP ของประเทศใดประเทศหนึ่ง
แต่คืองบลงทุน ในการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D เฉพาะปี 2023 ปีเดียว ของหุ้น 7 นางฟ้า หรือกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี 7 แห่งของสหรัฐฯ ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก ได้แก่ Apple, Amazon, Alphabet, Meta, Microsoft, Nvidia และ Tesla
โดยมูลค่างบลงทุน ที่คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ประเทศไทยนี้ ถือเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้บริษัทเหล่านี้มีความสามารถในการแข่งขันสูง จนผลักดันให้มูลค่าบริษัทของกลุ่ม 7 นางฟ้า ทะยานทิ้งห่างคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
หันกลับมามองประเทศไทย หากเรานับรวมงบ R&D ทั้งประเทศ ซึ่งคิดเป็น 1.3% ของ GDP หรือปีละ 2 แสนล้านบาท
เท่ากับว่างบ R&D ของไทยทั้งประเทศ น้อยกว่ากลุ่ม 7 นางฟ้าถึง 42 เท่า
ในขณะที่หากเทียบกับงบ R&D ของประเทศอื่น ๆ
- เกาหลีใต้ คิดเป็น 4.9% ของ GDP
- สหรัฐฯ คิดเป็น 3.5% ของ GDP
- ญี่ปุ่น คิดเป็น 3.3% ของ GDP
- จีน คิดเป็น 2.4% ของ GDP
- สิงคโปร์ คิดเป็น 2.2% ของ GDP
จะเห็นว่า ไทย ยังให้ความสำคัญ และมีสัดส่วนการลงทุนในเรื่องนี้ น้อยกว่าประเทศเหล่านี้พอสมควร
ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ไทย เสียเปรียบในการแข่งขันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่มีป้อมปราการที่ว่าคอยคุ้มกัน
แล้วทำไมการทำ R&D ถึงเป็นป้อมปราการสำคัญ ของบริษัทในยุคสมัยนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หากเราลองนึกถึงเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจหนึ่ง ๆ สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทิ้งห่างจากคู่แข่ง ลองนึกดูว่าจะมีอะไรบ้าง ?
หลายคนอาจคิดว่า เป็นเพราะ
- มีแบรนด์สินค้าที่ติดหู ผู้บริโภคไว้วางใจ
- มีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น และตอบโจทย์ตลาด
- มีการควบคุมต้นทุนที่ดี จนขายสินค้าได้ถูกกว่าคู่แข่ง
เหตุผลเหล่านี้ เปรียบเสมือนเป็นป้อมปราการสำคัญ ที่ช่วยคุ้มกันธุรกิจให้อยู่รอดได้ โดยที่คู่แข่งจะเข้ามาชิงส่วนแบ่ง หรือเอาชนะได้ยาก
ซึ่งแต่ละธุรกิจ ก็จะมีรูปแบบของป้อมปราการ ที่แตกต่างกันออกไป
โดยในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ กับชีวิตประจำวันของมนุษย์ จนทำให้บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง ครองแชมป์บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก และยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
แล้วอะไร คือป้อมปราการของบริษัทเหล่านี้ ?
คำตอบก็คือ “การวิจัยและพัฒนา (Research and Development)” หรือ R&D นั่นเอง
ลองนึกดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น หาก Nvidia ไม่คิดที่จะทุ่มงบมหาศาลเพื่อพัฒนาชิปของตัวเอง ในแต่ละปี
Nvidia คงโดนคู่แข่งไล่ตาม และแซงหน้าไปได้
อีกทั้งคงไม่ได้กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 3 ของโลกได้อย่างวันนี้
หรือแม้แต่ Generative AI ที่กำลังมาแรงในตอนนี้ อย่าง ChatGPT จากค่าย OpenAI (Microsoft) หรือ Gemini จากค่าย Google (Alphabet)
ซึ่งนวัตกรรมที่ว่า จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากบริษัทเหล่านี้ ไม่นำเงินไปลงทุนกับการทำ R&D อย่างต่อเนื่อง
และที่สำคัญ เมื่อขายนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ออกมาใหม่ได้สำเร็จ บริษัทก็จะนำรายได้ส่วนหนึ่งไปทำ R&D ต่อ จนเกิดเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ส่งผลเป็นวงจรที่ทำให้บริษัทมีการเติบโต และใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง
โดยเราจะเห็นได้ว่า กลุ่มบริษัท 7 นางฟ้า มักเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีของโลกเสมอ เพราะมีทุนที่ใช้จ่ายไปกับเรื่อง R&D มหาศาลและต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการทำ R&D จะประสบผลสำเร็จทั้งหมด เพราะความล้มเหลวก็อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะทุ่มงบประมาณไปมากแค่ไหนก็ตาม
ตัวอย่างเช่น Google ที่ประกาศยกเลิกการพัฒนาแว่นตาอัจฉริยะ Google Glass ในปี 2015 หรือแม้แต่ Apple ที่ประกาศยุบโปรเจกต์รถยนต์ไฟฟ้าในปี 2024
หลังจากที่ทั้ง 2 บริษัท ใช้เวลาและงบประมาณมหาศาล ไปกับโปรเจกต์ดังกล่าว
หันกลับมามองที่ประเทศไทย อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า
ประเทศไทยทุ่มงบประมาณไปกับการทำ R&D ราว 1.3% ของ GDP หรือประมาณปีละ 2 แสนล้านบาท
โดยต่ำกว่างบประมาณเฉลี่ยของการทำ R&D ทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 2.5% ของ GDP
การลงทุนใน R&D ที่น้อยมาก ผลก็คือทำให้บริษัทส่วนใหญ่ในประเทศไทย ขาดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติ
หลายคนคงสงสัยว่า แล้วเราจะทำ R&D ไปทำไม ? ในเมื่อเราไม่ได้มีบริษัท 7 นางฟ้าเหมือนสหรัฐอเมริกา หรือไม่ได้จะไปแข่งกับบริษัทเทคโนโลยีอยู่แล้ว
ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว การทำ R&D ไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าอื่น ๆ ด้วย
ตัวอย่างเช่น “ข้าว” ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยมานาน
ในตอนนี้ เราอาจได้ข่าวว่า ประเทศไทยเริ่มเสียส่วนแบ่งในตลาดส่งออกข้าว ให้แก่ประเทศคู่แข่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากการไม่ลงทุนพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ดี..
นอกจากนี้ ธุรกิจใหญ่ ๆ ในไทยจำนวนมาก นิยมสร้างป้อมปราการผ่าน “การผูกขาด” หรือ “สัมปทาน” จากภาครัฐ เพื่อป้องกันคู่แข่งหน้าใหม่ แทนที่จะลงทุนทำ R&D
ผลก็คือทำให้ประเทศไทย ขาดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขาดองค์ความรู้หรือ Know-how ที่ดี เมื่อต้องไปแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ
รวมถึงไม่มีป้อมปราการที่แข็งแรงและยั่งยืนพอ ที่จะคอยป้องกัน เมื่อบริษัทต่างชาติ บุกเข้ามาแข่งขันในประเทศไทย
ซึ่งถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป และยังไม่เปลี่ยนวิธีคิด
ในอนาคต ธุรกิจไทยและประเทศไทย อาจแทบไม่เหลือที่ยืนในเวทีโลก ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://data.worldbank.org/indicator/GB.XPD.RSDV.GD.ZS
-https://data.worldbank.org/indicator/GB.XPD.RSDV.GD.ZS?locations=TH
-https://www.investopedia.com/magnificent-seven-stocks-8402262
-https://www.nxpo.or.th/th/en/17125/
-งบการเงินบริษัท Alphabet, Amazon.com, Apple, Meta, Microsoft, Nvidia และ Tesla
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.