บราซิล เจ้าพ่อแก้ปัญหาเกษตร ผลผลิตต่ำ และสินค้าล้นตลาด

บราซิล เจ้าพ่อแก้ปัญหาเกษตร ผลผลิตต่ำ และสินค้าล้นตลาด

29 ม.ค. 2024
บราซิล เจ้าพ่อแก้ปัญหาเกษตร ผลผลิตต่ำ และสินค้าล้นตลาด /โดย ลงทุนแมน
ประเทศไทย มักเจอปัญหาด้านการเกษตรเรื้อรัง ทั้งผลผลิตต่อไร่ต่ำ และสินค้าเกษตรล้นตลาด ที่สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรไทยอยู่เป็นประจำ
ซึ่งเรื่องแบบนี้ ก็เกิดขึ้นกับ “บราซิล” ผู้ผลิตสินค้าเกษตรเบอร์ต้น ๆ ของโลก เช่นกัน
แต่กลับมีวิธีแก้ปัญหานี้ ได้อย่างน่าสนใจ
นับเป็นอีกกรณีศึกษา ที่ประเทศไทยของเรา น่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้
แล้วบราซิล ทำอย่างไร ในการจัดการปัญหาผลผลิตทางการเกษตร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
รู้ไหมว่าในปี 2022 บราซิลเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออก สูงถึง 4,700,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรองเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น

ต้องบอกว่า ในมุมการเกษตร บราซิลค่อนข้างคล้ายกับประเทศไทย เพราะมีสภาพอากาศและน้ำที่เหมาะสม ทำให้สามารถทำการเกษตรต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
แต่ก็เจอปัญหาเหมือนกับไทยด้วยเช่นกัน ไล่ตั้งแต่ผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ต่ำ การผลิตแบบเดิม ๆ ของเกษตรกร รวมทั้งพืชที่ไม่ทนทานต่อโรค และให้ผลผลิตที่น้อย
ทำให้ช่วงแรก แม้จะมีพื้นดินอุดมสมบูรณ์แค่ไหน แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 200 ล้านคน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้ามากกว่าส่งออก
จนกระทั่งในช่วงปี 1970 รัฐบาลบราซิล ซึ่งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงตั้งเป้าหมายใหม่ ด้วยการเปลี่ยนประเทศจากเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่เกษตรแบบทันสมัยมากขึ้น
ซึ่งปัญหาหลักเรื่อง “ผลผลิตต่อไร่ต่ำ” เป็นสิ่งแรกที่ต้องได้รับการแก้ไข
โดยรัฐบาลบราซิล ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัย EMBRAPA ขึ้นมา เพื่อวิจัยพันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และทนทานต่อโรคมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังก่อตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคการผลิตกับเกษตรกร เพื่อนำงานวิจัยและความรู้ทางวิชาการ ลงไปให้กับเกษตรกร ผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริง
ซึ่งในปี 1954 ทั้งประเทศมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ทางการเกษตรเพียง 100 คนเท่านั้น แต่ในปี 1981 กลับมีเจ้าหน้าที่มากถึง 13,000 คน
การเพิ่มขึ้นของเจ้าหน้าที่แบบก้าวกระโดดขนาดนี้
ก็เพราะว่า รัฐบาลบราซิล มีการเร่งอบรมและจ้างเจ้าหน้าที่ใหม่ ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งประเทศมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ผลผลิตต่อไร่ และเทคนิคการผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรบราซิลส่วนใหญ่ ก็ยังขาดแหล่งเงินทุนในการต่อยอดผลผลิตของตัวเอง
รัฐบาลบราซิล จึงก่อตั้งหน่วยงานให้สินเชื่อขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุน สำหรับลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร เมล็ดพันธุ์พืชใหม่ ๆ รวมทั้งจ้างแรงงานเพิ่มเติม
ทำให้ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี นับตั้งแต่ปี 1970
มีเกษตรกรบราซิลทั่วประเทศ ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 8,400 ไร่ กลายเป็น 41,000 ไร่ เลยทีเดียว
ถึงตรงนี้ ดูเหมือนว่าบราซิลจะประสบความสำเร็จ
ในการเปลี่ยนจากเกษตรกรรมดั้งเดิม ให้เป็นเกษตรกรรมทันสมัยในระดับหนึ่งแล้ว
แต่ยังไม่หมดเท่านี้ เพราะมีอีกเรื่องหนึ่ง ที่บราซิลสามารถแก้ปัญหาได้ดี นั่นคือ “สินค้าเกษตรล้นตลาด”
ย้อนไปในช่วงปี 1930 กาแฟ ถือเป็นผลผลิตที่บราซิลส่งออกมากที่สุดในโลก แม้ไม่ได้เป็นพืชพื้นเมืองดั้งเดิมของบราซิลก็ตาม
แต่ในช่วงเดียวกันนั้น ดันเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่เรารู้จักกันว่า Great Depression ทำให้เศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศย่ำแย่ คนตกงาน และทำให้บราซิลส่งออกกาแฟได้น้อยลง
เมื่อยอดส่งออกกาแฟลดลง ทำให้ผลผลิตในประเทศเริ่มล้นตลาด ดังนั้นรัฐบาลบราซิลจึงต้องรับมือ และหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
จนในที่สุด รัฐบาลบราซิล ก็ได้ตามจีบบริษัท Nestlé ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลก เพื่อเจรจาให้รับซื้อกาแฟที่ล้นตลาดในบราซิล
ซึ่ง Nestlé เอง ก็ตอบรับข้อเสนอของบราซิล และคิดค้นผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ภายใต้ชื่อ Nescafé ขึ้นมา เพื่อช่วยรับซื้อกาแฟส่วนเกิน ในตลาดของบราซิลโดยเฉพาะ
และอย่างที่รู้จัก Nescafé ก็ได้กลายมาเป็นสินค้าทำเงินให้บริษัทอย่างมหาศาลในเวลาต่อมา
ในขณะที่บราซิลเอง ก็ได้ประโยชน์ในการหาตลาดรองรับกาแฟของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในการผลิตแบรนด์สินค้าด้วยตัวเอง
หรือจะเป็นอีกช่วงหนึ่ง ในวิกฤติการณ์น้ำมัน เมื่อปี 1973
ตอนที่ราคาน้ำมันพุ่งสูง จนกระทบต่ออุตสาหกรรมและคนในประเทศจำนวนมาก แต่สิ่งที่รัฐบาลบราซิลดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา กลับไม่ใช่การทำให้ค่าเงินของตัวเองแข็งค่าขึ้น เพื่อนำเข้าน้ำมันได้ในราคาถูกลง
เพราะหากทำให้เงินของตัวเองแข็งค่า จะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของบราซิลอย่างหนัก ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ
สิ่งที่รัฐบาลบราซิลทำ จึงเป็นการประกาศนโยบาย National Alcohol Program เพื่อสนับสนุนการใช้
เอทานอล ที่สกัดออกมาจากอ้อย ทดแทนการใช้น้ำมันบางส่วน
ซึ่งต้องบอกว่า อ้อย นอกจากจะทำเป็นน้ำตาลได้แล้ว ยังสกัดออกมาเป็น “เอทานอล” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกทางหนึ่งด้วย
โดยนโยบายที่ว่านี้ รัฐบาลบราซิลบังคับให้น้ำมันในประเทศ ต้องใช้ส่วนผสมของเอทานอล 30% เพื่อทำให้ราคาน้ำมันในประเทศของตัวเองถูกลง
บวกกับการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศตัวเอง เพื่อปรับเครื่องยนต์ให้รองรับน้ำมันที่ผสมเอทานอลด้วย
จนปัจจุบัน รถยนต์ในบราซิลกลายเป็นแบบ Flex Fuel หรือรถยนต์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำมันเบนซิน ที่มีส่วนผสมของเอทานอล คิดเป็นสัดส่วนราว 75% ของรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ
ซึ่งนอกจากการใช้เอทานอลจากอ้อยแล้ว บราซิลยังสนับสนุนให้มีการใช้ถั่วเหลือง หรือธัญพืชอื่น ๆ ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล เพื่อใช้ในประเทศเพิ่มเติมอีกด้วย
พอเป็นแบบนี้ จึงทำให้เกษตรกรบราซิล ไม่ต้องเจอปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด เพราะมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากมาย ให้รองรับผลผลิตที่ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง
สรุปแล้ว จะเห็นได้ว่า การแก้ปัญหาสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ต่ำ หรือสินค้าเกษตรล้นตลาดของบราซิลเองก็ตาม ไม่ได้เป็นเพียงแผนแค่ระยะสั้น ๆ ที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
แต่มันมาจากวิสัยทัศน์และการวางแผนระยะยาว ให้มีอุตสาหกรรมในประเทศ ที่ใช้ผลผลิตทางการเกษตรต่อยอดได้ ทำให้สินค้าเกษตรมีตลาดรองรับ และสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น

และการขายได้ในราคาสูง ก็ต้องมีคุณภาพผลผลิตสูงเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็มาจากการส่งเสริมเทคนิคการปลูก การวิจัยที่เข้มข้น และแหล่งเงินทุนด้านการเกษตร ที่เข้าถึงได้ง่ายของบราซิล
จึงไม่แปลกเลย ที่ทุกวันนี้ บราซิลจะกลายมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรเบอร์ต้น ๆ ของโลกได้
ซึ่งนับเป็นอีกกรณีศึกษา ที่หลาย ๆ ประเทศรวมถึงไทย น่าจะสามารถนำมาต่อยอด หรือประยุกต์ใช้ได้ เพื่อที่เกษตรกรในประเทศหลายล้านคน จะไม่ต้องเจอปัญหาเรื้อรังแบบเดิมเหล่านี้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-Public Policies and Agricultural Investment in Brazil by Food and Agriculture Organization of the United Nations Policy Assistance Support Service 2012
-Biofuel Policy in Brazil, India and the United States by International Energy Agency
-https://www.reuters.com/markets/commodities/brazil-policy-council-approves-raising-biodiesel-mix-2023-12-19
-https://en.wikipedia.org/wiki/Nescaf
-https://en.wikipedia.org/wiki/Coffee_production_in_Brazil
-https://www.selinawamucii.com/insights/prices/brazil/sugarcane/
-https://www.statista.com/statistics/1332329/leading-countries-worldwide-by-value-of-agricultural-products-exported/
-https://interfax.com/newsroom/top-stories/91899/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.