Wright Company บริษัทเครื่องบิน ของพี่น้อง ตระกูลไรต์ ที่ล้มเหลวใน 7 ปี

Wright Company บริษัทเครื่องบิน ของพี่น้อง ตระกูลไรต์ ที่ล้มเหลวใน 7 ปี

26 ก.พ. 2024
Wright Company บริษัทเครื่องบิน ของพี่น้อง
ตระกูลไรต์ ที่ล้มเหลวใน 7 ปี /โดย ลงทุนแมน
“คนสำเร็จ ใช่ว่าจะสำเร็จเสมอไป” เป็นคำพูดที่ตรงกับเรื่องที่ลงทุนแมนจะเล่า ได้เป็นอย่างดี
เรารู้กันดีว่า สองพี่น้องตระกูลไรต์ เป็นคนประดิษฐ์เครื่องบินได้สำเร็จครั้งแรกของโลก แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า หลังจากนั้นทั้งคู่กลับล้มเหลวในทางธุรกิจ..
เพราะเมื่อก่อตั้งบริษัทเครื่องบินได้เพียง 7 ปี
ออร์วิล ไรต์ ได้ขายบริษัททิ้งจากมรสุมธุรกิจ เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธาน หลังจากวิลเบอร์ ผู้เป็นพี่ชายเสียชีวิต
ซึ่งปัจจุบัน เจ้าของบริษัทนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
แต่คือ Lockheed Martin บริษัทขายอาวุธสงคราม
ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้แทน
ทำไมทั้งคู่ถึงล้มเหลวกับธุรกิจเครื่องบิน
ทั้งที่สร้างเครื่องบินได้สำเร็จเป็นคนแรก ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จุดเริ่มต้นของสองพี่น้อง ออร์วิลและวิลเบอร์ ไรต์
ที่มาสนใจเครื่องบิน คือ การซ่อมเฮลิคอปเตอร์ของเล่นที่พังในวัยเด็ก จนกลับมาเล่นได้อีกครั้ง
แต่เครื่องบินก็ไม่ได้เป็นธุรกิจแรกที่ทั้งสองคนทำ เพราะหลังจากนั้น ทั้งคู่เริ่มทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ ก่อนจะหันมาเปิดร้านซ่อมจักรยานเล็ก ๆ
ซึ่งวันหนึ่งในขณะที่ทั้งคู่เห็นข่าวความพยายาม ในการสร้างเครื่องบินครั้งแรก ทำให้ทั้งคู่อยากทำความฝันในวัยเด็กให้สำเร็จอีกครั้ง และลงมือทำมัน
แม้ในช่วงแรก การทดลองเครื่องบินนั้นจะมีความท้าทายเป็นอย่างมาก ทั้งอันตรายถึงชีวิต แถมยังต้องถูกเยาะเย้ยจากเพื่อนบ้าน เมื่อพยายามสร้างเครื่องบินซ้ำ ๆ แต่ไม่สำเร็จ
แต่ในที่สุด พี่น้องตระกูลไรต์ก็พัฒนาเครื่องบินได้สำเร็จ จนสามารถบินไปแสดงในสถานที่ต่าง ๆ และได้รับเงินรางวัลมากมาย
ทั้งคู่จึงไม่รอช้า ที่จะจดสิทธิบัตรเครื่องบินของตัวเอง และเปิดบริษัทผลิตเครื่องบินรายแรกของโลก ในปี 1909 ชื่อว่า Wright Company
และน่าสนใจตรงที่ทั้งคู่ขายสิทธิบัตรให้กับบริษัทตัวเอง ในราคา 3.6 ล้านบาท พร้อมเงื่อนไขต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 10% ของเครื่องบินทุกลำที่ขายได้ ให้กับพวกเขา
แต่ก็ดูเหมือนว่า ทั้งคู่จะเป็นนักประดิษฐ์ ที่หวงแหนสิทธิบัตรของตัวเอง มากกว่าการเป็นนักธุรกิจ ที่มุ่งขายเครื่องบินของบริษัทตัวเองไปทั่วโลก
ซึ่งช่วงแรก ปัญหาธุรกิจก็เริ่มเกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อบริษัทมีลูกค้าน้อยมาก จนต้องไปหาเงินจากการประกวดเครื่องบิน พร้อมกับเปิดธุรกิจโรงเรียนสอนการบินขึ้นมาอีกแห่ง
อย่างไรก็ตาม ต่อมาบริษัทได้สัญญาจากกองทัพสหรัฐฯ เพื่อผลิตเครื่องบินรบ ซึ่งถือเป็นคำสั่งซื้อที่เยอะครั้งแรก หลังก่อตั้งบริษัทมา 4 ปี จึงช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจ
แต่สุดท้ายก็เกิดปัญหาอีกจนได้ เมื่อเครื่องบินของบริษัทมีปัญหา จนนักบินของกองทัพสหรัฐฯ เสียชีวิต
ซึ่ง Wright Company ก็ไม่ยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดของเครื่องบินจากบริษัท ซ้ำร้ายยังตอบโต้กลับไปว่า เป็นความผิดพลาดของนักบินเอง..
อีกทั้งพี่น้องตระกูลไรต์ ก็ไม่ได้สนใจปัญหาที่เกิดขึ้นมากนัก เพราะไปสนใจกับคดีความที่ฟ้องร้องกับบริษัทอื่น
เพื่อปกป้องสิทธิบัตรของตัวเองมากกว่า
สุดท้ายแล้ว กองทัพสหรัฐฯ ก็ยกเลิกสัญญา และหันไปหาผู้ผลิตเครื่องบินรายอื่นแทน
บริษัทที่ว่านั้น คือ Boeing ซึ่งเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน แต่สามารถผลิตเครื่องบินทะเล เพื่อป้อนให้กับกองทัพสหรัฐฯ ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้พอดี
ส่วน Wright Company ไม่ได้สูญเสียแค่คำสั่งซื้อมหาศาลเท่านั้น แต่วิลเบอร์ ไรต์ ประธานบริษัทก็ได้เสียชีวิตลงในช่วงเวลาเดียวกันอีก
ทำให้ออร์วิล ไรต์ ผู้เป็นน้องชาย ต้องขึ้นมาบริหารงานแทน
แต่ด้วยมรสุมธุรกิจที่รุมเร้า ทำให้น้องชาย ตัดสินใจขายบริษัทที่ก่อตั้งกับพี่ชายทิ้งแทน..
ซึ่งบริษัทที่มาซื้อกิจการของ Wright Company ต่อ
คือ Glenn L. Martin Company และต่อมาก็กลายเป็น Marietta Corporation บริษัทผลิตยานอวกาศ, จรวด และขีปนาวุธ
จนในที่สุด บริษัท Marietta ก็ควบรวมกับบริษัทเครื่องบิน Lockheed กลายมาเป็นบริษัท Lockheed Martin บริษัทขายอาวุธสงครามที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม Boeing ที่เข้ามาแย่งลูกค้าจาก Wright Company ยังได้รับสัญญาผลิตเครื่องบินและอาวุธให้กับกองทัพสหรัฐฯ มาโดยตลอด
จนกระทั่ง Boeing มีปัญหาเรื่องสัญญากับกองทัพ ทำให้ Lockheed Martin ได้สัญญาแทน แถมขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในการค้าอาวุธของสหรัฐฯ ไปในทันที
เรื่องนี้ดูเหมือนการฉายหนังซ้ำ เพราะ Boeing ที่แย่งลูกค้ามาจาก Wright Company สุดท้าย Boeing ก็เสียลูกค้าคนสำคัญ ให้กับบริษัทเจ้าของ Wright Company อีกที
และปัจจุบัน Lockheed Martin ก็ไม่ได้ขายให้กับกองทัพสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังขายเครื่องบินรบ พร้อมอาวุธสงครามไปทั่วโลก
หากไปดูรายได้และกำไร ในช่วงที่ผ่านมาของ Lockheed Martin จะพบว่า
ปี 2022
รายได้ 2,377,271 ล้านบาท
กำไร 206,512 ล้านบาท
ปี 2023
รายได้ 2,434,447 ล้านบาท
กำไร 249,313 ล้านบาท
จากตัวเลขผลประกอบการ บอกได้ว่า บริษัทยังทำเงินได้มหาศาล ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย เพราะสงคราม มักอยู่คู่กับความขัดแย้งของมนุษย์ ที่ไม่มีวันจบสิ้นเสียที แม้จะผ่านไปนานสักแค่ไหน..
ถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่า ทำไมพี่น้องตระกูลไรต์ ที่เก่งจนถึงขั้นผลิตเครื่องบินออกมาได้ แต่กลับล้มเหลวในการต่อยอดธุรกิจ เพื่อขายเครื่องบินให้คนทั่วโลกได้ใช้
ก็น่าคิดต่อเหมือนกันว่า หากวันนั้น พี่น้องตระกูลไรต์ สามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม และทุ่มเทใส่ใจกับธุรกิจของตัวเอง มากกว่าการปกป้องสิทธิบัตรเครื่องบินที่ตัวเองมีอยู่
วันนี้ เราคงอาจได้นั่งเครื่องบินของ Wright นอกเหนือจาก Boeing หรือ Airbus ที่ครองตลาดทั่วโลก จนแทบจะผูกขาด แบบตอนนี้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://muse.jhu.edu/article/584022
-https://en.wikipedia.org/wiki/Wright_brothers
-https://www.forbes.com/2003/11/19/1119aviation.html?sh=81b6bf61bda6
-https://en.wikipedia.org/William_E._Boeing
-https://investors.lockheedmartin.com/financial-information/quarterly-results
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.