ขี้นก ทองคำขาวล้านล้าน ที่เคยขับเคลื่อน เศรษฐกิจโลก

ขี้นก ทองคำขาวล้านล้าน ที่เคยขับเคลื่อน เศรษฐกิจโลก

23 พ.ย. 2023
ขี้นก ทองคำขาวล้านล้าน ที่เคยขับเคลื่อน เศรษฐกิจโลก /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่า “ขี้นก” เป็นเหมือนทองคำขาวเมื่อ 100 ปีที่แล้ว และประเทศเปรู ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ส่งออกขี้นก
รายใหญ่ของโลก ด้วยมูลค่ากว่า 22 ล้านล้านบาท
ขี้นกนี้เอง ทำให้สหรัฐฯ สร้างประเทศตัวเองขึ้นมาได้ และยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ สร้างอาหารให้ประชากรโลก มาจนถึงทุกวันนี้
“ขี้นก” มีมูลค่าล้านล้านบาทได้อย่างไร
แล้วทำไม ถึงเคยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
100 ปีก่อน สาเหตุที่คนทั่วโลกแห่กันไปที่ทวีปอเมริกา ก็เพื่อค้นหาทองคำ จนเราเรียกยุคนั้นกันว่า “ยุคตื่นทอง”
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคน ที่จะพบทองคำตามที่หวัง คนบางกลุ่ม ที่ไม่อยากกลับบ้านมือเปล่า จึงขุดขี้นกที่พบในทวีปอเมริกาใต้ เอาไปขายที่สหรัฐฯ และยุโรป..
สาเหตุที่คนไปหาทองคำ แต่พบขี้นกจำนวนมาก ก็เพราะบริเวณนั้น เป็นพื้นที่นกทะเลบินผ่าน เพื่อมากินปลาที่ชุกชุมแถวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก
แม้ขี้นกจะดูเหมือนของไร้ค่า แต่กลับนำมาขายได้ในราคาสูง เพราะมีแร่ชื่อว่า “แร่ฟอสเฟต” เรียกได้ว่าเป็นสารอาหารสำคัญในการบำรุงผลผลิตทางการเกษตร
ซึ่งในสมัยนั้น สหรัฐฯ เพิ่งเริ่มก่อตั้งประเทศใหม่ ๆ และต้องการส่งออกฝ้ายไปยุโรปอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการปุ๋ยจำนวนมาก เข้ามาใช้ในภาคเกษตรกรรม
ส่วนในทวีปยุโรป ประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่งผลให้ภาคเกษตรกรรมต้องเร่งผลิตอาหาร ปุ๋ยจากขี้นกจึงเป็นที่ต้องการไปด้วย
สรุปได้ว่า “ขี้นก” ได้กลายมาเป็นทรัพยากรสำคัญ ที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ในตอนนั้นเลยทีเดียว..
ซึ่งเรื่องนี้ ก็ทำให้ประเทศในทวีปอเมริกาใต้อย่างเปรู สามารถส่งออกขี้นก ที่มีจำนวนมากในประเทศ ไปยังสหรัฐฯ และยุโรปได้อย่างต่อเนื่อง..
โดยมีการคาดการณ์ว่า ในช่วงปี 1840 ถึง 1870 กินระยะเวลาราว 30 ปี ประเทศเปรู ส่งออกขี้นกมากถึง 12 ล้านตัน
คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันมากถึง 22 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว..
ด้วยความต้องการที่มากกว่าที่หาได้ ขี้นกจึงเป็นของหายาก ถึงขนาดที่ว่าสหรัฐฯ ต้องออกกฎหมาย “Guano Islands Act” เพื่ออนุญาตให้คนอเมริกันไปยึดเกาะขี้นก ที่ไม่มีเจ้าของได้ทั่วโลก..
ส่วนเปรูและโบลิเวียเองก็ขัดแย้งกับชิลี ถึงขนาดเกิดสงครามแย่งชิงขี้นกระหว่างกัน ยืดเยื้อนานกว่า 5 ปี
ในขณะที่อีกฟากหนึ่งของโลก เกาะนาอูรูที่ตั้งอยู่บน
มหาสมุทรแปซิฟิก เยอรมนีก็ได้เข้ามายึดเป็นอาณานิคม เพื่อส่งขี้นกจำนวนมากกลับประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ขี้นกเป็นสิ่งที่หายาก ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจึงพยายามหาวิธี คิดค้นปุ๋ยที่ใช้วัตถุดิบอื่น นอกจากขี้นกเพียงอย่างเดียว
จนในที่สุด ในปี 1909 Fritz Haber และ Carl Bosch นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน 2 คน ก็ได้คิดค้นสิ่งที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า “ปุ๋ยเคมี” ได้สำเร็จ
วิธีการของเขา ก็คือ
- เอาก๊าซไนโตรเจนที่มีในอากาศจำนวนมาก
- มาทำปฏิกิริยากับก๊าซไฮโดรเจน
ผลที่ได้ก็คือ แอมโมเนีย (NH3) ในปุ๋ยนั่นเอง
โดยในตอนนั้น เยอรมนีไม่เหมือนกับชาติยุโรปอื่นที่นิยมวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ที่เน้นการทดลอง และค้นพบสิ่งใหม่ ๆ
แต่เยอรมนีเน้นการพัฒนาแบบวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คือคิดค้นและพัฒนา เพื่อนำไปปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ซึ่งเมื่องานวิจัยเรื่องปุ๋ยเคมีสำเร็จ บริษัท ​​Badische Anilin- und Sodafabrik หรือ BASF ที่เคยมีผลงานเด่น จากการนำงานวิจัยสีผ้าสังเคราะห์ มาผลิตในสเกลโรงงาน จนสามารถครองตลาดสีสังเคราะห์ได้กว่า 90% ของทั่วโลกในตอนนั้น
ก็ได้นำสูตรปุ๋ยเคมีไปปรับใช้ เพื่อผลิตในภาคอุตสาหกรรม และกลายเป็นผู้ผลิตปุ๋ยเคมีรายแรกของโลก
ซึ่งปุ๋ยเคมีที่ผลิตได้ มีราคาถูกกว่าปุ๋ยขี้นกเป็นอย่างมาก ปุ๋ยเคมีจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และสร้างรายได้ให้บริษัทได้เป็นกอบเป็นกำ
และเรื่องนี้ก็กลายมาเป็นฝันร้ายกับประเทศเปรู..
ที่เคยส่งออกขี้นกได้อย่างมหาศาล ก็ส่งออกขี้นกได้น้อยลง จนปัจจุบันมีการใช้ภายในประเทศเพียงอย่างเดียว
ส่วนนาอูรู ที่เคยอยู่ภายใต้เยอรมนี หลังจากเปลี่ยนเจ้าของอาณานิคมหลายประเทศ จนได้รับเอกราช ก็เปลี่ยนไปส่งออกแร่ฟอสเฟตจากขี้นกแทน
แร่ฟอสเฟตจากบุญเก่านี้เอง ทำให้ในปี 1981 นาอูรูสามารถส่งออกแร่ฟอสเฟตได้มากถึง 2 ล้านตันต่อปี เพราะตลาดแร่ฟอสเฟตกลับมาเติบโตอีกครั้ง
รัฐบาลนาอูรู ได้นำเงินบางส่วนที่ได้จากการส่งออกแร่ฟอสเฟต คิดเป็นมูลค่ากว่า 130,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน ไปเป็นกองทุนแร่ฟอสเฟตของประเทศ
เรื่องนี้เหมือนจะดี แต่เงินจากกองทุนนี้ ไม่ได้ถูกนำไปสร้างประโยชน์ อย่างการลงทุนในการศึกษา หรือโครงสร้างพื้นฐาน
แต่รัฐบาลกลับนำเงินกองทุน ไปเป็นหลักประกันเพื่อกู้ยืมเงินกับธนาคารกลางของประเทศ เพื่ออุดหนุนอุตสาหกรรมการบิน
จนกระทั่งการส่งออกแร่ฟอสเฟตซบเซาลง และปริมาณขี้นกในประเทศเริ่มร่อยหรอ หลักประกันกู้ยืมที่เคยมีก็เริ่มหมดลง ส่งผลให้เจ้าหนี้ธนาคารกลางล้มละลาย
กลายเป็นว่าคนในประเทศยากจนลง
คนว่างงานมากถึง 90% ของประเทศ
และไม่สามารถทำอาชีพอื่นได้
เพราะรัฐบาลไม่ได้กระจายการลงทุน และพัฒนาไปยังภาคส่วนอื่น ๆ
ส่วน BASF ผู้คิดค้นและผลิตปุ๋ยเคมีรายแรกของโลก ที่มาแทนปุ๋ยขี้นก
ปัจจุบัน ได้กลายเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ ใหญ่สุดในโลก ด้วยมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-ADB Country Economic Report: Nauru
-https://www.smithsonianmag.com/smithsonian-institution/how-gold-rush-led-real-riches-bird-poop-180957970/
-https://edition.cnn.com/2020/08/06/world/sea-bird-conservation-value-of-poop-scn-trnd/index.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/Guano
-https://theretrobliss.medium.com/bolivia-fought-and-lost-a-war-for-bird-poop
-https://geneticsunzipped.com/transcripts/2020/2/25/the-bird-poop-revolution
-https://www.bbc.com/news/business
-https://en.wikipedia.org/wiki/BASF
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.