Civilization เราเป็นของกันและกัน

Civilization เราเป็นของกันและกัน

11 ก.พ. 2018
Civilization เราเป็นของกันและกัน / โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า
อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เป็นหนึ่งในกิจกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่สุดที่เคยมีมาบนโลกใบนี้
หลายครั้งที่เรามีคำถามเกี่ยวกับศีลธรรม
ว่าการฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร บาปหรือไม่?
คนกินไม่บาป แต่คนฆ่าต้องบาป?
สุดท้ายก็เลยใช้เครื่องจักรฆ่าซะเลย มนุษย์จะได้ไม่ต้องบาป
ซึ่งก็อาจจะมีคำแย้งต่อไปอีกว่า ใครเป็นเจ้าของเครื่องจักรนั้นก็บาปอยู่ดี
แต่คนแย้งก็อาจจะไม่รู้ตัวเองว่า เขากำลังเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ เพื่อซื้ออาหารที่มาจากเครื่องจักรนั้นอยู่ทุกวัน
เรื่องนี้คงมีคนมาช่วยกันตอบหลายคน
แต่ก่อนที่จะตอบ ลองทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในอดีตทั้งหมด ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ก็อาจจะได้เรียนรู้ว่า
จริงๆ แล้วมนุษย์กับสัตว์ และ ธรรมชาติ สัมพันธ์กันอย่างไร?
ขอต้อนรับสู่ซีรีส์บทความ CIVILIZATION ตอน: เราเป็นของกันและกัน
จุดเริ่มเรื่องคงต้องย้อนกลับไปเมื่อ 70,000 ปีที่แล้ว
เมื่อมนุษย์ที่มีชื่อเรียกว่า Homo Sapiens เริ่มมี conscious หรือสติตระหนักรู้ตัวตน ว่ากำลังทำอะไรอยู่
สิ่งนี้แหละ ที่ทำให้มนุษย์เริ่มต่างจากสัตว์ทั่วไป เพราะมนุษย์คิดได้ มีจินตนาการได้ มนุษย์เล่านิทานได้ และที่สำคัญที่สุด มนุษย์ก็เชื่อนิทานที่คนอื่นเล่าอีกด้วย ถึงแม้ในใจก็รู้อยู่แล้วว่านิทานเรื่องนั้นอาจจะถูกแต่งขึ้นมา
เมื่อมนุษย์รู้จักจินตนาการก็ทำให้เกิดวิวัฒนาการ เครื่องมือ มาช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์อยู่รอด เช่น การจุดไฟเพื่อความอบอุ่นในหน้าหนาว
แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการอยู่รอดก็คงจะเป็นการหาอาหาร
เครื่องมือที่ใช้ล่าสัตว์ไม่ต้องซับซ้อนจนถึงปืน หรือ ธนู
แค่การใช้ไม้แหลม และ ร่วมมือกันวางกับดักสัตว์ แค่นี้ก็เพียงพอที่ทำให้มนุษย์หาอาหารได้ไม่รู้จบ
และสิ่งนี้แหละที่ทำให้มนุษย์ค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดในห่วงโซ่อาหารบนโลกนี้
ย้อนกลับไป 200,000 ปีที่แล้ว มนุษย์ Homo Sapiens มีจุดกำเนิดโดยการกลายพันธุ์มาจาก Homo Erectus ที่บริเวณทวีปแอฟริกา
ตอนนั้นมนุษย์อาศัยอยู่บริเวณจุดเดียวบนโลกนี้
ตอนนั้นมนุษย์ไม่ต่างอะไรจากสัตว์ทั่วไป วันๆ คอยวิ่งหนีสัตว์อื่น ล่าสัตว์อื่น
แต่เมื่อมนุษย์เริ่มมี conscious เมื่อ 70,000 ปีที่แล้ว ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
45,000 ปีที่แล้วมนุษย์เริ่มอพยพมาที่ทวีปออสเตรเลีย
การเข้ามาของมนุษย์ทำให้ 90% ของสัตว์ขนาดใหญ่ในออสเตรเลียสูญพันธ์ุอย่างรวดเร็ว.. และนี่คือการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ขนาดใหญ่ครั้งแรก ที่กระทำโดยมนุษย์
15,000 ปีที่แล้วมนุษย์เริ่มอพยพมาที่ทวีปอเมริกา.. 75% ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในทวีปอเมริกาได้สูญพันธ์ุไป
เรื่องเดียวกันนี้เกิดขึ้นคล้ายกันทั้งใน แอฟริกา ยุโรป เอเชีย
ที่น่าสนใจคือ
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่จำนวนครึ่งหนึ่งที่อยู่บนโลกนี้ได้สูญพันธ์ุไปเพราะน้ำมือมนุษย์ ก่อนที่มนุษย์จะเริ่มรู้จักการเกษตรกรรม การใช้โลหะ การใช้ภาษา หรือ การใช้เงินตราเสียอีก
พอถึงตรงนี้เราก็น่าจะเรียนรู้ได้ว่า.. มนุษย์โหดร้ายมานานแล้ว นานตั้งแต่มนุษย์กำเนิดขึ้นมา..
แต่ยังไม่จบ
เรื่องพวกนี้ได้เปลี่ยนไป เพราะมนุษย์เริ่มมีความคิดที่จะไม่ล่าสัตว์แล้ว
มนุษย์เปลี่ยนจากการเร่ร่อน ล่าสัตว์ในป่า มาเป็น เกษตรกร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์อยู่กับที่เป็นหลักแหล่ง
ต่อไปนี้มนุษย์ไม่ต้องนอนในป่าแล้ว และ มนุษย์สามารถสร้างบ้านกันหนาว ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ กินเองได้
การอยู่กับที่เป็นหลักแหล่ง ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมือนใครของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้
จากเดิมที่มนุษย์ต้องล่าสัตว์เป็น 10,000 สายพันธุ์ มาตอนนี้มนุษย์เลือกเฉพาะบางสายพันธุ์ ที่นับรวมกันได้ไม่ถึง 20 สายพันธุ์ มาเลี้ยง
นี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำไมมนุษย์ยุคนี้ไม่กิน สิงโต เสือ ม้าลาย และสัตว์อื่นๆ นานาชนิด แต่มนุษย์กินแค่ ไก่ หมู และ วัว
นับตั้งแต่นั้นมาระบบนิเวศน์ของโลกนี้ก็ได้เปลี่ยนไปอีกครั้ง สัตว์ในป่าอาจจะถูกมนุษย์ล่าน้อยลง และมนุษย์เริ่มมีความคิดใหม่เกี่ยวกับสัตว์ที่มนุษย์จะกินเป็นอาหาร
กรอบของมนุษย์เริ่มกำหนดให้ว่าเราควรจะกินสัตว์ที่เราเลี้ยงไม่กี่สายพันธุ์ และ ไม่ควรกินสัตว์ที่มนุษย์ไม่ได้เลี้ยง
กรอบความคิดนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเชื่อ ที่คนในสังคมค่อยๆ ร่วมกันกำหนดขึ้นมา
แต่ตัวมนุษย์เองก็เพิ่มจำนวนประชากรของตัวเองอย่างรวดเร็ว จะทำอย่างไรดี?
คำตอบก็คือมนุษย์ก็ต้องเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารมากขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย
มีตัวเลขที่น่าตกใจคือ ถ้านับจำนวนสัตว์ใหญ่ทั้งหมดบนโลกนี้ สัตว์ที่ถูกมนุษย์เลี้ยงจะเป็นสัดส่วนมากถึง 90% ของจำนวนทั้งหมด (สัตว์ใหญ่คือ 2 กิโลกรัมขึ้นไป ซึ่งรวมถึงไก่ ด้วย)
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย
ตอนนี้ทั่วโลกมีสุนัขป่า 20,000 ตัว แต่มีสุนัขเลี้ยง 400,000,000 ตัว
ตอนนี้ทั่วโลกมีสิงโต 40,000 ตัว แต่มีแมวเลี้ยง 600,000,000 ตัว
ตอนนี้ทั่วโลกมีควายป่าแอฟริกา 90,000 ตัว แต่มีวัวเลี้ยง 1,500,000,000 ตัว
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว ไก่ จัดว่าเป็นแค่นกชนิดหนึ่งที่หายากในแถบเอเชียใต้
แต่ตอนนี้ไก่เป็นหมื่นล้านตัว ถูกเลี้ยงอยู่ในทุกพื้นที่ในโลกนี้
ถ้าจะให้วัดความสำเร็จของสิ่งมีชีวิตในเชิงของการขยายพันธุ์ มนุษย์อาจจะไม่ได้เป็นผู้ชนะในเรื่องนี้ แต่อาจจะเป็น ไก่ หมู และ วัว
คำถามที่น่าคิดต่อไป คือ สัตว์เลี้ยง มีชีวิตที่ดีกว่า สัตว์ในป่า หรือไม่?
ยกตัวอย่างง่ายๆคือ
หมูเลี้ยง ถึงแม้ว่าจะต้องอยู่เบียดๆ กันบ้าง แต่ก็ ได้อาหาร น้ำ ทำให้ตัวเองอ้วนพี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการกินๆ นอนๆ และจบที่โรงฆ่าสัตว์
หมูป่า เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเอาตัวรอดในป่า ใช้เวลาทั้งวันในการหาอาหาร วิ่งหนีผู้ล่า ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุที่ประชากรสัตว์ป่าไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้มากๆ ได้ เพราะจะมีอุปสรรคในการดำรงชีวิตอยู่ตลอดเวลา
ย้อนกลับไปเมื่อ 70,000 ปีที่แล้วตอนที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ในป่า รู้หรือไม่ว่า ประชากรมนุษย์ทั้งหมดบนโลกใบนี้ก็นับรวมกันได้หลัก 10,000 คน ไม่ต่างอะไรจากจำนวนสิงโตบนโลกตอนนี้
ดังนั้นการออกจากป่า น่าจะทำให้ทั้งมนุษย์ และ สัตว์เลี้ยง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อยู่รอดได้มากขึ้น
เรากำลังทำให้หมูเลี้ยง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มากกว่าบรรพบุรุษมันที่เป็น หมูป่า?
หรือ ว่ามันควรมีอิสรภาพ ถูกฆ่าจากสิงโต อดตาย ติดโรคในป่า ดีกว่ามาถูกมนุษย์ฆ่าที่โรงฆ่าสัตว์?
แล้วชีวิตมนุษย์เองทุกวันนี้มีอิสรภาพจริงหรือไม่ ต่างจากชีวิตหมูในฟาร์มอย่างไร?
แล้วถ้าเรากินหมู ที่ผลิตจาก ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เราถือว่าเป็นคนสนับสนุนที่ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ครั้งนี้หรือไม่?
ทั้งหมดนี้ก็คงขึ้นอยู่กับกรอบความคิดของแต่ละคนที่กำหนดมาให้เชื่อว่าอย่างไร
แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะ make sense คือ การเข้าใจบทบาทในตัวเราว่าสัมพันธ์ุกับสิ่งอื่นในโลกนี้อย่างไร
ไม่ใช่แค่สัตว์ แต่เป็นป่าไม้ ต้นหญ้า พื้นดิน ทะเล
เพราะจริงๆ แล้วเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
มีสิ่งที่น่าสนใจถ้าจะบอกว่า ทุกอย่างมีจุดเชื่อมโยงกัน
ทุกอย่างบนโลกนี้เป็นของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้
จากข้อเท็จจริงที่ว่า
ทุกๆ วันมนุษย์จะได้รับสสาร และ ของเหลว เข้ามาในร่างกาย 3.5 กิโลกรัม จากทั้งอาหารและ น้ำ
สสาร และของเหลว ที่ใช้แล้วจะถูกขับออกมาทาง อุจจาระ และปัสสาวะ ของมนุษย์
ซึ่งในระหว่างนี้ เรายังแลกเปลี่ยนอากาศกับสิ่งแวดล้อมอีก 0.8 กิโลกรัม ในแต่ละวัน
น้ำหนักรวมที่เกิดการแลกเปลี่ยนทั้งหมดนี้คิดเป็นประมาณ 7% ของตัวเรา
แปลว่าในทุกๆ วัน 7% เก่าของตัวเราจะหายไป และจะมี 7% ใหม่ของธรรมชาติเข้ามาแทน
ดังนั้นบางส่วนของตัวเราในวันพรุ่งนี้อาจจะไม่เหมือนตัวเราในวันนี้..
และเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ (7% x 14 วัน) ตัวเราทั้งหมดจะไม่ใช่ของเดิม สสาร ของเหลว ทั้งหมดในร่างกายเราจะเป็นของใหม่ที่เพิ่งได้รับมาจากธรรมชาติ
เราอยู่ในภาวะความเชื่อมโยงของทุกอย่างบนโลกนี้ตลอดเวลา
ลมหายใจออกของเราในวันนี้มันอาจจะเข้าไปอยู่ในป่าที่ไหนสักแห่งบนโลกในวันข้างหน้า
ส่วนหนึ่งของเส้นผมที่ร่วงลงของเรา อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอีกชีวิตหนึ่งในอนาคต
เพราะชีวิตมันก็คือองค์ประกอบของแร่ธาตุต่างๆ บนโลกใบนี้ หมุนเวียนกันไป
หลายคนมีความคิดว่ามนุษย์ต้องแยกตัวออกจากโลก มนุษย์สำคัญกว่าธรรมชาติ
แต่จริงๆ แล้ว เราก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น
สิ่งที่มนุษย์น่าจะต้องทำคือ การรักษาสมดุลระหว่างการไม่เบียดเบียนธรรมชาติ หรือ สัตว์อื่นบนโลกนี้ กับ การทำให้มนุษย์โดยรวมมีอาหารเลี้ยงชีวิตอยู่รอดไปได้
และ สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็คงมีระดับการไม่อยากเบียดเบียนสัตว์ที่แตกต่างกัน
มนุษย์ประเภทแรก ก็อาจจะบอกว่าตัวเองเป็นมังสวิรัติ ไม่กินเนื้อสัตว์ใดๆ ก็อยู่ได้ ไม่อยากสนับสนุนให้มีการฆ่าสัตว์อื่นเกิดขึ้นเลย มนุษย์และสัตว์อื่นมีความเท่าเทียมกัน
มนุษย์ประเภทสอง ก็อาจจะบอกว่าขอกินเฉพาะสัตว์เลี้ยงในฟาร์มซึ่งเป็นชีวิตที่มนุษย์เพาะพันธุ์ขึ้นมาใหม่ ไม่ได้ไปเบียดเบียนของเดิมที่มีอยู่ หรือ สัตว์ที่มีอยู่มากมายในธรรมชาติ เช่น ปลาในมหาสมุทร ซึ่งคงไม่ได้กระทบกับวงจรของสัตว์ที่มีอยู่แล้วในระบบนิเวศน์มากเท่าไร
ส่วนมนุษย์ประเภทสุดท้าย ก็คงเป็นมนุษย์ที่ไม่แคร์อะไรทั้งนั้น กินสัตว์ได้ทุกประเภททั้งอยู่ในฟาร์ม และในป่า ไม่ได้สนใจว่าสัตว์ที่ถูกฆ่าจะเหลือจำนวนน้อยแล้วในโลกนี้ ทุกอย่างเบียดเบียนกันเป็นเรื่องปกติ
ความคิดประเภทแรกดูเหมือนว่าจะเป็นความคิดที่ลึกซึ้ง ซึ่งการที่จะควบคุมตัวเองให้ไม่กินเนื้อสัตว์ใดๆ ก็คงไม่ง่ายเลย ถ้าทำได้ก็คงเรียกได้ว่าเป็นมนุษย์ที่เข้าใจโลกนี้
ความคิดประเภทสองดูเหมือนว่าคนส่วนมากจะเป็นแบบนี้ เพราะในบางครั้งเราก็คงมีความรู้สึกอยากทานอาหารในรูปแบบต่างๆ ตามกิเลสที่เกิดขึ้น ซึ่งก็อาจต้องทำใจยอมรับว่าการที่เรากินเนื้อสัตว์ เราได้สนับสนุนการฆ่าสัตว์ในฟาร์ม หรือการจับสัตว์น้ำทางอ้อมอยู่
ส่วนประเภทสุดท้ายน่าจะมีลักษณะที่คล้ายกับมนุษย์ในยุคก่อน 70,000 ปีที่แล้ว ที่ยังเป็นผู้ล่าอยู่ในป่า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามนุษย์ในยุคนั้นก็คงยังไม่ค่อยมี conscious หรือมีสติในการตระหนักคิดเท่าไรนัก ถ้าต้องล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารเพื่อความอยู่รอดก็น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็น
แต่สำหรับคนที่อยากล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อความสุขส่วนตัว
คนประเภทนี้น่าจะควรระวังไว้
เพราะถ้าเขาไม่มี conscious ตระหนักรู้ได้ว่าไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่นในธรรมชาติด้วยความบันเทิง
เราจะรับประกันได้อย่างไรว่า เขาจะไม่เบียดเบียนมนุษย์ด้วยกันเอง ด้วยเหตุผลไม่ make sense เช่นกัน..
ทุกสิ่งบนโลกนี้เป็นของกันและกัน WE ARE ALL CONNECTED
การกระทำของเรา จะกระทบกับอีกอย่างหนึ่งเสมอ
ถ้าเราไม่ให้เกียรติสิ่งอื่น ก็คงต้องทำใจยอมรับว่า จะมีคนที่ไม่ให้เกียรติเราเช่นกัน..
———————-
<ad> ถ้าชอบบทความแนวคิดประวัติศาสตร์มนุษย์แบบนี้ อ่านซีรีส์ Civilization ที่เคยเขียนตอนอื่นได้ที่หมวดประวัติศาสตร์ ในแอปพลิเคชั่นลงทุนแมน โหลดฟรีได้ทีนี่ longtunman.com/app
———————-
Reference:
-Sapiens-Homo Deus-Yuval Noah Harari-Tom Chi
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.