“ทิสโก้” ธนาคารผู้ร่วมก่อตั้งตลาดหุ้นไทย และ บุกเบิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“ทิสโก้” ธนาคารผู้ร่วมก่อตั้งตลาดหุ้นไทย และ บุกเบิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

31 ก.ค. 2023
“ทิสโก้” ธนาคารผู้ร่วมก่อตั้งตลาดหุ้นไทย และ บุกเบิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า ธนาคารทิสโก้ เป็นผู้ริเริ่มบริการทางการเงินหลายอย่างในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือบริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

ต่อมาบริการเหล่านี้ ได้กลายมาเป็นเครื่องจักรทำเงิน ให้กับธนาคารทิสโก้ และทำให้ธนาคารทิสโก้ เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีอัตราการทำกำไรสูง อันดับต้น ๆ ในประเทศไทย
แล้วเรื่องราวของ ธนาคารทิสโก้ มีความเป็นมาอย่างไร ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หลายคนเมื่อได้ยินชื่อ ทิสโก้ แล้ว อาจจะคิดว่าเป็นธนาคารต่างประเทศ
แต่ว่าจริง ๆ แล้ว ทิสโก้เป็นบริษัทที่ถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2512 หรือราว 54 ปีก่อน เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหลักทรัพย์
โดยในสมัยนั้น ตลาดหลักทรัพย์ไทย ที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์นั้น ยังไม่เกิดขึ้น
การซื้อขายตราสารทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หุ้นกู้ หรือกองทุนรวม จะถูกทำการซื้อขายผ่านบริษัทเอกชนโดยตรง
โดยในยุคแรกเลยนั้น ประเทศไทยมี “ตลาดหุ้นกรุงเทพ” หรือบริษัท ตลาดหุ้นกรุงเทพ จำกัด เป็นบริษัทที่เอกชนทำกันเอง เพื่อเป็นสถานที่ให้สมาชิกของตลาดเข้ามาซื้อขายหุ้นกัน
แต่ว่าผ่านไปเพียงไม่กี่ปี ก็ต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรนัก
จนในปี 2518 รัฐบาลได้ผลักดันให้เกิด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงส่งเสริมการออมทรัพย์ และการระดมเงินทุนในประเทศ
ส่วนทิสโก้เอง ก่อนที่จะกลายมาเป็นธนาคารนั้น บริษัท ทิสโก้ มีจุดเริ่มต้นมาจาก ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์
ทิสโก้ หรือ TISCO ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2512 โดยชื่อของบริษัท มาจากคำว่า Thai Investment and Securities Company Limited หรือ “บริษัทค้าหลักทรัพย์และการลงทุน”
มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Bankers Trust New York ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น
ซึ่งบริษัท ทิสโก้ นั้น ถือว่ามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการเงินและตลาดทุน ของประเทศไทยมาโดยตลอด
โดยเป็นผู้บุกเบิกบริการทางด้านการเงินหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
- ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2512
- สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2516
นอกจากนี้ บริษัท ทิสโก้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนา และก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี 2518 อีกด้วย
ปี 2526 บริษัท ทิสโก้ ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยที่ธุรกิจหลักของบริษัท ทิสโก้
ในตอนนั้น คือ ธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ จัดการกองทุน และธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์
จนในปี 2548 บริษัท ทิสโก้ จึงได้ถูกยกให้เป็นธนาคารอย่างเต็มรูปแบบ
ปัจจุบันธนาคารทิสโก้ มีธุรกิจหลัก ๆ อยู่ 3 ประเภท คือ
- ธุรกิจสินเชื่อ
- ธุรกิจบริการจัดการกองทุน
- ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
โดยธุรกิจแรก หรือธุรกิจสินเชื่อนั้น คิดเป็นสัดส่วน 70% ของรายได้ทั้งหมด แบ่งออกเป็น
- สินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อทะเบียนรถ
ส่วนนี้ คิดเป็นราว 70% ของรายได้จากกลุ่มสินเชื่อทั้งหมด
- สินเชื่อธุรกิจ เช่น สินเชื่อเพื่อธุรกิจระยะสั้นและระยะยาว

- สินเชื่อ SME เช่น สินเชื่อธุรกิจ SME สินเชื่อแฟ็กเตอริง สินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก
และถ้าหากลงลึกไปกว่านั้น เงินที่ให้สินเชื่อของธนาคารทิสโก้ ทุก ๆ 100 บาท จะแบ่งเป็น
- สินเชื่อธุรกิจ 21 บาท
- สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง 7 บาท
- สินเชื่ออื่น ๆ 2 บาท
ส่วนสินเชื่อรายย่อย ซึ่งเป็นก้อนที่ใหญ่ที่สุด คือ 70 บาท ก็สามารถแบ่งแยกย่อยได้เป็น
- สินเชื่อเช่าซื้อรถ 49 บาท
- สินเชื่อจำนำทะเบียน 16 บาท
- สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อีก 5 บาท
ธุรกิจต่อมา คือ บริการจัดการกองทุน ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ราว 4.5% ประกอบไปด้วย กองทุนส่วนบุคคล กองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
โดยในปัจจุบัน ธนาคารทิสโก้ มีส่วนแบ่งทางการตลาดในหมวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย
ธุรกิจสุดท้าย คือ ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 1.3%
หากเรามาดูรายได้และกำไร ของธนาคารทิสโก้ ในปี 2548 ที่ปรับโครงสร้างมาเป็นธนาคารเต็มตัว
รายได้ 5,347 ล้านบาท
กำไร 1,791 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับปีล่าสุด หรือในปี 2565
รายได้ 18,677 ล้านบาท
กำไร 7,224 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่ทิสโก้ยกระดับขึ้นมาเป็นธนาคาร ผลประกอบการของทิสโก้นั้นก็เติบโตขึ้น มาโดยตลอด
โดยปัจจุบัน มีมูลค่าบริษัทราว 80,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจ คือ ธนาคารทิสโก้ ถือเป็นธนาคารที่มีสัดส่วนในการปล่อยกู้ เมื่อเทียบกับเงินฝาก สูงกว่าธนาคารอื่น ๆ
โดยในปีแรกที่ทิสโก้ได้ยกระดับขึ้นเป็นธนาคารนั้น ธนาคารทิสโก้ มียอดเงินฝากรวมทั้งหมด 34,600 ล้านบาท
และมีสินเชื่อที่ให้กู้ยืมรวมทั้งหมด 64,000 ล้านบาท
มากกว่ายอดเงินฝากถึง 29,400 ล้านบาท
ส่วนในปี 2565 ธนาคารทิสโก้ มียอดเงินฝากรวมทั้งหมด 190,000 ล้านบาท และมีสินเชื่อที่ให้กู้ยืมรวมทั้งหมด 213,000 ล้านบาท มากกว่ายอดเงินฝากถึง 23,000 ล้านบาท คิดเป็นเงินปล่อยกู้ต่อเงินฝาก ราว 112% เรียกได้ว่าอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร
นอกจากนั้น ธนาคารทิสโก้ มีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก หรือ NIM สูงถึง 5.09%
ในขณะที่ธนาคารอื่น ๆ อย่าง
ธนาคารกรุงเทพ มี NIM อยู่ที่ 2.42%
ธนาคารกสิกรไทย มี NIM อยู่ที่ 3.33%
และสาเหตุที่ทำให้ ธนาคารทิสโก้ มี NIM ที่สูงกว่าธนาคารอื่น ๆ เพราะธนาคารทิสโก้นั้น มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยที่สูงมาก โดยเฉพาะในส่วนของ Auto Cash หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูง
จึงทำให้พอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารทิสโก้ มีอัตราดอกเบี้ยปล่อยกู้โดยเฉลี่ยที่สูงกว่า
มาถึงตรงนี้ ก็คงจะทำให้หลายคนได้รู้จักธนาคารทิสโก้กันมากขึ้น
ซึ่งแม้ว่าวันนี้ ชื่อของ ทิสโก้ จะไม่ได้เป็นตัวเลือกแรก ๆ ของใครหลายคน
แต่หากดูจากผลงานในอดีต ทั้งการบุกเบิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และช่วยพัฒนาตลาดหุ้นไทยให้เกิดขึ้นมาได้ ก็เรียกได้ว่า ทิสโก้ เป็นหนึ่งในบริษัทที่สำคัญกับเรา ไม่น้อยเลยทีเดียว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-รายงานประจำปี บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป ปี 2548, ปี 2557 และปี 2565
-รายงานประจำปี บมจ.ธนาคารทิสโก้ ปี 2565
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/
-รายงานประจำปี ของ BBL KBANK และ BAY ปี 2565
-https://www.ทิสโก้.co.th/th/about-ทิสโก้/history.html
-https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/netinterestmargin/
-https://www.set.or.th/th/about/overview/journey
-หนังสือเรื่อง การเดินทางแห่งชีวิต 30 ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.