ธุรกิจวิทยุ ยังกำไรอยู่ไหม?

ธุรกิจวิทยุ ยังกำไรอยู่ไหม?

1 ก.พ. 2018
ธุรกิจวิทยุ ยังกำไรอยู่ไหม? / โดย ลงทุนแมน
ทุกวันนี้
เราได้เห็น ธุรกิจทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ได้รับความนิยมน้อยลง บางรายถึงขนาดปิดตัวไปแล้ว
เพราะไม่สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ ที่ต้องการความรวดเร็วในข้อมูล และสินค้าแบบเฉพาะเจาะจงตามความชอบตนเอง
อีกหนึ่งสื่อ ที่กำลังโดนบททดสอบคือ “คลื่นวิทยุ”
วิทยุ ถือเป็นสื่อหลักที่มีอิทธิพลสูง มาตั้งแต่อดีต เนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ในวงกว้าง ตลอดทุกช่วงเวลา
สมัยก่อน เราฟังวิทยุ ผ่านอุปกรณ์รับสัญญาณ มีดีเจคอยเลือกเพลงเพราะๆให้
แต่ตอนนี้ เทคโนโลยี ทำให้คนฟังเปลี่ยนไป หันไปติดตามเพลงผ่านสื่ออื่น โดยเฉพาะในสมาร์ทโฟน เพราะสามารถเลือกสิ่งที่ตนเองชอบได้ทันที เช่น ทาง YouTube หรือ Joox เป็นต้น ส่งผลให้ความนิยมในสื่อวิทยุถดถอยลง
ผลสำรวจพบว่า
ปี 2558
สัดส่วน การรับฟังเพลง ผ่านสมาร์ทโฟนมีเพียง 2% เทียบกับ ฟังผ่านเครื่องรับวิทยุ 60%
แต่ในปี 2559
การฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเป็น 58% สวนทางกับ ฟังผ่านเครื่องรับวิทยุที่ลดลงเหลือ 31%
จะเห็นได้ว่า คนฟังวิทยุลดลงครึ่งนึง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้
สถานการณ์ดังกล่าว เป็นผลทำให้เม็ดเงินโฆษณาในสื่อวิทยุ ลดลงอย่างชัดเจน
ปี 2558 อยู่ที่ 5,625 ล้านบาท (ลดลง 11%)
ปี 2559 อยู่ที่ 5,262 ล้านบาท (ลดลง 7%)
ปี 2560 อยู่ที่ 4,476 ล้านบาท (ลดลง 15%)
เมื่อภาพรวมอุตสาหกรรมเป็นขาลง แล้วบริษัทที่ทำธุรกิจคลื่นวิทยุ มีรายได้เท่าไร?
รู้ไหมว่า คลื่นวิทยุที่เป็นที่รู้จัก จะเป็นแบรนด์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทสื่อหลักทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น
สถานี Cool Fahrenheit
คลื่นความถี่ 93.0 เมกะเฮิรตซ์
ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 2543 ปัจจุบันบริหารโดย บริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือของ RS มีผลการดำเนินงานดังนี้
ปี 2557 รายได้ 454 ล้านบาท กำไร 159 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 461 ล้านบาท กำไร 183 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 426 ล้านบาท กำไร 149 ล้านบาท
สถานี Virgin Hitz
คลื่นความถี่ 95.5 เมกะเฮิรตซ์
ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 2545 ปัจจุบันบริหารโดยบริษัท ยูแอนด์ไอ คอร์โปเรชั่น จำกัด และมีบริษัท บีอีซี-เทโร เรดิโอ จำกัด ในเครือช่อง 3 เป็นผู้ขายเวลาโฆษณา และให้คำปรึกษาด้านการพัฒนารายการ มีผลการดำเนินงานดังนี้
ปี 2557
ยู แอนด์ ไอ รายได้ 62 ล้านบาท ขาดทุน 6 ล้านบาท
บีอีซี-เทโร เรดิโอ รายได้ 294 ล้านบาท ขาดทุน 37 ล้านบาท
ปี 2558
ยู แอนด์ ไอ รายได้ 60 ล้านบาท ขาดทุน 6 ล้านบาท
บีอีซี-เทโร เรดิโอ รายได้ 294 ล้านบาท ขาดทุน 50 ล้านบาท
ปี 2559
ยู แอนด์ ไอ รายได้ 63 ล้านบาท ขาดทุน 6 ล้านบาท
บีอีซี-เทโร เรดิโอ รายได้ 221 ล้านบาท ขาดทุน 51 ล้านบาท
สถานี Seed FM
คลื่นความถี่ 97.5 เมกะเฮิรตซ์
ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 2548 เคยบริหารโดย บริษัท ซี้ด เอ็มคอต จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือของ MCOT ช่อง 9 แต่ปัจจุบันคลื่นได้ปิดตัวลงไปแล้ว หลังขาดทุนจนเจอปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ MCOT ยกเลิกสัญญา และนำคลื่นไปบริหารเอง
ปี 2557 รายได้ 103 ล้านบาท ขาดทุน 33 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 85 ล้านบาท ขาดทุน 37 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 43 ล้านบาท ขาดทุน 48 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจคลื่นวิทยุนั้น มีแนวโน้มของรายได้ และกำไร ที่ลดลง บ้างก็ขาดทุนต่อเนื่อง
เพราะนอกจากภาพรวมธุรกิจสื่อวิทยุ ที่ชะลอตัวลงแล้ว ภายในอุตสาหกรรม ยังมีการแข่งขันกันรุนแรงมาก เนื่องจากมีจำนวนคลื่นเยอะ และแต่ละราย ก็มีฐานกลุ่มผู้ฟังของตนเอง
แล้วบริษัทคลื่นวิทยุมีการปรับตัวอย่างไร?
ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
จริงๆแล้ว การฟังเพลงไม่เคยเปลี่ยน ทุกคนยังมีดนตรีในหัวใจเสมอ เพียงแต่คนเปลี่ยนพฤติกรรมการฟังเท่านั้นเอง
ดังนั้นสื่อวิทยุ จึงได้ปรับตัวเข้าสู่ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม นำเสนอรายการในรูปแบบออนไลน์ ในหลายๆช่องทาง เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชันของตนเอง และ Facebook Fanpage ซึ่งทำให้มีรายได้ใหม่ๆ จากโฆษณาทางออนไลน์ เพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมา เราได้เห็น Grammy เปิดตัว Chill Online ซึ่งเมื่อก่อน เคยเป็นคลื่นวิทยุออฟไลน์ เปลี่ยนมาออกอากาศออนไลน์เพียงอย่างเดียว
RS ได้รีแบรนด์คลื่น โดยตัดเลข 93 ออก เหลือแค่ Cool Fahrenheit เพื่อให้ตรงกับพฤติกรรมคนฟังที่ไม่ยึดติดกับช่องทางการออกอากาศ รวมทั้งเปิดตัวแอปพลิเคชัน COOLISM บนมือถือ
ช่อง 3 ก็หันมาเปิดตัวแอปพลิเคชัน BEC-Tero Radio ที่รวบรวมคลื่นวิทยุในเครือมาออกอากาศออนไลน์ เช่น Virgin Hitz และ การรายงานข่าวที่เป็นจุดเด่น
การจัดรายการวิทยุนั้น ยังคงมีข้อได้เปรียบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีคนคอยคัดสรรเพลงเพราะๆให้ ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาหาเพลงเอง รวมทั้งเพลงที่เปิด ก็มีความหลากหลาย ทันต่อยุคสมัย
นอกจากนี้ การใช้สื่อออนไลน์ ยังทำให้รายการมีรูปแบบ
การนำเสนอ Content ที่แปลกใหม่ มีปฏิสัมพันธ์กับคนฟังได้มากขึ้น และตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว
บทเรียนจากธุรกิจคลื่นวิทยุ สอนให้รู้ว่า..
แม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ ที่อาจเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด ไม่ใช่ว่ามันจะน่ากลัวเสมอไป
แค่ปรับตัวอยู่ร่วมกับมันให้เป็น ใช้ประโยชน์จากมันให้ได้ เราอาจจะเจอลู่ทางใหม่ให้เดินไปข้างหน้าต่อ
เพราะในทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาสที่แฝงอยู่เสมอ
แต่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ กาลเวลาเท่านั้นที่เป็นเครื่องพิสูจน์..
----------------------
<ad> งานสัมมนา StockRadars Day
พร้อมติดเรดาร์ให้การลงทุน ลุ้นอนาคตไทยปี 2018
รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนระดับประเทศ เผยทิศทางการลงทุน แนวโน้มการเติบโตของประเทศในยุค Digital Transformation
22 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 12.00 เป็นต้นไป
โรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์ซอย 1
ลงทะเบียนเข้างานฟรีได้แล้ววันนี้!! ที่ http://go.eventpop.me/STOCKRADARS
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.