ฟองสบู่ทะเลใต้ – การเจ๊งหุ้นของนิวตัน

ฟองสบู่ทะเลใต้ – การเจ๊งหุ้นของนิวตัน

19 มี.ค. 2018
ฟองสบู่ทะเลใต้ – การเจ๊งหุ้นของนิวตัน / โดย ลงทุนแมน
วันนี้ลงทุนแมนจะพาทุกคนไปรู้จักฟองสบู่ในยุคแรกๆ ของประวัติศาสตร์โลก
นั่นคือฟองสบู่ของบริษัท South Sea (South Sea Bubble)
กษัตริย์อังกฤษในขณะนั้น แลเซอร์ไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่
ยังโดนหางเลขของฟองสบู่ลูกนี้กระเด็นใส่จนแทบจะหมดตัวมาแล้ว
เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปที่ประเทศอังกฤษปี 1711 หรือประมาณ 300 ปีที่แล้วใน ในขณะนั้น อังกฤษมีสงครามกับสเปน ทำให้รัฐบาลอังกฤษ มีการกู้เงินมากมายในรูปของพันธบัตร เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำสงคราม และกิจการต่างๆ ของรัฐบาล
ผลลัพธ์คือ รัฐบาลอังกฤษมีหนี้สินเป็นจำนวนมหาศาล
บริษัท South Sea Company จึงถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาล และ เรียกความเชื่อมั่นของรัฐบาลอังกฤษกลับคืนมา
โดยบริษัทได้เสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือในการจ่ายหนี้ก้อนใหญ่ของรัฐบาลแทน  โดยมีไอเดียคือ ให้เจ้าหนี้ของรัฐบาลอังกฤษ สามารถเปลี่ยนหนี้ที่รัฐบาลค้างไว้ มาเป็นหุ้นของบริษัท South sea company แทนได้ พูดง่ายๆ คือ นำพันธบัตรรัฐบาลมาแลกกับหุ้น
แล้วบริษัทจะได้อะไรเป็นการตอบแทน?
เพื่อเป็นการตอบแทนที่บริษัทปลดนี้ให้ รัฐบาลต้องมอบสัมปทานการผูกขาดการค้า ทั้งหมดในแถบทะเลใต้ (น่านน้ำในแถบทวีปอเมริกาใต้บนฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก) ให้กับบริษัท
ในยุคนั้นการเดินเรือค้าขายทางไกลกับต่างประเทศ เป็นช่องทางการทำธุรกิจที่ได้ผลตอบแทนมาก
บริษัทใดที่สามารถผูกขาดการค้าระหว่างประเทศได้ มักจะกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้ดังที่ VOC (Dutch East India Company) ทำสำเร็จมาแล้ว  (อ่านเรื่อง VOC ได้ที่ https://www.longtunman.com/3192)
ข้อเสนอนี้ดูค่อนข้างจะสวยหรู ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ทั้ง รัฐบาล และบริษัท South Sea
อีกทั้งยังมีการช่วยเหลือและโปรโมตจากรัฐบาลในขณะนั้น ทำให้หุ้นของบริษัทได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากคนทุกระดับชั้น
อย่างไรก็ตาม การค้าขายของบริษัท South Sea ที่ได้รับสัมปทานมานั้น ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรทั้ง การค้าทาส หรือการค้าฝ้าย ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
แต่อย่างไรก็ตามหุ้นของบริษัทไม่ได้ลดลง แต่กลับทะยานขึ้นจากเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นของบริษัท
หุ้นของบริษัททะยานจากระดับไม่กี่ 10 ปอนด์ไปจนถึงระดับ 1,000 ปอนด์ในเวลาเพียงไม่กี่ปี..
ความบ้าคลั่งในการซื้อหุ้นของ บริษัท South Sea กระจายไปทั่ว ผู้ถือหุ้นมีทั้งชนชั้นสูงของอังกฤษ สมาชิกสภา ประชาชนทั้งหลาย  ไม่เว้นแม้กระทั่ง พระเจ้าจอร์จ ที่ 1 กษัตริย์อังกฤษในขณะนั้น และ เซอร์ไอแซค นิวตัน นักฟิสิกส์อัจฉริยะผู้โด่งดัง
จุดเริ่มต้นของจุดจบเกิดจาก เมื่อผู้บริหารของบริษัทเริ่มเห็นแล้วว่า รายได้ของบริษัทไม่ได้สมดุลกับราคาหุ้นที่บริษัทออกไป คนพวกนี้จึงเริ่มขายหุ้นทั้งหมดออก แต่เมื่อข่าวนี้รั่วไหลออกไปทำให้มีการเทขายเกิดขึ้น
ต่อมามีการเปิดเผยผลขาดทุนมหาศาลที่ซ่อนอยู่ ในที่สุด บริษัท South Sea ก็ล้มละลายในปี 1720 หรือภายใน 9 ปีเท่านั้น
ผลกระทบทั้งหลายก็ตามมาเป็นลูกโซ่ ทั้งการที่ธนาคารต้องแบกรับหนี้เสียจำนวนมากที่ปล่อยกู้ให้ซื้อหุ้นของบริษัท มีทั้งผู้บริหาร และ ข้าราชการต้องติดคุกอีกหลายคนจากการพิจารณาคดี
แม้ว่าปัจจุบันนักลงทุนจะมีความรู้มากกว่าในอดีต รวมถึงการมีกฎหมายและมาตรฐานการบัญชีที่เข้มงวดกว่าเดิมมาก
แต่เรื่องคล้ายๆ แบบนี้ก็ยังคงเห็นอยู่เรื่อยๆ ในปัจจุบัน
เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่า “ฟองสบู่” นั้นมีมานานแล้ว แต่คนเราก็ยังหลงอยู่กับหลุมพรางเดิมๆ ที่เคยมีมา ซึ่งต้นกำเนิดของหลุมพรางนั้นก็ยังติดตัวเรามาตลอดนั่นก็คือ “ความโลภ” นั่นเอง
ปิดท้ายด้วยวลีอมตะซึ่งเกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ว่า
“ข้าพเจ้าสามารถคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงดาว แต่ไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของมนุษย์”
เซอร์ไอแซค นิวตัน
----------------------
<ad> นิวตันปวดหัวเพราะเจ๊งหุ้น
แต่ถ้าเราปวดหัวเพราะเจอดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลแสนแพง
มารวมหนี้ และลดดอกเบี้ยลงได้ เหลือเพียงเริ่มต้น 5.5% ด้วยบ้านหรือคอนโดของคุณ
บริการฟรีจาก Refinn ช่วยคุณหาธนาคารที่เหมาะสมได้ คลิกที่นี่ http://bit.ly/2FIcKVK
----------------------
Reference
-https://www.investopedia.com/features/crashes/crashes3.asp
-หนังสือ random walk down wall street
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.