สรุปเรื่องก๊าซธรรมชาติ ที่คนธรรมดาอ่านรู้เรื่อง

6 ม.ค. 2018
สรุปเรื่องก๊าซธรรมชาติ ที่คนธรรมดาอ่านรู้เรื่อง / โดย ลงทุนแมน
โพสที่ได้รับความนิยมที่สุดในช่วงนี้ของลงทุนแมน คือ BNK48
แต่ถ้าถามว่าลงทุนแมนอยากให้คนไทยอ่านโพสไหนมากที่สุด
ก็คงจะเป็นบทความนี้
เพราะมันเกี่ยวกับคนไทยทุกคนจริงๆ
แต่มีน้อยคนที่จะรู้เรื่องนี้
ถ้าถามลงทุนแมนว่าอะไรเป็นหัวใจหลักของประเทศไทย
หนึ่งในคำตอบนั้น คือ ทรัพยากรพลังงาน
ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อน ดังนั้นหากใครมีแหล่งพลังงานในมือมาก ย่อมมีโอกาสในการพัฒนาประเทศมาก หากนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ประเทศไทยเรา จะไม่ได้มีแหล่งน้ำมันเยอะ แต่รู้หรือไม่ว่า เราโชคดีที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย พลังงานนี้ช่วยสร้างความมั่นคง มั่งคั่งให้กับประเทศ มานานเกือบ 40 ปี
ความเป็นมาก๊าซธรรมชาติประเทศไทยเป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในอดีต ประเทศไทยไทยต้องพึ่งพาพลังงานในรูปแบบของน้ำมัน จากการค้าขายกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ
แต่ช่วงปี พ.ศ. 2520 มีการสำรวจค้นพบว่า อ่าวไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ ในปริมาณมาก คุ้มค่าพอที่จะลงทุนในเชิงพาณิชย์ได้ จึงมีการตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทยขึ้นมาดูแล เป้าหมายเพื่อให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 มีการจัดตั้ง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ขึ้นเพื่อเป็นรัฐวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปิโตรเลียมของประเทศ จึงได้มีการโอนกิจการ เช่น โรงกลั่น และ องค์การก๊าซธรรมชาติ ไปเป็นของ ปตท.
ในการสำรวจและผลิตก๊าซในอ่าวไทย ได้มีการให้สิทธิ์ในรูปแบบของสัมปทาน ปัจจุบัน มีบริษัทเข้ามาลงทุนมากมาย แต่ผู้เล่นรายใหญ่คือ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และ Chevron โดย มี ปตท. (PTT) เป็นผู้รับซื้อก๊าซ เพื่อนำมาขายให้ลูกค้าภายในประเทศต่อไป
ก๊าซธรรมชาติถูกนำมาใช้ประโยชน์ในแทบจะทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ เนื่องจากสะอาด และคุณภาพดี กว่าพลังงานชนิดอื่นๆ โดยปัจจุบันมีการนำไปใช้ดังนี้
58% ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
15% ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม
7% ใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง (NGV)
21% ถูกนำไปแยกสารประกอบชนิดต่างๆ โดยโรงแยกก๊าซ ปตท. ซึ่งได้ออกมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการผลิตของภาคปิโตรเคมี หรือ ได้ก๊าซ LPG ไปใช้ในภาคครัวเรือนหรือขนส่ง
จะเห็นได้ว่า เกินกว่าครึ่ง ถูกนำใช้ในการผลิตไฟฟ้า ให้ประชาชน ได้มีไฟฟ้าใช้ อีกส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ในธุรกิจปิโตรเคมี ผลิตเป็นของใช้ต่างๆในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ พลาสติก วัสดุก่อสร้าง เรียกได้ว่า เครื่องใช้รอบตัวเราทั้งหลาย ล้วนมีรากฐานมาจากก๊าซธรรมชาติทั้งนั้น
ทำให้ธุรกิจก๊าซธรรมชาตินั้น ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของ ปตท. ในปี 2559 มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
ปตท. มีรายได้ 1.7 ล้านล้านบาท มาจากธุรกิจก๊าซ 4.6 แสนล้านบาท (27%)
มีกำไรจากการดำเนินงาน 1.8 แสนล้านบาท มาจากธุรกิจก๊าซ 5.4 หมื่นล้านบาท (29%)
ตอนนี้ ปตท. เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าบริษัท 1.3 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าอันดับสอง AOT ที่ 1 ล้านล้านบาท และ อันดับสาม CPALL ที่ 7 แสนล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ หากเทียบกับบริษัทอื่นในตลาดหลักทรัพย์ ไม่นับรวม ปตท. ธุรกิจก๊าซของ ปตท. จะมีรายได้ใหญ่เป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่ CPF
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ก็นึกในใจว่ากิจการแบบนี้เอาเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ทำไม กิจการนี้ควรเป็นของรัฐ
บริษัท ปตท. ตอนนี้ยังถือหุ้นใหญ่โดยกระทรวงการคลัง 51% และยังถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศไทย การที่รัฐถือหุ้นน้อยลงครึ่งหนึ่ง แต่ตัวบริษัทหลังระดมทุนใหญ่เกินสองเท่า สุดท้ายแล้วก็อาจเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ทั้งตัวรัฐ และ ผู้มาลงทุน
ก็ไม่รู้ว่า ถ้า ปตท. ยังถือหุ้นโดยรัฐ 100% ประสิทธิภาพการดำเนินกิจการของบริษัทจะเป็นเหมือนทุกวันนี้หรือไม่ อาจจะไม่เกี่ยวกัน แต่พอเรื่องมาเป็นอย่างนี้แล้ว เวลาก็คงย้อนกลับไม่ได้ ตอนนี้ ปตท. เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว
ในปี 2559 ปตท. จัดหาก๊าซธรรมชาติได้ในปริมาณ 4,762 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ถือเป็นประเทศที่ใช้ก๊าซสูงเป็นอันดับ 13 ของโลก โดยมีสัดส่วนดังนี้
73% ซื้อจากผู้ผลิตในอ่าวไทย (และบนบกอีกเล็กน้อย) ราคาเฉลี่ย 195 บาท/ล้านบีทียู (ก๊าซ จะซื้อขายกันที่ค่าความร้อน เรียกว่า บีทียู)
18% นำเข้าผ่านทางท่อจากประเทศเมียนมา ราคาเฉลี่ย 210 บาท/ล้านบีทียู
9% นำเข้าผ่านทางเรือจากต่างประเทศ ราคาเฉลี่ย 275 บาท/ล้านบีทียู
แปลว่าตอนนี้เราไม่ได้ใช้ก๊าซจากอ่าวไทย เพียงอย่างเดียว..
ที่น่าสนใจคือ มีก๊าซส่วนหนึ่งที่นำเข้ามาทางเรือจากต่างประเทศ ก๊าซนี้ต้องมีการแปลงสภาพให้เป็นของเหลว เพื่อความสะดวกในการขนส่งและเก็บรักษา ก่อนจะเปลี่ยนกลับเมื่อถึงที่หมาย เราเรียกก๊าซชนิดนี้ว่า Liquefied Natural Gas หรือ LNG
ซึ่งโดยส่วนมาก LNG จะมีต้นทุนที่สูงกว่า เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และแปลงสภาพ
อย่างไรก็ตาม ก๊าซในอ่าวไทย เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สักวันหนึ่ง ก็ต้องหมดไป รวมถึงสัญญาซื้อขายก๊าซกับเมียนมา ก็จะทยอยหมดไปตั้งแต่ปี 2565 ดังนั้นในอนาคต ไทยจึงจะต้องนำเข้า LNG มากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงต้นทุนราคาก๊าซของประเทศก็จะสูงขึ้นไปโดยปริยาย
ตามแผนบริหารจัดการก๊าซ ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่มาของก๊าซจะมีสัดส่วนดังนี้
29% ซื้อจากผู้ผลิตในประเทศ
71% นำเข้า LNG จากต่างประเทศ
สัดส่วนสวนทางกับปัจจุบัน หน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งจริงๆแผนเดิมก่อนหน้านี้ ก๊าซจะหมดอ่าว ในปี 2577 แต่กระทรวงพลังงานพยายามบริหารจัดการ ให้รักษาระดับการผลิตได้ยาวนานขึ้น
หากก๊าซแพงขึ้น จะกระทบกับตัวเราอย่างไร?
การผลิตไฟฟ้าของประเทศนั้น พึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก โดยเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันมีสัดส่วนดังนี้
64% ก๊าซธรรมชาติ
20% ถ่านหิน และลิกไนต์
9% พลังงานน้ำ
7% พลังงานหมุนเวียน
ดังนั้น หากต้นทุนราคาก๊าซสูงขึ้น ค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายกันทุกเดือนย่อมแพงขึ้น
นอกจากนี้ต้นทุนในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และปิโตรเคมี ก็จะสูงขึ้นเช่นกัน (ต้องนำเข้าวัตถุตั้งต้นอื่นเอง) ทำให้สินค้าต่างๆอาจมีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพโดยรวมสูงขึ้น
สุดท้ายความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจประเทศอาจจะลดลง
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้วางแผนที่จะลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว โดยมุ่งลดสัดส่วนของก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจาก 64% ไปเหลือ 37% ใน 20 ปีข้างหน้า และเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็น 18% แทน
ถ้าหากว่า ประเทศไทย เป็นเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง
ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ก็เป็นเหมือนแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในร่างกายตั้งแต่กำเนิด คอยเลี้ยงร่างกาย ให้สามารถไปแข่งขันกับคนอื่นได้
แต่ทว่า ในอีกไม่นาน พลังงานเหล่านั้นกำลังจะหมดไป เราต้องไปซื้อพลังงานจากคนอื่นมาใช้ ซึ่งอาจจะต้องเสียความได้เปรียบในการแข่งขันไปบ้าง
ดังนั้นมนุษย์คนนี้ คงต้องมีการปรับตัว ใช้พลังงานให้คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และฝึกฝนพัฒนาความสามารถ เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านอื่นมาทดแทน
ไม่เช่นนั้น มนุษย์คนนี้ก็คงจะสู้กับมนุษย์อื่นได้ลำบาก..
----------------------
<ad> ลองมาทำความรู้จักกับการลงทุนแบบใหม่โดยไม่ใช้มนุษย์ MARTY กองทุนเปิด AI จาก Think Algo จุดเด่นของกองทุนนี้คือการวิเคราะห์สถิติจาก BIG DATA ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.think-algo.com/ทำความรู้จักกับ-marty-กองทุน/
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.