ตำนาน อิตาเลียนไทย

ตำนาน อิตาเลียนไทย

8 ก.พ. 2018
ตำนาน อิตาเลียนไทย / โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทยที่เราคุ้นเคยมีใครบ้าง..
หนึ่งในนั้นน่าจะมี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
เรื่องราวของ อิตาเลียนไทย เกิดขึ้นมากว่า 60 ปี
ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อิตาเลียนไทยก่อตั้งขึ้นในปี 2501 โดยผู้เริ่มก่อตั้งจำนวน 2 คน คือ น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต และ Mr. Giorgio Berlingieri วิศวกรชาวอิตาเลียน
น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต เป็นลูกชายเถ้าแก่โรงน้ำแข็งที่เรียนแพทย์ที่ คณะแพทยศาสตร์มหิดล แต่มาค้นพบว่าตัวเองชอบงานธุรกิจก่อสร้าง
น.พ.ชัยยุทธ และ คุณ Giorgio ทั้ง 2 คนก่อตั้ง อิตาเลียนไทยด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท โดยแบ่งกันถือหุ้นคนละ 50%
คำว่าอิตาเลียนไทยเกิดมาจาก บริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด ที่ทั้งคู่ตั้งไว้ในปี 2498 เพื่อทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ในช่วงนั้น
เป็นช่วงเดียวกับเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยในช่วงสงครามเย็นพอดี ทำให้ธุรกิจรับเหมาเติบโตอย่างรวดเร็ว
สำหรับคุณชัยยุทธ ได้แต่งงานกับ ม.ร.ว.พรรณจิต มีลูกด้วยกัน 5 คน คือ คุณเอกชัย คุณพิไลจิตร คุณนิจพร คุณอรเอม และคุณเปรมชัย
ซึ่งเดิมทีนั้น คุณชัยยุทธตั้งใจจะให้คุณเอกชัย ซึ่งเป็นลูกชายคนโต สืบทอดตำแหน่งต่อ แต่เคราะห์ร้ายเมื่อลูกชายคนนี้กลับเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในวัย 32  ปี ในปี 2522 ทำให้คุณเปรมชัยในฐานะลูกชายคนสุดท้องจึงต้องรับหน้าที่สำคัญในการบริหารธุรกิจต่อจากพ่อ
คุณเปรมชัยนำ อิตาเลียนไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2537 เพื่อหาเงินระดมทุนใช้ขยายเครือข่ายธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แม้คุณชัยยุทธไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้ธุรกิจนี้เป็นของครอบครัวกรรณสูตอย่างเบ็ดเสร็จ
อย่างไรก็ตาม นับแต่นั้น อิตาเลียนไทยได้กลายมาเป็น 1 ใน 3 บริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทย
ปี 2548 อิตาเลียนไทยเผชิญกับวิกฤตครั้งสำคัญเมื่อผู้ก่อตั้งอย่าง คุณชัยยุทธ ได้เสียชีวิตลง จึงทำให้คุณเปรมชัยกุมบังเหียน อิตาเลียนไทยอย่างเด็ดขาดนับแต่นั้น
ธุรกิจของ อิตาเลียนไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจการลงทุนด้านอื่นๆ และกิจการร่วมค้า
อิตาเลียนไทยมีผลงานก่อสร้างมากมายทั้งในและต่างประเทศ  โดยผลงานชิ้นสำคัญของ อิตาเลียนไทยที่หลายคนคุ้นเคย เช่น
งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางรถไฟ BTS จำนวน 23 สถานี (2537-2543)
โครงการการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ (ปี 2544-2549)
แต่มีอีก 2 โครงการที่ต้องถือว่าเป็นโครงการใหญ่ของ อิตาเลียนไทยซึ่งอาจจะเปลี่ยนภาพของบริษัทจากหน้ามือเป็นหลังมือ
โครงการแรก คือ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อพัฒนาท่าเรือ โรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม ระบบโทรคมนาคมสาธารณูปโภคต่างๆ โดยมีมูลค่ารวมกว่า 3.9 แสนล้านบาท
โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2551 โดย อิตาเลียนไทยเป็นผู้ได้รับสัมปทาน 75 ปี แต่มีความไม่แน่นอนมาตลอด แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อิตาเลียนไทยได้ไปชวน บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ร่วมลงทุนกับโครงการนี้  แต่ก็ยังมีความล่าช้า โดยที่ อิตาเลียนไทยลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท
เนื่องจากโครงการทวายเป็นโครงการลงทุนระหว่างประเทศขนาดใหญ่ ดังนั้น ความร่วมมือจากภาครัฐของทั้ง 2 ประเทศจึงจำเป็น ในปี 2556 ทางกระทรวงการคลังของไทยได้จัดตั้งบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด  โดยที่ปัจจุบัน มีหน่วยงานของไทย ญี่ปุ่นและเมียนมา ถือหุ้นในสัดส่วนเท่ากันที่ 33.33%
อีกหนึ่งโครงการคือ โครงการเหมืองแร่โปแตช ที่ อิตาเลียนไทยใช้เงินลงทุนไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า 4-5 พันล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการผลิตแร่โปแตชขายให้กับโรงงานผลิตปุ๋ยในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้ารวมไปถึงส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
เดิมทีนั้นบริษัท เอเชีย แปซิฟิกโปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) เจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี เป็นบริษัทสัญชาติแคนาดา แต่ปัจจุบัน อิตาเลียนไทยได้ซื้อสิทธิสัมปทานระยะเวลา 30 ปี จาก APPC โดยที่ อิตาเลียนไทยถือหุ้น 90% ในโครงการนี้ และอีก 10% ถือโดยกระทรวงการคลัง
บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีจำนวน 19 บริษัทที่เป็นบริษัทดำเนินธุรกิจก่อสร้าง
ซึ่งในปี 2559 ธุรกิจก่อสร้างมีรายได้รวมกันกว่า 210,836 ล้านบาท โดย อิตาเลียนไทยมีรายได้มากที่สุด โดยมีสัดส่วนประมาณ 23% เกือบ 1 ใน 4 ของรายได้รวมของบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
รายได้และกำไรของ อิตาเลียนไทย
ปี 2557 รายได้ 49,186 ล้านบาท กำไร 522 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 52,044  ล้านบาท ขาดทุน 362 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 48,389 ล้านบาท ขาดทุน 109 ล้านบาท
แม้จะมีรายได้เกือบ 5 หมื่นล้านบาท แต่กำไรของ อิตาเลียนไทยถือว่าผันผวน ซึ่งเป็นธรรมชาติของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่รายได้ขึ้นกับความสำเร็จของงานที่ประมูล โดยบริษัทจะทยอยรับรู้รายได้ตามปริมาณงานในมือ (Backlog)
แต่การเข้าประมูลงานต่างๆ มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งความล่าช้าของการประมูล อัตรากำไรของงานที่ต่างกัน เช่น งานในประเทศ งานต่างประเทศ งานภาครัฐ งานภาคเอกชน
รวมไปถึง การบริหารโครงการ ถ้าทำงานไม่ดีหรือไม่ทันตามกำหนด อาจทำให้มีต้นทุนเพิ่มมากกว่าที่คาด
เพราะระหว่างที่ยื่นประมูลทุกบริษัทพยายามเสนอราคาต่ำกว่าคู่แข่งเพื่อให้ได้งาน แต่เวลาทำงานจริงๆ อาจไม่สามารถคุมต้นทุนได้ตามที่คาดไว้
ซึ่งแม้แต่ อิตาเลียนไทยที่เป็นเบอร์ 1 ในวงการ ก็หนีไม่พ้นกับสัจธรรมข้อนี้เหมือนกัน
เรื่องนี้ทำให้เราได้รู้ว่าธุรกิจรับเหมาที่ดูเหมือนสวยหรู รับงานโครงการใหญ่ระดับประเทศ
แต่จริงๆ แล้วถ้าเห็นกำไรบรรทัดสุดท้ายอาจจะต้องปาดเหงื่อได้เหมือนกัน
ถ้าเราทำธุรกิจอะไรอยู่ อย่าสนใจแต่เรื่องรายได้ว่าจะเป็นเท่าไร เพราะสิ่งสำคัญที่ไม่แพ้กันก็คือ เราจะได้กำไรเท่าไร
ไม่ว่ากิจการเราจะใหญ่โตเพียงใด สุดท้ายทำแทบตายไม่ได้กำไร การนั่งอยู่เฉยๆ อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า..
หมายเหตุ การลงทุนมีความเสี่ยง บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหุ้นที่กล่าวถึง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
----------------------
<ad> ถ้าอยากรู้ตำนานของบริษัทอื่น เช่น ตำนานชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ตำนานเมอร์รี่คิงส์ ตำนานสเวนเซ่น ตำนานเคเอฟซี
อ่านได้ที่แอปลงทุนแมน โหลดฟรีได้ทีนี่ longtunman.com/app
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.