“ชิป” บ่อน้ำมันอนาคต ที่หลายประเทศ อยากครอบครอง

“ชิป” บ่อน้ำมันอนาคต ที่หลายประเทศ อยากครอบครอง

14 ก.พ. 2024
“ชิป” บ่อน้ำมันอนาคต ที่หลายประเทศ อยากครอบครอง /โดย ลงทุนแมน
“เราควรซื้อชิปให้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้”
นี่คือคำพูดของ Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ก่อนที่สหรัฐฯ จะแบนการส่งออกชิปไปยังจีน
ซึ่งทำให้เห็นว่า ชิปมีความสำคัญมากแค่ไหน และจีนเองก็ยังต้องพึ่งพาสหรัฐฯ อย่างมาก
เรียกได้ว่า ในอนาคต หากใครสามารถควบคุมอุตสาหกรรมชิปได้ เท่ากับการกุมอำนาจไว้ในมือ เทียบได้กับการครอบครองบ่อน้ำมันก็ว่าได้
อย่างในปัจจุบัน 5 ใน 10 บริษัทใหญ่สุดในโลก ก็มีความข้องเกี่ยวกับคำว่าชิป ตั้งแต่ Microsoft, Apple, Google, Amazon, Meta ที่ใช้ชิป เป็นต้นทุนขับเคลื่อนธุรกิจ
ในขณะที่ฝั่งผู้ผลิตและผู้ดิไซน์ ได้แก่ TSMC และ Nvidia ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา จนติดทำเนียบบริษัท TOP TEN โลก
การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ นำมาสู่สงครามทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และการเมือง ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไม่ต่างอะไรไปจากการแย่งชิงทรัพยากรสำคัญ ในประวัติศาสตร์
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
อย่างที่เห็นกันมาแล้วว่า หากประเทศไหนได้ครอบครอง ทรัพยากรหรือเทคโนโลยี ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของโลก ก็จะสามารถมีอำนาจขึ้นมาได้
เริ่มตั้งแต่จักรวรรดิสเปน ในช่วงศตวรรษที่ 15
ครอบครองดินแดนในทวีปอเมริกาใต้แทบทั้งหมด ซึ่งดินแดนเหล่านี้ มีทองคำอยู่จำนวนมาก
ทำให้สเปน กลายมาเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
เพราะมีความมั่งคั่งสูง จากทองคำจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งสิ่งนี้กลับทำให้สเปนเพิกเฉยกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว แถมถลุงเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย
จนในที่สุด สเปนเจอกับภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน และจักรวรรดิก็ล่มสลาย..
ต่อมาในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อังกฤษค้นพบการนำถ่านหินและไอน้ำ ไปใช้ในอุตสาหกรรม
ทำให้ครั้งหนึ่ง อังกฤษเคยขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกถ่านหินไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้อังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก แถมยังสามารถขยายดินแดน ไปยึดครองประเทศต่าง ๆ ได้อีกจำนวนมาก
แต่ไม่นานนัก เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ก็มีการค้นพบทรัพยากรชิ้นสำคัญ ที่เรียกว่า “น้ำมัน” ซึ่งในตอนนั้นเรียกกันว่า “ทองคำดำ”
แม้การนำน้ำมันมาใช้ประโยชน์ จะเริ่มต้นครั้งแรกในยุโรป แต่กลายเป็นสหรัฐฯ ที่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันของตัวเอง ให้ยิ่งใหญ่กว่าได้
ตัวอย่างเช่น Standard Oil Company of California ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็น Chevron, Standard Oil of New Jersey หรือ ExxonMobil ในปัจจุบัน
ซึ่งบริษัทเหล่านี้ ก็เข้าไปสัมปทานน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และประเทศตะวันออกกลาง มาจนถึงวันนี้
และทำให้กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยจากน้ำมัน รวมกลุ่มก่อตั้ง OPEC สร้างอำนาจควบคุมทิศทางราคาน้ำมันของโลก
ถึงตรงนี้ แม้จะดูเหมือนว่า น้ำมันเป็นทรัพยากรสำคัญ หากประเทศไหนได้ครอบครอง ก็จะมีอำนาจทางเศรษฐกิจตามไปด้วย
แต่ปัจจุบัน ภาพเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง..
เพราะหากเราไปดูสินค้านำเข้า 3 อันดับแรกของโลก ในปี 2022 จะพบว่า
- น้ำมัน 57.8 ล้านล้านบาท
- ชิป 44.3 ล้านล้านบาท
- รถยนต์ 28.1 ล้านล้านบาท
เห็นได้ชัดเลยว่า ชิปกำลังเป็นสินค้าที่ประเทศทั่วโลกต้องการเป็นอย่างมาก โดยนำเข้ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากน้ำมันเท่านั้น
และยังเป็นสินค้าใน 3 อันดับแรก เพียงอย่างเดียว ที่เติบโตต่อเนื่องติดต่อกัน 5 ปีในช่วงที่ผ่านมา โดยเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% เลยทีเดียว
การเติบโตที่ต่อเนื่อง ก็เพราะว่าชิป เป็นสินค้าที่ไม่ต่างอะไรกับน้ำมัน ที่ใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ
เพราะชิป เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของเทคโนโลยี
ไล่ตั้งแต่อุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น สมาร์ตโฟน และเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่าง AI ไปจนถึงอุปกรณ์ทางทหาร เช่น ขีปนาวุธ หรือโดรนไร้คนขับอีกด้วย
จะเห็นว่าชิปเป็นสิ่งที่มีความต้องการจากทั่วโลกสูง
แต่กลับกัน ชิปเป็นสิ่งที่ผลิตได้อย่างจำกัด และไม่พอต่อความต้องการ โดยเฉพาะชิปที่มีความซับซ้อนหรือมีประสิทธิภาพสูง
ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 2 บริษัทที่สามารถผลิตชิปขั้นสูงที่มีคุณภาพ ส่งออกไปทั่วโลกได้ นั่นคือ TSMC จากไต้หวัน และ Samsung จากเกาหลีใต้
แต่ยังไม่มีบริษัทจีนรายใดเลย ที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นทั้งผู้ผลิตชิปหรือผู้ออกแบบ ที่แข่งขันในระดับโลกได้
ทำให้จีน พยายามแข่งกับสหรัฐฯ เพื่อชิงความได้เปรียบในอุตสาหกรรมนี้ และลดการพึ่งพาจากต่างชาติ
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ก็ดูจะไม่ง่ายนัก หากประเทศไหน อยากครอบครองอุตสาหกรรมชิปไว้คนเดียว เพราะอุตสาหกรรมนี้ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอยู่ทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็น
- ASML ธุรกิจผลิตเครื่องผลิตชิป EUV ของเนเธอร์แลนด์
- TSMC ธุรกิจรับจ้างผลิตชิป ของไต้หวัน
- Samsung ธุรกิจออกแบบ รวมถึงรับจ้างผลิตชิป ของเกาหลีใต้
ในขณะที่สหรัฐฯ มีธุรกิจส่วนใหญ่เป็นการออกแบบชิป เช่น Apple, Nvidia, AMD ซึ่งต้องพึ่งพาผู้ผลิตจากประเทศอื่น ๆ แทน
ส่วนจีนเอง แม้กำลังพัฒนาให้ตัวเองสามารถผลิตชิปได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาประเทศอื่น แต่ก็ดูเหมือนว่า ยังห่างไกลจากความสำเร็จพอสมควร
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงเห็นแล้วว่าอดีตที่ผ่านมา ทรัพยากรที่มีค่าเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และแต่ละช่วงเวลา ก็มีประเทศที่ครอบครองมัน แตกต่างกันออกไป
ไล่ตั้งแต่
- ทองคำ ครอบครองโดยสเปน
- ถ่านหิน ครอบครองโดยอังกฤษ
- น้ำมัน ครอบครองโดยสหรัฐฯ และกลุ่ม OPEC
จนมาถึงวันนี้ ที่เป็นชิป อุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ ที่อยู่เบื้องหลังหลาย ๆ เทคโนโลยี กลับไม่มีประเทศไหน ที่สามารถครอบครองทั้งอุตสาหกรรมได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ก็จะมีเพียงประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและมีอำนาจ ในแต่ละส่วนของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ แตกต่างกันออกไปเท่านั้น
แต่ในอนาคต ก็ไม่แน่ ที่ภาพนี้จะเปลี่ยนไป..

เนื่องจากตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป หรือจีนเอง ต่างก็ต้องการลดการพึ่งพาคนอื่น และหันมาควบคุมห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมชิป ให้ครบจบในประเทศมากขึ้น
เพราะเล็งเห็นว่า ชิป มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงของชาติ
ซึ่งประเทศไหนที่เป็นผู้นำด้านนี้ ก็จะมีอำนาจต่อรองในเวทีโลกสูง นั่นเอง
หรือเรียกได้ว่า “ชิป” กลายเป็นบ่อน้ำมันแห่งอนาคต ที่หลายประเทศอยากครอบครอง ก็คงไม่ผิดมากนัก..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-Chip War by Chris Miller
-https://www.blockdit.com/posts/60a5a7286bdd7b08bf7a23fd
-https://www.offshore-technology.com/comment/history-oil-gas/?cf-view
-https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_the_petroleum_industry
-https://www.trademap.org/Product_SelProduct
-https://www.reuters.com/technology/chinas-tencent-seek-domestic-source-ai-training-chips-following-us-chip-curb-2023-11-15/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.