ทำไมแบรนด์รถยนต์อังกฤษ กลับมีเจ้าของเป็นบริษัทต่างชาติ

ทำไมแบรนด์รถยนต์อังกฤษ กลับมีเจ้าของเป็นบริษัทต่างชาติ

ทำไมแบรนด์รถยนต์อังกฤษ กลับมีเจ้าของเป็นบริษัทต่างชาติ /โดย ลงทุนแมน
Rolls-Royce, Bentley, MINI, Land Rover และ Jaguar
แบรนด์รถยนต์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แม้จะมีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ
แต่ปัจจุบัน กลับถูกซื้อกิจการและถูกบริหารโดยบริษัทต่างชาติทั้งหมด
Rolls-Royce และ MINI อยู่กับ BMW จากเยอรมนี
Bentley อยู่กับ Volkswagen Group จากเยอรมนี
Land Rover และ Jaguar อยู่กับ Tata Motors จากอินเดีย
และอีกหลาย ๆ แบรนด์ ก็ได้ถูกซื้อกิจการ กระจัดกระจายออกไปนอกประเทศอังกฤษ

แล้วมันเป็นเพราะอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในช่วงภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง
หลายประเทศก็ได้เข้าสู่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ
การบริโภครวมถึงความต้องการรถยนต์ จึงได้ปรับตัวสูงขึ้น

ด้วยความที่ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์โลก ทั้งในยุโรปและญี่ปุ่น ได้รับความเสียหายจากสงครามเป็นอย่างมาก

แต่ประเทศอังกฤษได้รับผลกระทบน้อยกว่า จึงได้อาศัยโอกาสนี้ ในการไต่ระดับขึ้นมา จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับต้น ๆ ของโลกได้สำเร็จ

ในช่วงปี 1950 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุครุ่งเรืองในอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศอังกฤษ และก็ได้กลายเป็นเสาหลัก ที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโต

โดย ณ ตอนนั้น ประเทศอังกฤษ

- ครองส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์ ราวครึ่งหนึ่งของการส่งออกรถยนต์ทั่วโลก
- ธุรกิจรถยนต์มีการจ้างงาน คิดเป็นราว 5% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศ

แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี เรื่องราวสวยหรูที่เล่ามานั้น กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน

เพราะเมื่อเศรษฐกิจในประเทศคู่แข่งเริ่มฟื้นตัว โรงงานผลิตรถยนต์ในหลายประเทศ จึงสามารถกลับมาเร่งการผลิตได้อีกครั้ง

ประกอบกับการผลิตรถยนต์ของอังกฤษ ยังคงเน้นการจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก
ในการผลิตเป็นหลัก รวมถึงการที่แต่ละบริษัทรถยนต์ นิยมออกโมเดลเยอะจนเกินไป

ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อคัน และต้นทุนด้านอะไหล่ชิ้นส่วน สูงกว่าคู่แข่งจากต่างประเทศรายอื่น
ในเวลาต่อมา ประเทศอังกฤษจึงได้เริ่มสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลกลง

ซึ่งในแง่ของการแข่งขันภายในประเทศเองนั้น อังกฤษถูกคู่แข่งจากต่างประเทศ เริ่มเข้ามาทำการตลาดมากขึ้น ยิ่งทำให้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ของอังกฤษย่ำแย่ลงไปอีก

โดยบริษัทรถยนต์ของประเทศอังกฤษเอง ก็ไม่สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทัน
ทั้งหมดนี้เอง ทำให้แบรนด์รถยนต์สัญชาติอังกฤษหลาย ๆ แบรนด์ เริ่มขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
นำไปสู่ปัญหาด้านสถานะทางการเงินตามมาในที่สุด

พอเป็นแบบนี้ ฝั่งรัฐบาลอังกฤษก็พยายามเข้ามาอุ้มแบรนด์รถยนต์ในประเทศเอาไว้ ด้วยการนำแบรนด์รถยนต์ในประเทศ เข้ามาอยู่ในเครือเดียวกัน ภายใต้บริษัท ชื่อว่า “British Motor Corporation” หรือ BMC

เริ่มต้นจากการควบรวมของบริษัท Austin Motor Company และบริษัท Morris Motors
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า Morris Motors เป็นต้นกำเนิด แบรนด์รถยนต์ MG ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

ต่อมา บริษัท BMC ทำการควบรวมกับบริษัท Jaguar Cars
ภายหลังจากทำการควบรวม ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น British Motor Holdings Limited หรือ BMH

และในปี 1968 บริษัท BMH ทำการควบรวมอีกครั้ง กับบริษัท Leyland Motor Corporation
หลังจากการควบรวม ได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น British Leyland Motor Corporation หรือ BLMC

BLMC ได้กลายมาเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ
โดยเป็นเจ้าของแบรนด์ที่เราน่าจะรู้จัก เช่น Triumph, MG, Rover และ MINI
และก็ได้ทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้ง เป็น British Leyland หรือ BL ในปี 1975

BL ได้ทำการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของบริษัท โดยมีการขายบริษัทย่อยบางแห่งออกไป และได้ทำการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Rover Group แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้แบรนด์รถยนต์จากอังกฤษ รอดพ้นจากปัญหาทางการเงินได้อยู่ดี

สุดท้าย รัฐบาลอังกฤษจึงต้องขอยอมแพ้ และตัดสินใจขายกิจการ Rover Group ให้กับทาง British Aerospace บริษัทผลิตอากาศยาน

จนมาในปี 1994 BMW Group บริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมัน ได้ทำการเข้าซื้อ Rover Group ด้วยมูลค่า 800 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาครอบงำแบรนด์รถยนต์สัญชาติอังกฤษ จากกลุ่มทุนต่างชาติ

ก่อนที่อีกหลาย ๆ แบรนด์จะถูกซื้อกิจการตามมาในภายหลัง ถือเป็นการปิดฉาก
ที่ครั้งหนึ่งประเทศอังกฤษ เคยเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

แล้วปัจจุบัน แบรนด์รถยนต์สัญชาติอังกฤษ ตกไปอยู่ในมือของใครกันบ้าง ?
Rolls-Royce และ MINI อยู่กับ BMW จากเยอรมนี
Bentley อยู่กับ Volkswagen Group จากเยอรมนี
Land Rover และ Jaguar อยู่กับ Tata Motors จากอินเดีย
Lotus อยู่กับ Geely จากจีน
Vauxhall อยู่กับ Stellantis บริษัทที่ควบรวมกันระหว่าง Fiat อิตาลี และ PSA จากฝรั่งเศส
แม้แต่ Aston Martin เอง ก็มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น Lawrence Stroll นักธุรกิจชาวแคนาดา..
ถ้าให้สรุปว่าทำไมธุรกิจรถยนต์สัญชาติอังกฤษถึงล้มเหลว เหตุผลสำคัญก็เพราะการผลิตรถยนต์ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ประเทศอังกฤษได้เปรียบ ซึ่งบริษัทรถยนต์ในประเทศ ไม่สามารถบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตแข่งกับคู่แข่งจากต่างประเทศได้
แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเข้ามาช่วยเหลือแล้วแต่ก็ไม่ไหว ทำให้ต้องขายกิจการให้ต่างชาติ
จนทุกวันนี้ แบรนด์รถยนต์สัญชาติอังกฤษที่เราคุ้นเคยกันดี ไม่ได้มีเจ้าของเป็นชาวอังกฤษอีกต่อไป..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
- https://www.cbsnews.com/news/how-the-uk-lost-its-car-manufacturing-industry/
- https://www.bbc.com/news/business-27414830
- https://autowise.com/history-british-automotive-industry/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon