หนี้สาธารณะสูง มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

หนี้สาธารณะสูง มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

27 พ.ย. 2023
หนี้สาธารณะสูง มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร /โดย ลงทุนแมน
หนึ่งในคำพูดที่เรามักได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงนี้ คือคำว่า “หนี้สาธารณะ” ซึ่งหลายคนกังวลว่า ถ้าหนี้สาธารณะยิ่งสูง มักส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของประเทศ
คำว่า หนี้สาธารณะสูงนั้น เราใช้อะไรเป็นตัววัดว่าสูง และถ้าหนี้สาธารณะสูงแล้ว มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หนี้สาธารณะ จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตามที่ รัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
พอเรื่องเป็นแบบนี้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาใช้ โดยเครื่องมือในการกู้เงิน ที่รัฐบาลใช้เป็นหลัก ก็คือ การออกตราสารหนี้
ส่วนใหญ่แล้วก็คือ “พันธบัตรรัฐบาล” รวมไปถึงการกู้ยืมจากช่องทางอื่น เช่น เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ
ซึ่งต้องหมายเหตุว่า หนี้สาธารณะในที่นี้ จะรวมถึงหนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจกู้ หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันด้วย
หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วเป้าหมายของการกู้ยืมเงินของรัฐบาลนั้นคืออะไร ?
ก็ต้องบอกว่า เป้าหมายหลักของการก่อหนี้สาธารณะคือ เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ
โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา และพลังงาน
ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ประชาชน ขยายการลงทุนในกิจการต่าง ๆ ทําให้ประชาชนมีงานทํา มีรายได้สูงขึ้น เมื่อรายได้ประชาชาติเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลก็จะสามารถเก็บภาษีเงินได้จากประชาชนเพิ่มขึ้นเพื่อชําระหนี้คืน
คำถามที่น่าสนใจต่อมาก็คือ แล้ววันนี้หนี้สาธารณะของไทยมีจำนวนเท่าไร และสูงหรือไม่ ?
ก่อนอื่นเรามาดูหนี้สาธารณะของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ปี 2560 จำนวนหนี้สาธารณะ 6.37 ล้านล้านบาท
ปี 2563 จำนวนหนี้สาธารณะ 7.85 ล้านล้านบาท
ปี 2565 จำนวนหนี้สาธารณะ 10.37 ล้านล้านบาท
สิ้นเดือนกันยายน ปี 2566 จำนวนหนี้สาธารณะ เท่ากับ 11.13 ล้านล้านบาท
จะเห็นว่าจำนวนหนี้สาธารณะของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยปกติแล้ว การดูจำนวนหนี้สาธารณะ มักจะถูกนำไปเทียบกับมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ด้วย
ทั้งนี้ การตีความคำว่าหนี้สูงหรือต่ำ ก็อาจไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกามีหนี้สาธารณะต่อ GDP ถึง 123% หรือญี่ปุ่นที่มีหนี้สาธารณะต่อ GDP มากถึง 220%
ที่ทั้ง 2 ประเทศ สามารถก่อหนี้ได้สูง ก็เนื่องจากการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่และมั่นคงกว่าประเทศอื่น ๆ รวมถึงยังเป็นประเทศที่มีเครดิตที่ดีในการชำระหนี้ ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากเจ้าหนี้
จึงสามารถกู้ยืมได้มากกว่าประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอ่อนแอกว่า นั่นเอง
และเมื่อลองกลับมาดูที่ประเทศไทย จะพบว่า ปัจจุบัน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทย อยู่ที่ 60.54% โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 41.78%
สัดส่วนระดับนี้ อยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันอย่างฟิลิปปินส์ มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย
ส่วนสาเหตุที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะช่วงที่มีการล็อกดาวน์ เนื่องจากรายได้สุทธิของรัฐลดลง แต่งบประมาณที่รัฐต้องใช้จ่ายกลับสูงขึ้น
รวมไปถึงการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท
แล้วสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศที่สูง ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ?
จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือบริษัทเอกชน การที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินจำนวนมาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี
เพราะถ้ามากเกินไป ก็อาจมีปัญหาเรื่องการชำระคืนหนี้ และความเชื่อมั่นของประเทศอื่น ๆ ที่มีต่อประเทศไทย ก็อาจลดลง ส่งผลต่อการลงทุนทั้งภายในประเทศเอง และจากต่างชาติ
รวมไปถึงการก่อหนี้สาธารณะในอนาคต ก็อาจมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้รัฐบาลในอนาคตอาจติดปัญหาเรื่องงบประมาณใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอ
อีกประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ การก่อหนี้สาธารณะแต่ละครั้ง ควรใช้ไปกับการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ที่สามารถสร้างผลตอบแทน และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้ในระยะยาว
เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และช่วยให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศลดลงในอนาคต
ไม่เช่นนั้น ภาระหนี้สาธารณะที่มากเกินไป อาจทำให้คนรุ่นหลังต้องมาคอยแบกรับภาระต่อไป ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อหนี้ขึ้นมา และอาจไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากก้อนหนี้ที่มีอยู่ด้วยซ้ำ..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.pdmo.go.th/th/faq-debt
-https://www.the101.world/hidden-public-debt/
-https://data.worldbank.org/indicator/GC.DOD.TOTL.GD.ZS?locations=TH-SG-MY-PH-ID
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.