เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ ทำยังไงให้ หมื่นล้าน เหลือ 0

เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ ทำยังไงให้ หมื่นล้าน เหลือ 0

23 ม.ค. 2018
เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ ทำยังไงให้ หมื่นล้าน เหลือ 0 / โดย ลงทุนแมน
เรื่องนี้อ่านแล้วสนุก แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงๆกับชีวิตเราคงไม่สนุก
ชีวิตเราเกิดมามีเวลาไม่นาน เราไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกไปเสียทุกอย่าง
ในบางเรื่องเราสามารถทำความเข้าใจเหตุการณ์ในตอนนั้น
และนำข้อคิดมาปรับใช้ได้
เหมือนในเรื่องนี้..
ในโลกแห่งการเงิน เบนจามิน เกรแฮม หรือ วอร์เร็น บัฟเฟตต์
คงเป็นชื่อของตำนานนักลงทุนแนวพื้นฐาน
แต่ถ้าพูดถึงการลงทุนแนวเก็งกำไร จะต้องมีชื่อ เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ (Jesse Livermore)
ชีวิตของชายคนนี้เป็นอย่างไร ทำไมเขาถึงเป็นตำนาน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ลิเวอร์มอร์ ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นตำนานแห่งนักเก็งกำไรอย่างแท้จริง แนวคิดของเขาเป็นรากฐานของการเทรดหุ้นอย่างมีระบบแบบแผนในปัจจุบัน
ชีวิตของชายคนนี้ ไม่ธรรมดา เขาทำเงินได้มหาศาลจากตลาดหุ้น และเจ๊งจนหมดตัวอยู่หลายครั้ง เขาเคยทำกำไรได้ 100 ล้านเหรียญ แต่ก็สูญเสียมันไปในเวลาไม่นาน
ประวัติชีวิตที่ผันผวนของ ลิเวอร์มอร์ เป็นอย่างไร?
ลิเวอร์มอร์ เกิดในปี ค.ศ. 1877 ครอบครัวเป็นชาวไร่ มีฐานะยากจน เมื่ออายุ 14 ปี เขาหนีออกจากบ้าน เพราะต้องการเลือกเส้นทางเดินด้วยตัวเอง
และในที่สุด เขาก็ได้งานแรกของชีวิต นั่นคือ เด็กเคาะกระดานซื้อขายหุ้น
เมื่อเริ่มคุ้นเคยกับหุ้น เขาจึงอยากลองเทรดเองบ้าง โดยเข้าไปเก็งกำไรที่ห้องค้าเถื่อนที่ไม่มีการซื้อขายจริง เขาไม่มีพื้นฐานความรู้อะไร สิ่งที่เขาใช้คือ วิธีธรรมดาๆ สังเกตพฤติกรรมหุ้น จดบันทึกสถิติ ศึกษารูปแบบราคา คำนวณความน่าจะเป็น หาสัญญาณซื้อขาย ทำซ้ำไปซ้ำมาเหมือนทดลองวิทยาศาสตร์
จนได้หลักการที่มั่นใจ
เพียงแค่ 1 ปี เขาได้กำไร 1,000 เหรียญ ผ่านไป 5 ปี กำไรโตเป็น 10,000 เหรียญ จนห้องค้าเถื่อนขาดทุน ต้องห้ามไม่ให้เขาเล่นอีก จึงทำให้ ลิเวอร์มอร์ หันมาลงเล่นในสนามจริงที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก
ปี 1897 (อายุ 20) ลิเวอร์มอร์ เข้ามาเทรดที่ Wall Street ช่วงแรกเขาก็เป็นนักลงทุนรายย่อยทั่วๆไป มีได้กำไร มีขาดทุน มีหมดตัว แต่สิ่งที่เขาไม่เปลี่ยนแปลงคือการทำการบ้าน เขายังคงศึกษาพฤติกรรมของตลาดและตัวหุ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ปี 1907 (อายุ 30) เขาวิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นขึ้นมาสูงเกินไป ไม่สมเหตุสมผลกับสภาวะเศรษฐกิจและเงินทุน ตลาดน่าจะพลิกกลับมาเป็นขาลง จึงทำการ Short Sell และก็ประสบความสำเร็จ ตลาดร่วงเกือบ 50% เขาทำกำไรได้ 3 ล้านเหรียญ ยิ่งเขา Short ราคาหุ้นยิ่งลง จนสถาบันรายใหญ่อย่าง J.P. Morgan ต้องขอให้เขาหยุดขาย เพราะเกรงว่าจะเกิดวิกฤติสภาพคล่องของสถาบันการเงิน
ปี 1908 (อายุ 31) ลิเวอร์มอร์ กลับต้องหมดตัวอย่างรวดเร็ว เพราะไม่ทำตามที่วางแผนไว้ เขาเทรดสินค้าเกษตร โดยวิเคราะห์ว่า ราคาฝ้ายจะเป็นขาลง และราคาข้าวสาลีจะเป็นขาขึ้น
แต่สุดท้ายเขาไปเจอกับ Percy Thomas ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์ชื่อดัง และบอกเขาว่าราคาทั้งสองจะเป็นตรงข้ามกับที่เขาคิด เขาก็เชื่อ ทิ้งข้าวสาลีที่มีกำไรอยู่ หันไปซื้อฝ้ายอย่างเดียว ปรากฎว่าราคาร่วงไม่หยุด..
ปกติหากเล่นผิดทาง เขาจะยอมแพ้แต่เนิ่นๆ แต่ครั้งนี้ ลิเวอร์มอร์ ไม่ยอม Cut loss และซื้อถัวเฉลี่ยขาลงต่อไป สุดท้ายเขาก็สูญเสียเงินเกือบหมด
ปี 1918 (อายุ 41) แม้หมดตัวไป แต่เขายังมีชื่อเสียงอยู่บ้าง จึงมีเครดิตพอที่กู้เงินกลับมาลุยใหม่ ตอนแรกยังมีขาดทุน เพราะตลาดเป็นช่วง Sideway อยู่นาน จนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ตลาดหุ้นกลับมาเป็นขาขึ้น และเขาทำกำไรจากหุ้นเหล็กที่เป็นที่ต้องการมากในตอนนั้น จนปลดหนี้ และมีเงินระดับ 3 ล้านเหรียญอีกครั้ง
ปี 1929 (อายุ 52) ลิเวอร์มอร์ อยู่บนจุดสูงสุดของอาชีพ ในตอนนั้นเขาทำกำไรมาได้ต่อเนื่อง จากสภาพตลาดที่เป็นขาขึ้นหลายปี จนก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Great Depression) เขามองออกแล้วว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีพอที่จะหนุนตลาดหุ้นให้ขึ้นต่อได้ ตลาดน่าจะลงยาว ซึ่งเขาก็ไม่พลาดที่จะทำการ Short Sell เช่นเคย คราวนี้เขาทำเงินได้ถึง 100 ล้านเหรียญ
หากคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบัน เขาจะมีเงิน 1,430 ล้านเหรียญ หรือ 46,000 ล้านบาท ถ้าตอนนี้เขาอยู่ประเทศไทย จะเป็นมหาเศรษฐี 15 อันดับแรกของประเทศเลยทีเดียว
ณ จุดนี้ เขาใช้ชีวิตอย่างหรูหรา สามารถซื้อได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคฤหาสน์ รถหรู หรือเรือยอร์ช แต่ใช่ว่าจะซื้อความสุขได้..
เขาเผชิญกับปัญหาครอบครัว เขามีภรรยาหลายคน แต่ละคนใช้เงินฟุ่มเฟือย ลูกติดยาเสพติด ส่งผลให้ ลิเวอร์มอร์ เกิดความเครียด จนต่อมาเริ่มความจำเสื่อม สมองเสื่อม รวมทั้งกลายเป็นโรคซึมเศร้า
ปี 1934 (อายุ 57) และแล้วชีวิตที่ร่ำรวยของเขา ได้ผ่านไปราวกับความฝัน ไม่กี่ปี กำไรมหาศาลของเขาก็หมดลง เชื่อกันว่าด้วยสภาพจิตใจและอาการป่วย ทำให้เขาไม่สามารถวิเคราะห์ได้เฉียบขาดเหมือนเคย เขาทำผิดพลาดอีก โดยการที่ไม่ยอมตัดขาดทุนเมื่อเล่นผิดทาง สุดท้ายต้องสูญเงินทั้งหมด
ปี 1940 (อายุ 63) ลิเวอร์มอร์ ตัดสินใจจบชีวิตตนเอง ด้วยการยิงตัวตายที่โรงแรม โดยทิ้งข้อความสุดท้ายให้กับภรรยาว่า เขาคือความล้มเหลว..
เราสามารถเรียนรู้อะไรจากชีวิตของเขาได้บ้าง?
สิ่งที่ ลิเวอร์มอร์ แสดงให้เห็นในด้านบวกคือ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรในชีวิต ทุกคนไม่ได้เก่งมาแต่เกิด ตัวเขาไม่ได้มีความรู้อะไรมากมาย แต่ใช้พรแสวงในการศึกษาหาความรู้ ทุ่มเททำการบ้านอย่างหนักเป็นเวลาหลายปี ลองผิดลองถูก จนมีความเชี่ยวชาญในแนวทางที่ตัวเองถนัด
การวางแผนที่ดี มีวินัย ทำให้เรามีแต้มต่อในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น เราจะรู้ตัวว่าควรทำอย่างไร แก้ไขอย่างไร
แต่ว่า ลิเวอร์มอร์ ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอีกเช่นกันว่า การใช้ความรู้เพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้ความสำเร็จนั้นอยู่ยั่งยืนได้ การฝึกจิตใจ ควบคุมอารมณ์ ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน
แม้แต่ตัว ลิเวอร์มอร์ เองก็ยอมรับว่า จุดอ่อนของเขา คือไม่สามารถ อดใจ ที่จะไม่ฝ่าฝืนกฎการเทรดหุ้นที่ตัวเองตั้งเอาไว้ได้ เขาต้องสูญเสียเงินอยู่หลายครั้ง เพราะไม่ทำตามระบบที่วางไว้ ไม่ยอมตัดขาดทุน เชื่อคนอื่นบ้าง ดื้อรั้นบ้าง จนเขาได้เข้าใจว่า ในความคิดของนักเก็งกำไร ไม่ควรมีความคาดหวังอยู่ ถ้าหากลงทุนสวนทางกับตลาด ตัวเราเองที่เป็นฝ่ายผิด ตลาดไม่เคยผิด
ในที่สุด ตอนจบของเรื่องนี้ คุณลิเวอร์มอร์ ที่ดูเก่งกาจกลับกลายเป็นแพ้ความโศกเศร้าของตัวเอง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เราไม่น่าจะเลียนแบบ
ในชีวิตเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีขึ้นมีลง เหมือนราคาหุ้น
วันที่ทุกอย่างดูดี ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะสวยงามไปตลอด
ในขณะเดียวกัน
ในวันที่ทุกอย่างดูเลวร้าย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นจุดจบของชีวิต
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่เรารู้สึกว่าโหดร้าย จริงๆแล้วมันอาจจะไม่ได้อยู่ที่ภายนอก
แต่อยู่ที่จิตใจของเราเอง
ถ้าเราทำความเข้าใจตัวเราเองได้ ทุกอย่างที่แย่ๆ ในที่สุดเราก็จะผ่านมันไป
นี่เป็นอีกครั้ง และครั้งสุดท้าย
ที่คุณลิเวอร์มอร์ไม่ทำตามแนวคิดที่ตัวเองได้เคยบอกไว้..
“ศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์เรา คือความเป็นมนุษย์ในตัวเราเอง” - Jesse Livermore
----------------------
ถ้าชอบเรื่องแบบนี้ ให้ติดตามได้ที่แอปพลิเคชั่น ลงทุนแมน
ลงทุนแมนมี "แอป" แล้ว โหลดฟรีที่ longtunman.com/app
ทั้ง iOS และ android
ติดตามซีรีส์บทความ civilization ตอนใหม่ exclusive เฉพาะในแอป เร็วๆนี้
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.