ประเทศไทย มีตัวละครลับ ที่กดเงินเฟ้อไว้อยู่

ประเทศไทย มีตัวละครลับ ที่กดเงินเฟ้อไว้อยู่

10 ต.ค. 2023
ประเทศไทย มีตัวละครลับ ที่กดเงินเฟ้อไว้อยู่ /โดย ลงทุนแมน
ปีที่แล้ว เราเจอเงินเฟ้อระดับ 7% สูงสุดในรอบ 13 ปี
ปีนี้ เงินเฟ้อยังคงสูง แต่ก็ชะลอตัวลงแล้ว
รู้หรือไม่ว่า เงินเฟ้อในบ้านเราที่ดูแล้วไม่สูง จริง ๆ แล้วเรามีตัวละครลับ ที่ช่วยกดเงินเฟ้อไว้อยู่ เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เริ่มจาก ส่วนประกอบของเงินเฟ้อที่สำคัญก็คือ ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน
โดย ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ซึ่งรวมกันเป็นค่าพลังงานนั้น ถูกนำไปคิด อยู่ในตะกร้าเงินเฟ้อบ้านเรา เป็นสัดส่วนราว 15% เลยทีเดียว
ดังนั้นเมื่อภาครัฐเข้ามาจัดการให้ ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมันที่เราจ่าย ต่ำกว่าความเป็นจริง เงินเฟ้อที่ประกาศออกมาเลยจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้
ทีนี้มาดูกันว่า ภาครัฐเรา แบกอะไรอยู่บ้าง ?
เริ่มกันที่ตัวแรกเลย คือ “ค่าไฟฟ้า”
เราอาจจะคิดว่า ค่าไฟฟ้า 4 บาทกว่า คือแพงแล้ว
แต่จริง ๆ แล้ว ที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าในบ้านเรา มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ช่วยอุดหนุนค่า Ft มาโดยตลอด
ค่า Ft ก็คือ ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ค่ารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และต้นทุนนโยบายภาครัฐ เพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียน
ที่ผ่านมา ค่า Ft ก็ปรับเพิ่มขึ้นตลอด จากต้นทุนการผลิตที่เปลี่ยนแปลง
ทำให้ปัจจุบัน กฟผ. มีหนี้จากการอุดหนุนในส่วนนี้ กว่า 111,869 ล้านบาท
โดยจากรายงานของ กฟผ. บอกว่า หากเรียกเก็บเพื่อใช้หนี้ค่า Ft ทั้งหมดที่มี ให้หมดในปีนี้
ค่า Ft ที่ควรจะเป็นคือ 249.81 สตางค์ต่อหน่วย และค่าไฟฟ้าขายปลีก จะเท่ากับ 6.72 บาท..
แต่หากต้องการให้มีการเก็บค่า Ft ต่ำ ๆ คือ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย อย่างในตอนนี้
กว่า กฟผ. จะทยอยใช้หนี้หมด ก็คือ ปี 2568 หรืออีก 2 ปี..
แต่ถ้าต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้นอีก และเราต้องการกดราคาค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับเดิม กฟผ. ก็ต้องอุดหนุนค่า Ft มากขึ้น และขยายเวลาชดใช้หนี้ออกไปก่อน
นอกจากค่าไฟฟ้าแล้ว “ค่าน้ำมัน” ก็เช่นกัน
ที่บ้านเรามีกองทุนน้ำมัน ที่คอยแบกราคาเอาไว้
หากเราไปดู ราคาขายปลีกน้ำมัน ณ วันที่ 3 ตุลาคม พบว่า
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ราคาขายปลีก 38.88 บาทต่อลิตร

- เป็นราคาหน้าโรงกลั่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าการตลาด และอื่น ๆ รวมกันเท่ากับ 36.08 บาทต่อลิตร
- กองทุนน้ำมัน 2.80 บาทต่อลิตร
น้ำมันดีเซล B7 ราคาขายปลีก 29.94 บาทต่อลิตร
- เป็นราคาหน้าโรงกลั่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าการตลาด และอื่น ๆ รวมกันเท่ากับ 37.96 บาทต่อลิตร
- กองทุนน้ำมัน -8.02 บาทต่อลิตร
ค่าติดลบในกองทุนน้ำมัน หมายความว่า มีเงินสมทบจากกองทุนน้ำมันเข้ามาช่วยอุดหนุนราคา ไม่ให้แพงเกินไป
หากไม่มีเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน ราคาน้ำมันดีเซล B7 ก็จะแพงขึ้นอีกกว่า 8 บาท เป็น 38 บาท..
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนทุนของกองทุนน้ำมันที่ติดลบอยู่กว่า 65,732 ล้านบาท และยังติดลบเพิ่มขึ้นถึง 8,600 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียงแค่ 1 เดือนที่ผ่านมา
หากจะอุดหนุนราคาน้ำมันต่อไป จึงจำเป็นจะต้องกู้เงินเพิ่ม ซึ่งจะยิ่งทำให้เสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก สภาพคล่องและฐานะทางการเงินของกองทุน ก็จะยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก
หรืออีกทางคือ ลดเงินอุดหนุน แต่วิธีนี้ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นทันที
ทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ การอุดหนุนที่เกิดขึ้นนี้ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการในปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงด้วย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีสัดส่วนต้นทุน เป็นค่าไฟฟ้าสูงมาก จากตู้แช่เย็น และเครื่องปรับอากาศ
หากสาขาหนึ่งมีรายได้ 1 ล้านบาทต่อเดือน มีกำไร 5% หรือเดือนละ 50,000 บาท และเคยจ่ายค่าไฟฟ้า 40,000 บาทต่อเดือน
หากค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียง 10% หรือ 4,000 บาท กำไรก็จะหายไป เหลือ 46,000 บาท หรือกำไรหายไป 8% ทันที
หรืออย่างราคาน้ำมันก็เช่นกัน หากไม่มีการอุดหนุนโดยกองทุนน้ำมัน เราอาจจะต้องจ่ายค่าขนส่งสินค้าแพงขึ้น ค่าเดินทางของประชาชนก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งรถเมล์และรถส่วนตัว
และแน่นอนว่าเพื่อรักษาระดับกำไรไว้ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็จะถูกผลักไปที่ผู้บริโภค ด้วยการปรับขึ้นค่าบริการ หรือราคาขายสินค้านั่นเอง
นอกจากกลไกด้านนโยบายที่ช่วยซ่อนตัวเลขเงินเฟ้อของไทยไว้ ยังมีอีกปัจจัยก็คือ เรื่องของ “ค่าแรง”
จริง ๆ แล้ว แรงงานในบ้านเราที่ทำงาน และรับค่าแรงขั้นต่ำเพียงวันละ 300 ถึง 400 บาท มีจำนวนมากที่เป็นแรงงานต่างด้าว
ทั้งที่เข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมาย และลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย
ทั้งร้านค้า โรงงาน หรือแม้แต่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ต่างก็มีแรงงานต่างด้าวที่พร้อมรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นตัวเลือก ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิต หรือบริการในบ้านเรา ยังต่ำอยู่ได้
แต่หากเราต้องกลับมาจ้างคนไทย ซึ่งมีต้นทุนค่าแรงสูงกว่า ค่าบริการและราคาสินค้า อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่าการที่เรามีการแบกค่าพลังงานเอาไว้ ก็เพื่อให้เกิดเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
แต่อย่าลืมว่า เงินที่อุดหนุนไป ก็ต้องชดใช้คืนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา อาจจะไม่ลดกลับลงไประดับเดิมอีก
ทั้งหมดนี้ ก็คือเหตุผลสำคัญ
ที่ว่าทำไม เงินเฟ้อประเทศไทยมีตัวละครลับ ที่กดไว้อยู่
ซึ่งก็คือ ทั้ง กฟผ. กองทุนน้ำมัน และแรงงานต่างด้าว นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.egat.co.th/ft/ft_sep66-dec66/ft-reason_sep66-dec66.html
-https://www.doe.go.th/prd/alien/statistic/param/site/152/cat/82/sub/0/pull/category/view/list-label
-https://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/price/structure-oil-price?start=9
-https://www.offo.or.th/th/estimate/fuelfund-status
-http://www.indexpr.moc.go.th/price_present/cpi/data/index_47.asp?list_month=08&list_year=2566&list_region=country
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.