ทำไมบริษัทขาดทุน แต่ยังทำธุรกิจต่อไปได้ ?

ทำไมบริษัทขาดทุน แต่ยังทำธุรกิจต่อไปได้ ?

20 ก.ย. 2022
ทำไมบริษัทขาดทุน แต่ยังทำธุรกิจต่อไปได้ ? /โดย ลงทุนแมน
เคยสงสัยไหมว่าทำไมหลายบริษัทที่ “ขาดทุน” ถึงยังสามารถทำธุรกิจต่อไปได้
คำตอบก็คือ บริษัทเหล่านี้ ยังมีสภาพคล่อง หรือมีเงินสดเหลือพอที่จะนำไปหมุนเวียนในกิจการ
ยกตัวอย่างเช่น Tesla ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของอีลอน มัสก์
ปี 2018 ขาดทุน 36,000 ล้านบาท
ปี 2019 ขาดทุน 31,800 ล้านบาท
แต่บริษัทมี “กระแสเงินสด” จากการทำธุรกิจเป็นบวกอยู่
จึงยังสามารถขายรถยนต์ และขยายกิจการต่อไปได้ จนในที่สุดก็พลิกกลับมามีกำไรในปี 2020
โดยในช่วงก่อนหน้านั้น ที่ Tesla ยังขาดทุน ก็เพราะว่าบริษัทมีค่าใช้จ่ายทางบัญชี เช่น ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย เป็นมูลค่าที่สูงอยู่
เราจะเห็นได้ว่า กระแสเงินสดเป็นหัวใจสำคัญต่อทุกธุรกิจ
ดังนั้น วันนี้เราจะมาดูกันว่าธุรกิจอะไรกัน
ที่สามารถดึงกระแสเงินสดเก็บไว้ในบริษัทได้นาน ๆ
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
การที่บริษัทจะดึงกระแสเงินสดให้อยู่กับตัวเองได้นานนั้น มี 2 วิธี ก็คือ
- ขอจ่ายคู่ค้าช้าหน่อย
- ขอเงินลูกค้าไวขึ้น
วิธีแรก เรารู้จักกันในชื่อ “Credit Term”
หรือก็คือข้อตกลงระหว่างเรา กับผู้ขายวัตถุดิบให้เรา
ธุรกิจที่ใช้วิธีนี้ได้ มักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีอำนาจในการต่อรองสูง
เช่น บริษัทรถยนต์ก็จะมี Credit Term กับทางซัปพลายเออร์ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน
โดยการทำข้อตกลงกับซัปพลายเออร์ ให้ส่งสินค้าไปให้บริษัทใช้ก่อน และบริษัทจะจ่ายเงินค่าสินค้าให้ในภายหลัง ซึ่งระยะเวลาที่ให้เครดิตก็ขึ้นอยู่กับการทำสัญญาต่อกัน
วิธีนี้จะทำให้บริษัทเกิดหนี้ ในรูปแบบ “เจ้าหนี้การค้า”
เรียกได้ว่า เป็นหนี้ที่ไม่มีภาระดอกเบี้ยอะไรเลย
หนี้ประเภทนี้ จึงแทบไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อบริษัท
เมื่อบริษัทขอชะลอการจ่ายคู่ค้าได้แล้ว
อีกวิธีหนึ่ง คือ “การดึงเงินสดจากลูกค้า” เข้าสู่บริษัทให้เร็วขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ธุรกิจร้านกาแฟสตาร์บัคส์
การสร้างกระแสเงินสดของสตาร์บัคส์ จะเป็นการให้ลูกค้าเติมเงินเข้าไปในบัตรก่อน
เพื่อนำมาใช้ซื้อสินค้าในภายหลัง
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมสตาร์บัคส์ ชอบออกโปรโมชันกระตุ้นให้ลูกค้าเติมเงินทิ้งไว้ในบัตรก่อน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับสตาร์บัคส์นั่นเอง
รู้หรือไม่ว่า ในไตรมาสที่ผ่านมา
บริษัทสตาร์บัคส์ มียอดเงินสะสมในบัตรที่ลูกค้าเติมเงินทิ้งไว้ สูงถึง 6.4 หมื่นล้านบาท
ทำให้บริษัทสามารถนำเงินสดไปหมุนเวียนได้ก่อน โดยที่ไม่เสียดอกเบี้ยอะไรเลย แม้แต่บาทเดียว..
นอกจากนี้ สายการบินหลายแห่ง โดยเฉพาะกลุ่ม Low Cost ที่กำลังขาดสภาพคล่องในช่วงวิกฤติโควิด 19 ก็ใช้โมเดลธุรกิจในลักษณะเดียวกัน
นั่นคือการขายตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าให้กับลูกค้าในราคาถูก ซึ่งช่วยให้บริษัท สามารถนำเงินมาหมุนเวียนล่วงหน้าได้
ทำให้สายการบินหลายแห่ง แม้จะอยู่ในภาวะขาดทุน แต่ก็ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ จากกระแสเงินสดที่หมุนเวียนอยู่นั่นเอง
ทั้งนี้ ถ้าหากธุรกิจไหน สามารถที่จะทำได้ทั้งสองทาง ทั้งจ่ายคู่ค้าช้า และเก็บเงินลูกค้าได้ไว ก็จะยิ่งช่วยให้ธุรกิจ นำเงินที่มีไปลงทุนต่อยอดได้อีกมาก
โดยธุรกิจประเภทที่ว่านั้น มักจะเป็นบริษัทประเภทค้าปลีก
ที่ขายสินค้าให้กับคนทั่ว ๆ ไป เช่น CPALL เจ้าของร้าน 7-Eleven
โดย 7-Eleven นั้น จะให้ซัปพลายเออร์ หรือก็คือเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ นำสินค้ามาวางขายในร้านก่อน แต่จะยังไม่จ่ายค่าสินค้า
และเมื่อขายสินค้าให้กับลูกค้า
7-Eleven สามารถเก็บเงินสดจากลูกค้าได้ทันที ซึ่งทำให้ไม่ต้องกังวลว่าลูกหนี้จะเบี้ยว
จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ช่วยให้ 7-Eleven มีเงินสดและสภาพคล่องสำหรับการขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว
หากเรามาดูงบการเงินของ CPALL ก็จะเห็นว่า บริษัทมี Cash Cycle หรือก็คือรอบระยะเวลาที่บริษัทได้รับเงินจากลูกค้า เทียบกับรอบระยะเวลาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้การค้า ติดลบไม่น้อยกว่า 40 วันแทบทุกปี
หมายความว่า CPALL นำเงินที่ได้จากลูกค้า มาหมุนเวียนในกิจการได้ก่อน อย่างน้อย 40 วัน ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับซัปพลายเออร์
ปัจจุบัน เราก็น่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงร้านอาหารหรือสปาหลายแห่ง ที่มักให้ลูกค้าเติมเงินเข้าไปก่อน เช่น การขาย Gift Voucher ล่วงหน้าในราคาถูก เพื่อดึงกระแสเงินสดเข้าสู่กิจการ
แต่ก็ต้องระวังไว้ว่า บางธุรกิจที่ขายตั๋วล่วงหน้าในราคาถูกเกินไป ปัญหาก็อาจย้อนกลับมาในอนาคตได้เช่นกัน เหมือนกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับ ธุรกิจร้านอาหารบุฟเฟต์ หรือธุรกิจฟิตเนส ที่ขายตั๋วล่วงหน้าแล้วไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้ในภายหลัง
โดยทางเลือกในการบริหารเงินสด ก็มีตั้งแต่การนำเงินไปลงทุนต่อ ฝากธนาคาร ซื้อที่ดิน ซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทน เข้าซื้อกิจการ หรือแม้กระทั่งนำมาจ่ายเป็นเงินปันผล หรือซื้อหุ้นคืน เพื่อเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นก็ได้
นอกจากนี้ เงินสดยังเป็นเหมือนเกราะป้องกันในยามที่บริษัทประสบปัญหา
โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ยอดขายลดลง
บริษัทที่ผ่านวิกฤติมาได้ มักจะเป็นบริษัท ที่มีเงินสดมาประคับประคองธุรกิจ
ทั้งนี้การบริหารเงินสด ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจด้วย
การได้เงินสดเข้ามาก่อน เจ้าของธุรกิจก็ต้องรักษา หรือทำประโยชน์จากเงินสดนั้นให้ถูกทาง ซึ่งถ้าหากนำไปใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือย หรือไม่เกิดมูลค่าเพิ่ม มันก็จะนำไปสู่ปัญหาที่ตามมาในอนาคตได้ เพราะอย่าลืมว่า ธุรกิจยังมีภาระที่ต้องใช้คืนแก่ลูกค้าในอนาคต

และถ้าหากธุรกิจเกิดปัญหาสภาพคล่องขึ้นมา
ก็อาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อบริษัทเอง ซัปพลายเออร์ และลูกค้าได้เช่นกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://greedisgoods.com/credit-term-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD/
-https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/281-cash-cycle-for-business-liquidity
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/cpall/factsheet
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/lh/factsheet
-https://www.bangkokbiznews.com/business/1004749
-งบการเงิน บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ รีเทล จำกัด
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.