ทำไมศูนย์อาหาร ต้องใช้คูปอง?

ทำไมศูนย์อาหาร ต้องใช้คูปอง?

24 ก.พ. 2018
ทำไมศูนย์อาหาร ต้องใช้คูปอง? / โดย ลงทุนแมน
เคยสงสัยมั้ยว่า เวลาไปกินข้าวตามศูนย์อาหาร
เราจะต้องไปเข้าแถวแลกบัตร แลกคูปองกันก่อน
ทำไมถึงใช้เงินสดไปซื้อตามร้านเลยไม่ได้?
ทำไมเจ้าของศูนย์อาหาร ต้องยอมเสียเงินทำบัตรทำคูปอง
และจ้างพนักงานเพิ่ม เพื่อมานั่งเคาน์เตอร์แลกเงินโดยเฉพาะ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟังเพื่อไขปริศนาในข้อนี้
การแลกคูปองจะทำให้เจ้าของศูนย์อาหารได้อะไร
เหตุผลหลักข้อแรกเลยคือ เจ้าของศูนย์อาหารจะรู้ยอดขาย แต่ละร้านว่าขายได้เท่าไร
แล้วทำไมต้องอยากรู้?
โดยปกติแล้ว ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ จะแบ่งลักษณะค่าเช่าออกได้เป็น 3 แบบใหญ่ๆ
แบบแรกคือ การคิดค่าเช่าในอัตราคงที่ คือ คิดค่าเช่าในอัตราที่เท่ากันทุกเดือน เช่นเดือนละ 10,000 บาท ไม่ว่าผู้เช่าจะขายได้มาก ได้น้อย หรือขายไม่ได้เลย ก็จะจ่าย 10,000 บาทตามที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น
อีกแบบคือ คิดค่าเช่าเป็นส่วนแบ่งของรายได้ หรือเขาเรียกกันว่า GP (Gross Profit) ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าร้านอาหารขายดี ค่าเช่าก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าขายไม่ดี ค่าเช่าก็จะถูกลงมา
ส่วนแบบสุดท้ายก็คือ ผสมกันทั้ง 2 อย่าง จ่ายทั้งค่าเช่าที่และส่วนแบ่งจากยอดขาย
ซึ่งถ้าเป็นการจ่ายค่าเช่าแบบคงที่ เจ้าของพื้นที่ก็อาจจะไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องรู้ว่า ใครขายได้เท่าไร เพราะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยมากขนาดนั้น ขอแค่มีเงินจ่ายค่าเช่าให้ทุกงวดก็พอใจแล้ว
แต่พอมาเป็น ส่วนแบ่งจากการขาย เจ้าของที่ก็จำเป็นต้องรู้แล้วว่า ยอดเงินคือเท่าไร เพื่อที่จะหักส่วนแบ่งได้ถูก
และคงจะเป็นเรื่องยาก ที่จะรู้ได้ว่าแต่ละร้านขายได้มากแค่ไหน ถ้าใช้ “เงินสด” ในการซื้อขาย
เพราะถ้าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของร้านค้าแจ้งยอดมาให้ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า เป็นยอดขายที่เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ร้านค้าอาจจะมุบมิบ บอกว่าร้านขายไม่ดี แต่จริงๆแล้วขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
วิธีแก้ จึงเป็นการทำให้การซื้อขายทั้งหมด เกิดขึ้นบนระบบส่วนกลางที่ทางศูนย์อาหารเป็นผู้เก็บเงินหรือข้อมูลการซื้อขาย
เมื่อถึงเวลา แต่ละร้านก็นำคูปองหรือข้อมูลการรูดบัตร ไปแลกเป็นเงินสดออกมา
ส่วนจะได้เงินเมื่อไรนั้น ก็คงจะแล้วแต่ข้อตกลงของแต่ละที่ บางที่ก็อาจใช้เวลาเป็นเดือนถึงจะได้เงิน
กลายเป็นว่า การยอมเสียเงินค่าจ้างพนักงานและค่าทำบัตรหรือคูปอง จึงน่าจะคุ้มค่ากว่าการมาคอยนั่งเฝ้า นั่งเช็คทุกวันว่า แต่ละร้านรับเงินสดมาเท่าไร
บางคนก็อาจรู้สึกว่า ธุรกิจศูนย์อาหารดูจะสบายเกินไป เพราะหลังจากสร้างเสร็จแล้ว แทบไม่ต้องทำอะไร แต่ก็ได้ส่วนแบ่งจากยอดขาย
แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเงื่อนไขหรือข้อตกลงจากศูนย์อาหาร ไม่ได้เอาเปรียบผู้เช่าจนเกินไป ก็อาจจะเป็นรูปแบบธุรกิจที่มองได้ว่า win-win ทั้งสองฝ่าย
ทางเจ้าของศูนย์อาหารน่าจะมีแรงจูงใจ ที่จะพัฒนาให้พื้นที่ของตัวเองดูดี สะอาด มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ครบ เพื่อจะดึงดูดให้คนอยากเข้ามาใช้บริการ
เพราะเมื่อมีคนเข้ามากินมาก ร้านค้ามียอดขายดี ส่วนแบ่งที่ได้รับก็จะมากตามไปด้วย
ส่วนร้านค้าที่มาเช่า นอกจากจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่และช่องทางในการขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ถ้าเจ้าของไม่ได้มาดูแลเอง การใช้ระบบรูดบัตร ก็คงพอจะช่วยป้องกันไม่ให้พนักงานขายที่จ้างมาแอบเก็บเงินไว้เอง
อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ก็อาจจะทำให้ร้านที่อาหารไม่อร่อย ขายได้ไม่ค่อยดี มีโอกาสที่จะต้องย้ายออกไป เพราะเจ้าของศูนย์อาหารมีตัวเลขอยู่ในมือว่า ร้านไหนให้ส่วนแบ่งรายได้มากน้อยแค่ไหน
ศูนย์อาหารถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่เราได้เรียนรู้ และน่าจะนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้
เวลาเราทำอะไรที่มีพาร์ทเนอร์ หรือ มีคู่ค้า ก็ควรตกลงในสัญญาที่เป็นรูปแบบที่ทำให้ได้ประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย
เพราะทั้งคู่จะช่วยพัฒนาให้ธุรกิจที่พึ่งพากันนั้นเดินต่อไปได้
หมดยุคที่เราจะเอาแต่ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียวโดยไม่คิดถึงพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ
แล้วเรามีพาร์ทเนอร์ธุรกิจที่ไหนที่พอจะร่วมมือกันเหมือนเรื่องคูปองในศูนย์อาหารได้บ้าง? ต้องลองหาดู
เพราะสุดท้ายแล้ว อาหารที่นั่งกินด้วยกันหลายคน ย่อมเป็นมื้อที่อร่อยกว่านั่งกินคนเดียวเสมอ..
----------------------
<ad> เราไปกินบุฟเฟต์ เห็นคนจีนเค้าแย่งกินกัน ดูน่าอร่อยจัง ถ้าอยากเข้าใจคนจีนมากกว่านี้
“หลักสูตรระยะสั้น EoC (Expert on China) โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์”
เป็นหลักสูตรดีๆ ที่รวบรวมแนวคิดและกลยุทธ์การทำธุรกิจในจีนหรือกับชาวจีนให้ประสบความสำเร็จ อบรมโดยเหล่ากูรูที่มีประสบการณ์เชิงลึกในด้านต่างๆ เกี่ยวกับจีน
เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ถึง 28 ก.พ. 61
เริ่มอบรม 8 มี.ค. – 21 มิ.ย. 61 ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.30-17.30
สมัครและรับรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://eoc.dpu.ac.th หรือ โทร. 065-594-9955
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.