เวเนซุเอลา จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรม

เวเนซุเอลา จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรม

5 มี.ค. 2018
เวเนซุเอลา จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรม / โดย ลงทุนแมน
ถ้าเรานึกถึงประเทศเวเนซุเอลาเราจะนึกถึงอะไร..
เป็นประเทศที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเป็นผู้ตั้งชื่อให้
เป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก
เป็นประเทศที่มีสาวงามเป็นนางงามจักรวาลมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก
แต่ตอนนี้หลายๆ อย่างกำลังเปลี่ยนไป..
วันนี้ดินแดนแห่งนี้กำลังเป็นแดนโกลาหล ผู้คนหิวโหย เศรษฐกิจใกล้พังทลาย  เกิดอะไรขึ้นกับประเทศเวเนซุเอลา ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
ประเทศเวเนซุเอลา ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศนี้เคยเป็นอาณานิคมของสเปนและได้รับเอกราชในปี 1811 โดยใช้ระบบการปกครองแบบประธานาธิบดีซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้าคณะรัฐบาล
เวเนซุเอลาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากมายโดยเฉพาะปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ แร่มีค่าต่างๆ มากมาย
นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลกโดยในปี 2017
มีการคาดการณ์ว่าเวเนซุเอลามีปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่พิสูจน์แล้วประมาณ 17% ของปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่พิสูจน์แล้วในโลก
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจะพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเลียมเป็นอย่างมาก
รายได้จากการส่งออกน้ำมันและปิโตรเลียมมีสัดส่วนกว่า 90% ของมูลค่าการส่งออก ดังนั้น ถ้าราคาน้ำมันลดลง รายได้ของเวเนซุเอลาจึงต้องลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อ GDP
ปี 2014 ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ 99 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มูลค่าของ GDP เท่ากับ 11.6 ล้านล้านบาท
ปี 2015 ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ 52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มูลค่าของ GDP เท่ากับ 11.0 ล้านล้านบาท
ปี 2016 ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ 44 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มูลค่าของ GDP เท่ากับ 7.6 ล้านล้านบาท
จากประเทศที่เคยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศกว่า 1.2 ล้านล้านบาทในช่วงปี 2009 แต่ในปี 2016 กลับเหลือทุนสำรองเงินตราต่างประเทศประมาณ 480,000 ล้านบาท
ในช่วงปี 2009 เวเนซุเอลาเคยมีหนี้สินภาครัฐทั้งหมดประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท แต่ในปี 2016 กลับมีหนี้สินภาครัฐกว่า 3.3 ล้านล้านบาท
 
การบริหารงานที่ผิดพลาดของภาครัฐ รายได้ของประเทศลดลงจากผลของราคาน้ำมัน และหนี้สินของรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง การออกมาประท้วงอย่างต่อเนื่อง
อัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาในปี 2009 อยู่ที่ประมาณ 27%
ขณะที่ในปี 2016 อยู่ที่กว่า 720%
เงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ค่าเงิน โบลิวาร์ (bolivar) อ่อนกว่าลงกว่า 360% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนแบบเป็นทางการ
แต่คาดว่าในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไม่เป็นทางการค่าเงินโบลิวาร์จะอ่อนค่ากว่านั้นมหาศาล
การอ่อนค่าลงของเงินโบลิวาร์ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น เมื่อแพงขึ้นก็ทำให้สินค้านำเข้าค่อยๆ น้อยลง
ประกอบกับการที่รัฐบาลมีการคุมราคาสินค้า อาหารและยารักษาโรคให้อยู่ในระดับต่ำ แต่นั่นกลับเป็นการทำลายอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ
เนื่องจากราคาที่กำหนดนั้น ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งธุรกิจเอกชนหลายแห่งไม่สามารถอยู่รอดได้
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่สินค้าหลายอย่างขาดแคลนอย่างมาก โดยเฉพาะอาหาร ยารักษาโรค ประชาชนจำนวนมากหิวโหย โรงพยาบาลเต็มไปด้วยคนป่วย
แม้แต่หมอไม่มียาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอที่จะให้การรักษาให้
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าปี 2018 นี้ เงินเฟ้อในเวเนซุเอลามีโอกาสจะเพิ่มเป็น 13,000%
ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นในวันนี้อาจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมของอดีตประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคอเมริกาใต้ และอดีต 1 ใน 20 ประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก
เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กร บริษัทหรือประเทศ แม้ว่าเราจะมีทรัพยากรที่เอื้อต่อการทำธุรกิจหรือบริหารประเทศ แต่วิสัยทัศน์และความสามารถของผู้นำถือก็ยังถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง
ถ้าเปรียบผู้นำเป็นกัปตันเรือ เขาต้องสามารถกำหนด และตัดสินใจว่าจะนำพาเรือไปในทิศทางไหน
ตอนนี้เรือลำที่ชื่อว่าเวเนซุเอลากำลังเจอปัญหา เราสามารถเรียนรู้ว่าเรือลำนั้นได้ทำอะไรผิดพลาดไป
และเราต้องช่วยกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นกับเรืออีกลำที่ชื่อว่า ไทยแลนด์..
----------------------
<ad> อ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่แอปลงทุนแมน
โหลดฟรีได้ทีนี่ longtunman.com/app
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.